คงแพ็กเกจราคาต่ำสุด 5 ปี เคาะมาตรการลดผลกระทบ AIS ซื้อ 3BB

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คงแพ็กเกจราคาต่ำสุด 5 ปี เคาะมาตรการลดผลกระทบ AIS ซื้อ 3BB

Date Time: 13 พ.ย. 2566 05:18 น.

Summary

  • บอร์ด กสทช.เสียงข้างมาก 4 เสียง เคาะมาตรการลดผลกระทบ กรณีเอไอเอสซื้อ 3BB ยึดกรอบแนวทางเดียวกับทรู-ดีแทค จะได้ไม่เหลื่อมล้ำ รายงานพบทั้งเอไอเอสและ 3BB ได้ประโยชน์ลดลงทุนซ้ำซ้อน เป็นมูลค่า 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี จึงให้เอาเงินที่ประหยัดได้ไปลงทุนพื้นที่ห่างไกล และให้คงแพ็กเกจราคาต่ำที่สุดเอาไว้ 5 ปี

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีมติเสียงข้างมาก 4 เสียง อนุญาตการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) หรือ 3BB ของบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอสไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 แล้วนั้น

ที่ประชุมยังได้พิจารณากำหนดมาตรการรองรับผลกระทบของการเข้าซื้อกิจการที่อาจมีต่อผู้บริโภคและตลาดอินเตอร์เน็ตประจำตามบ้าน (fixed broadband) เนื่องจากแม้พิจารณาว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะกระทบต่อการแข่งขันในตลาดอินเตอร์เน็ตบ้าน และราคาไม่รุนแรงนัก เพราะมีบริการทดแทนกันได้ โดยที่ประชุมเน้นย้ำว่ามาตรการรองรับผลกระทบกรณีเอไอเอส-3BB จะต้องเป็นแนวทางเดียวกับกรณีทรูควบรวมดีแทค เพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำ

น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวว่า มาตรการรองรับผลกระทบมีผลบังคับใช้ทันทีนับจากวันที่บอร์ด กสทช.อนุญาตให้มีการเข้าซื้อกิจการ โดยมาตรการด้านราคาได้มีการกำหนดมาตรการเฉพาะ ห้ามขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็กเกจราคาต่ำสุดที่เสนอขายก่อนการเข้าซื้อกิจการเป็นเวลา 5ปี รวมทั้งให้มีทางเลือกของราคาที่แยกบริการ (Unbundling) ด้วย

รวมทั้งกำหนดให้มีอนุกรรมการทำหน้าที่เป็น merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี โดยมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพ โทรคมนาคม เป็นการถอดบทเรียนจากกรณีทรูควบรวมดีแทค ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม

นอกจากนั้นยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่าย ลดเงื่อนไขการให้บริการให้สามารถเข้ามาใช้โครงข่ายของ AWN และ 3BB ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในพื้นที่เฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศ

น.ส.พิรงรอง กล่าวอีกว่า กสทช.ยังพบว่ามีข้อมูลที่สอดคล้องกันของรายงานการศึกษาจากหลายแหล่งที่ว่าจ้างมาศึกษากรณีนี้ ที่เห็นตรงกันว่าการเข้าซื้อ 3BB ของเอไอเอสจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นต่อตลาดจากรายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associates Ltd.) พบว่าดีลนี้จะทำให้ทั้งเอไอเอสและ 3BB ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน นำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น (Efficiency Gain) มูลค่าสูงสุดได้ถึง 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง5ปี บอร์ดจึงกำหนดให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนในโครงข่าย Fixed Broadband Access ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งพื้นที่ต้องไม่ซ้ำกับโครงการที่ กสทช.ทำอยู่ ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สุทธิ (Net Benefit) ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 88,690 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี คิดเป็น 0.18-0.49 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP)

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลโดยสำนักงาน กสทช. จำนวน 6,486 ตัวอย่าง พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 3 รายเท่านั้น ที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านเพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ใช้บริการโมบายอินเตอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวมีจำนวน 642 ราย หรือ 10% ขณะที่ผู้ใช้ทั้งเน็ตบ้านและโมบาย มีจำนวน 5,730 ราย หรือ 90% ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีเอไอเอสซื้อ 3BB จึงมีน้อย เพราะสามารถแทนที่ด้วยบริการโมบายได้

ส่วนในแง่ของการแข่งขัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 13 ล้านราย ภายหลังการรวมธุรกิจจะมีจำนวนผู้ประกอบการลดลงจาก 4 รายใหญ่เหลือ 3 รายใหญ่ ซึ่งตลาดยังมีบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เป็นผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 16% และมีความเป็นไปได้ต่ำ ที่จะร่วมมือกับอีกสองรายใหญ่ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงยังสร้างความกดดันในการแข่งขันได้.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ