ด้วยภารกิจส่งเบียร์ 2 ยี่ห้อ 5 รสชาติ “คาราบาว เบียร์” และ “ตะวันแดง เบียร์” ออกสู่ตลาดไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ผลตอบรับกระแส “เบียร์บาว” ก็ถือได้ว่าสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับตลาดเบียร์ไทยที่มีมูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาท ที่มีผู้เล่นหลักสองรายอย่าง “สิงห์ และช้าง” ผู้ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 95% ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทุ่มทุกสรรพกำลังครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี เปิดตัวเบียร์ 2 แบรนด์ คือ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” พร้อมบุกตลาดเบียร์ ซึ่งถือเป็นตลาดเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนถึง 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่จังหวัดชัยนาท ด้วยเทคโนโลยีการผลิตมาตรฐานโลก จากเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด มีกำลังการผลิตประมาณ 400 ล้านลิตร ช่วงแรกนำร่องการผลิตที่ 200 ล้านลิตร
นับเป็นการปูพรมการตลาดแบบครบวงจร เพื่อให้แบรนด์เข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคทั่วประเทศให้เร็วที่สุด ในด้านตำแหน่งทางการตลาด ทั้ง 2 แบรนด์จะลงเล่นในเซกเมนต์อีโคโนมี และสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของตลาดเบียร์มากกว่า 90% โดย “คาราบาว” วางในเซกเมนต์อีโคโนมีถึงสแตนดาร์ด ส่วน “ตะวันแดง” วางในเซกเมนต์สแตนดาร์ดถึงพรีเมียม โดยตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้เล่นหลัก 1 ใน 3 ของตลาดเบียร์
กลยุทธ์หลักในการรุกตลาด คือ มุ่งนำเสนอเบียร์คุณภาพระดับโลก ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับตลาด โดยนำประสบการณ์จากการดำเนินธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ไมโครบริวเวอรี่ มาให้ผู้บริโภคทั่วประเทศได้ลิ้มลอง โดยเบียร์ทั้ง 2 แบรนด์จะมีกลิ่น และรสชาติเหมือน หรือใกล้เคียงกับเบียร์ที่ขายที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ภายใต้มาตรฐาน German Beer Purity Law กฎการทำเบียร์เยอรมันที่มีวัตถุดิบจาก มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาด และถือเป็นการ “เซตมาตรฐานใหม่” ให้กับตลาดเบียร์ของไทยนับจากนี้
“ด้วยตลาดมีเพียงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่กี่แบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ในขณะที่มีผู้บริโภคจำนวนมากต้องการดื่มเบียร์คุณภาพระดับโลก แต่เบียร์เหล่านี้มักเป็นเบียร์นำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสเข้าถึงมีน้อย จึงถือเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสของกลุ่มคาราบาว ในการนำเสนอทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ และจะทำให้ก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลัก 1 ใน 3 ของตลาดเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ คุณภาพรวมไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก เพื่อปฏิรูปวงการเบียร์ของประเทศไทย”
โดย “กลุ่มคาราบาว” เปิดตัวสินค้าพร้อมกัน 5 รสชาติ ประกอบด้วย แบรนด์คาราบาว 2 รสชาติ ได้แก่ Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์) และ Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล) ขณะที่แบรนด์ตะวันแดง เปิดตัว 3 รสชาติ ประกอบด้วย Weizen Beer (เบียร์ไวเซ่น) Rose Beer (เบียร์โรเซ่) และ IPA Beer (เบียร์ไอพีเอ)
อย่างไรก็ตาม จากการมีผู้เล่นหลักในตลาดเบียร์ ซึ่งครองส่วนแบ่งกว่า 95% ถือเป็นความท้าทายของกลุ่มคาราบาว โดยกลยุทธ์หลักในช่วงแรกจะมุ่งเอ็ดดูเคทตลาดถึงมาตรฐานใหม่ของเบียร์ขั้วที่ 3 รวมทั้งยุทธศาสตร์การใช้ “บอล” นำ “เบียร์” ผ่านการต่อสัญญาเป็นผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันฟุตบอล Carabao Cup ต่อไปอีก 3 ปี กับ English Football League (EFL) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2024 ซึ่งจะทำให้คาราบาวเป็นสปอนเซอร์หลักฟุตบอล Carabao Cup ไปจนถึงปี 2027 ซึ่งจะทำให้เบียร์ของกลุ่มคาราบาวไปสู่ตลาดโลกได้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษและประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีร้านอาหารไทยจำนวนมากอันดับต้นๆ ของโลก
ส่วนอีกกลยุทธ์สำคัญคือ “ช่องทางการกระจายสินค้า” ได้แก่ ซีเจ มอร์ ที่มีถึง 1,000 สาขาทั่วประเทศ, ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มีร้านค้าอยู่มากกว่า 5,000 ร้านทั่วประเทศ และหน่วยรถในศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 31 แห่ง ที่สามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางของโมเดิร์นเทรด และเทรดดิชันนอลเทรด รวมทั้ง “ตัวแทนจำหน่ายระดับอำเภอทั่วประเทศ” เพื่อลดขั้นตอนการกระจายสินค้า ทำให้สินค้าสามารถเจาะเข้าถึงร้านค้าย่อยหรือโชห่วยทั่วประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบันตลาดเบียร์ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว การเข้ามาในตลาดของกลุ่มคาราบาวในครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้เห็น Movement ของตลาดที่เปลี่ยนไป จากมาตรฐานใหม่ของเบียร์ที่บริษัทกำลังจะสร้างขึ้น และมาพร้อมตัวเลือกที่หลากหลาย และจากมูลค่ารวมของตลาดแอลกอฮอล์ รวมกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น บริษัทตั้งเป้าว่า “เบียร์” จะเป็นหัวรถจักรที่สำคัญที่จะพาสินค้ากลุ่มแอลกอฮอล์ให้เติบโตไปด้วย พร้อมเป็นแกนนำให้ธุรกิจอื่นๆ ในเครือคาราบาวเติบโตมากขึ้นไปอีก.