เริ่มจากการเตรียมเปิด “ดิ เอ็มสเฟียร์” ศูนย์การค้าแห่งอนาคตที่ไม่หลับใหล (Sleepless Metropolis) เป็นรีเทล เอนเตอร์เทนเมนต์ ขนาดพื้นที่ 200,000 ตารางเมตร มูลค่า 20,000 ล้านบาท เป็นศูนย์ที่สามที่จะมาเติมเต็มให้ “ดิ เอ็มดิสทริค” ย่านสุขุมวิทให้เป็นย่านการค้าระดับโลก มีกำหนดการเปิดวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้
ตามด้วยเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ และบางแค ที่อัปเกรดจากศูนย์เดิมมาเป็นเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์สู่การเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คนโฉมใหม่ด้วย 2 ศูนย์ขนาดใหญ่บนเนื้อที่รวมกันกว่า 700,000 ตารางเมตร มูลค่ารวมกันถึง 30,000 ล้านบาท บนความมหัศจรรย์ มหาศาลที่มหานครแห่งใหม่ (Capital of Life Wonders) ผ่านความมหัศจรรย์ 2 มุมเมือง
เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ ทำเลสำคัญในกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกเตรียมเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ส่วนเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค ย่านเพชรเกษม-บางแค ทำเลสำคัญฝั่งตะวันตก จะเผยโฉมเต็มรูปแบบช่วงต้นปี 2567 ทั้งสองศูนย์ พร้อมทุ่มงบการตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท เพียงแค่ระยะปลายปีถึงมกราคมปีหน้าเพื่อเฉลิมฉลองสุดยิ่งใหญ่ พร้อมปลุกกำลังซื้อ สร้างบรรยากาศให้ย่านการค้าทุกมุมเมือง
น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทั้งสองศูนย์ได้อัปเกรดจากการทรานฟอร์มแบรนด์จากเดอะมอลล์ มาสู่การเป็นเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ซึ่งพิสูจน์ความสำเร็จมาจาก เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน จนเป็นที่ประทับใจของกลุ่มลูกค้าในย่านทำเลนั้น
แต่ทั้งสองศูนย์นี้จะยกเดอะมอลล์กรุ๊ปขึ้นไปอีกระดับด้วยเนื้อที่ขนาดใหญ่กว่ามาก โดยบางกะปิกลายเป็นทำเลเมืองที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่านหลายสาย รวมไปถึงการขนส่งทางเรือ ขณะที่บางแคก็มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินผ่าน จากในอดีตผู้อาศัยทั้งสองทำเลที่อยู่ในระดับล่างขึ้นมากลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อระดับกลางไปถึงสูง
“การอัปเกรดทั้งสองศูนย์จึงยึดหลักของ Customer Journey เส้นทางของผู้บริโภคว่ามีความต้องการอะไรเป็นตัวตั้ง และเก็บข้อมูลสรรหามาให้ตรงทุกไลฟ์สไตล์ความต้องการ ไม่ใช่เอาธุรกิจหรือผลกำไรเป็นโจทย์หลักว่าบางธุรกิจหรือสินค้าบางประเภทต้องผูกขาดขายเอง อะไรที่ผู้บริโภคต้องการต้องเอามาสนองความต้องการให้หมด” น.ส.วรลักษณ์กล่าว
เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ จึงเกิดขึ้น 5 ประเด็นหลักคือ
1.ร้านค้าแบรนด์ญี่ปุ่นยกขบวนมาครบครัน อาทิ DON DON DONKI, NITORI, MUJI Cafe และ UNIQLO เป็นต้น ในสัดส่วนถึง 25% รองรับไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในย่านนี้
2.ร้านอาหารประเภทไดนิ่งเกือบ 80 ร้านอาหารชั้นนำชื่อดังครบครัน อาทิ ร้าน Shake Shack สาขา 3 เต่าบินคาเฟ่ ป๊อปอัป ไอศกรีมสเวนเซ่นรูปแบบใหม่
3.ความบันเทิงจัดเต็มทั้งโรงภาพยนตร์ IMAX จอเลเซอร์ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขนาด 16 โรง รวมไปถึงฮาร์เบอร์แลนด์ อควาเวิลด์ เครื่องเล่นนานาชนิดทั้งในร่มและสวนน้ำขนาดเนื้อที่ 1.1 หมื่นตาราง เสริมจุดแข็ง ความเป็นสวนน้ำเดิมรองรับกลุ่มครอบครัว เกมโซน Joliday
4.รวบรวมสุดยอดแบรนด์แฟชั่นและบิวตี้ รวมไปถึงร้านสปอร์ตแฟชั่นครบครัน
5.การตกแต่งบรรยากาศร่มรื่น ธรรมชาติ สวน น้ำตก นก ปลา ตามสไตล์ของเดอะมอลล์
รวมเบ็ดเสร็จกว่า 500 ร้านค้า กว่า 2,000 แบรนด์ครบครัน ทุกกลุ่มเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายของทั้งสองศูนย์จะดึงทราฟฟิกเข้ามา 50 ล้านคน แบ่งเป็นบางกะปิ 28–30 ล้านคน ที่เหลือเป็นบางแค โดยจะมีการจัดอีเวนต์กว่า 600 อีเวนต์และกิจกรรมตลอดทั้งปี
“เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์บางกะปิ จะเป็นย่านสยามสแควร์แห่งใหม่ จากสกายวอล์กที่ทางกรุงเทพมหานครได้ลงทุนสร้างพาดยาวจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาถึงเอ็มอาร์ทีสถานีบางกะปิ กลุ่มลูกค้าจะส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ซึ่งชอบทำการบ้าน อ่านหนังสือในร้านกาแฟ ที่นี่จึงมีร้านกาแฟดีๆให้นั่งมากกว่า 20 ร้าน” น.ส.วรลักษณ์ กล่าว
สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการอัปเกรดศูนย์ใหม่หมดแล้ว ยังอัปเกรดการเข้าถึงตัวผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแต่อย่างใดหรือมีปัญหากับดักหนี้ครัวเรือน เสริมกลุ่มผู้บริโภคเดิมๆ
เดอะมอลล์ บางกะปิ–บางแค ในอดีตที่ปักหมุดสร้างย่านการค้าฝั่งกรุงเทพฯตะวันออกและตะวันตกจะยกระดับสู่การเป็นฮับของการใช้ชีวิตของผู้บริโภคได้ตลอดทั้งวัน สุดอลังการครบครันทุกสิ่งที่ต้องการ กับแนวคิด “A Happy Place to Live Life : ชีวิตที่มีความสุขทุกครอบครัว” ได้ลงตัว.
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่