มาม่า ยันตรึงราคา 7 บาท หวังช่วยผู้บริโภคให้มากที่สุด อัดงบ 2 พันล้าน ดันกำลังการผลิตเพิ่ม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

มาม่า ยันตรึงราคา 7 บาท หวังช่วยผู้บริโภคให้มากที่สุด อัดงบ 2 พันล้าน ดันกำลังการผลิตเพิ่ม

Date Time: 12 ต.ค. 2566 17:17 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • “มาม่า” ยันไม่ปรับราคาขึ้น แม้ต้นทุนยังคงสูง ค่าแรงขั้นต่ำมีแนวโน้มปรับขึ้น แย้มเตรียมทุ่มทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี อัดฉีดงบ 2,000 ล้าน สร้างโรงงานใหม่ หวังกำลังการผลิตรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ คาดรายได้ปี 66 โต 4% ส่วนปี 67 ตั้งเป้ารายได้โต 5-7%

Latest


"จากการที่กรมการค้าภายใน และผู้ประกอบการได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงสถานการณ์การบริโภค ทั้งเรื่องกำลังซื้อ และราคา ว่าสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี และมีแนวโน้มต้นทุนได้ดีหรือไม่ ซึ่งล่าสุดเป็นการขอความร่วมมือ ในช่วงนี้จนถึงช่วงสิ้นปีช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยมองว่าทำได้หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน" พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA กล่าว  

รวมทั้งยังกล่าวต่อไปว่า เพราะมาม่า 1 ซองต้นทุนไม่ได้อยู่แค่น้ำมัน แป้งสาลีเท่านั้น แต่ต้นทุนมาม่า 7 บาท มีทั้งต้นทุนผู้ผลิต ต้นทุนผู้จัดจำหน่าย การโฆษณา การวางขาย และห้าง เพียงแต่มากน้อยหรือยาวนานขนาดไหนก็อยู่ที่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน 

จึง “ยืนยันไม่ปรับราคาขึ้น” ส่วนปีหน้ากำลังการซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น จากนโยบายรัฐบาล บวกกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นก็ตาม มาม่าจึงมีแผนที่จะปรับตัว โดยการบุกหนักตลาดต่างประเทศ และลงทุนโรงงานใหม่ 

“การเพิ่มรายได้ประชาชน การทำให้ราคาสินค้าขึ้นช้ากว่ารายได้ของประชาชน หรือไม่ขึ้นเลย มันเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน แต่ยังมีหลายๆ กิจการที่เลี่ยงไม่ได้อย่างร้านอาหารที่ใช้ค่าแรงคนเป็นหลัก รัฐบาลจะต้องบาลานซ์ ให้ดีว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น สินค้าต้องเพิ่มไม่เกินกี่บาท ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหลายยังอยู่ในภาวะที่อย่าเพิ่งมองว่าจะขึ้นตามค่าแรง หรือเงินเฟ้อ เราต้องชะลอให้ช้าที่สุด เพราะทั้งโลกอยู่ในช่วงที่เงินกระเป๋าของประชาชนจะต้องถูกดูแลให้ดี เพราะยังกลับมาไม่เท่าก่อนโควิด” 

สำหรับต้นทุนการผลิตมาม่าปีนี้ราคาน้ำมันปาล์มเริ่มปรับลดลง ขณะที่แป้งสาลียังคงปรับขึ้นทำให้ในภาพรวมยังสามารถแบกรับกับต้นทุนดังกล่าวไหว อีกทั้งหากรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นมองว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และกระทบกับบริษัทเพียงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจุบันค่าแรงเป็นต้นทุนในการผลิตของบริษัทเพียง 10% ซึ่งหากต้องปรับขึ้นค่าแรง 10-15% ก็จะกระทบต้นทุนบริษัทเพียงแค่ 1% เท่านั้น อีกทั้งหลังจากนี้บริษัทยังพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้วยการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย พร้อมกับใช้พลังงานทางเลือก เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตมากขึ้นด้วย ดังนั้นปีหน้าจะเป็นปีที่ใช้ฐานราคาเดียวกันกับปีนี้ 

ทั้งนี้ปัจจุบันโรงงานผลิต “มาม่า” มีจำนวนทั้งหมด 8 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 4 แห่ง และโรงงานผลิตในต่างประเทศ อีก 4 แห่ง ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มในโรงงานหลายแห่ง โดยมีการปรับปรุงเครื่องจักรเดิม รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ให้ประสิทธิภาพและความเร็วในการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการทำตลาดที่มากขึ้นในอนาคต

ทุ่มทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี อัดฉีด 2 พันล้าน สร้างโรงงานใหม่

โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี สำหรับโรงงานผลิตมาม่าแห่งใหม่จะมีพื้นที่ 50-60 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็นพื้นที่ใน อีอีซี อย่าง ชลบุรี ระยอง แต่หากราคาที่ดินแพง ก็จะมองเป็นพื้นที่แถบแม่น้ำโขง อาทิ มุกดาหาร หนองคาย เพื่อช่วยเพิ่มกำลังผลิต 30% จากเดิม 450,000 ซองต่อวัน เป็น 600,000 ซองต่อวัน โดยการลงทุนในครั้งนี้จะรองรับดีมานด์ได้ประมาณ 10 ปี ทั้งนี้คาดว่าต้นปี 67 จะต้องได้ที่ดิน และเริ่มก่อสร้างในปี 68 แล้วเสร็จปี 69-70  

ทั้งนี้นอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้ว บริษัทฯ มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ “มาม่า” ไปแล้ว 68 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีขนาดใหญ่กว่าในประเทศจึงมีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดที่น่าสนใจ ได้แก่ จีน เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์ผู้บริโภคจีนนิยมอาหารไทยมักจะซื้อเป็นของฝากมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเข้าไปทำการตลาดเชิงรุก ทำการตลาดแบบใหม่ ได้แก่ ยุโรปและอเมริกา ส่วนตลาดใหม่ที่น่าจับตามอง ได้แก่ อินเดีย และแอฟริกา ที่จะเป็นการไปจับมือกับผู้ผลิตบะหมี่ในเคนยาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และศึกษาตลาด หากเป็นไปได้ด้วยดีในระยะยาวอาจจะมีการนำผลิตภัณฑ์มาม่าเข้าไปทำตลาด

มาม่า ตั้งเป้าปี 66 โต 4% ส่วนปี 67 โต 5-7%

ขณะที่ภาพรวมตลาดมาม่า มองปี 66 ตลาดบะหมี่ฯ ยังโตได้ดี หากดูตัวเลขในปี 2565 ที่ผ่านมาจะพบว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท 

สำหรับทิศทางการทำธุรกิจในอนาคต บริษัทฯ จะมุ่งต่อยอดสู่ Future food โดยจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ยอดขายมาม่าตัวเลข 9 เดือน+3 เดือน ประมาณการอยู่ที่ 15,568.52 ล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 11,306.49 ล้านบาท ต่างประเทศ 4,262.03 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าผลประกอบการในปี 2566 นี้จะมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 4% หรือมีรายได้โดยรวมประมาณ 23,000-25,000 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท ส่วนที่ว่าทำไมถึงโตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากว่าปีที่แล้วโตสูง จากหลายปัจจัยคือ การกักตุน น้ำท่วม ดังนั้นสองปีที่ผ่านมาเป็นปีที่โตค่อนข้างสูง ปีนี้จึงโตไม่มากนัก ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะสามารถเติบโตอยู่ที่ 5-7% โดยปัจจุบันสัดส่วนการทำตลาดแบ่งเป็นในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% ในอนาคตตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 40-50%

มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนต้องทำ

ส่วนประเด็นเงินดิจิทัล พันธ์ มองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนคงต้องทำ แต่จะทำด้วยวิธีใด ทั่วถึงขนาดไหน ระยะเวลาขนาดไหน เรายังไม่เห็นมาตรการ ซึ่งต้องให้ผู้ที่เชี่ยวชาญ และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการ และหากเป็นอย่างไรเรามีหน้าที่รองรับสิ่งที่ถูกกำหนดออกมา เพราะระหว่าง Yes กับ No มีโซลูชันอยู่ตรงกลางไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น หรือเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ตาม ซึ่งมองว่าทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะทำให้ “มาม่าขายดี” 

โดยทุกครั้งที่มีการอัดฉีดเงินเข้าไปในกระเป๋าประชาชน จะต้องไปดูมาตรการว่าให้ซื้อแบบใด และหากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นก็คงหนีไม่พ้นมาม่า ข้าวสาร ดังนั้น มาม่า ก็จะได้อานิสงส์ตรงจุดนี้ ส่วนกระบวนการมองว่า อย่าให้ประชาชนมีความยากลำบากในการใช้ เพราะฉะนั้นอาจจะเกิดการฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ อย่างการรับซื้อสิทธิ์ได้ ดังนั้นมาตรการจะต้องเข้มงวดมากพอ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ