ผ่าสมรภูมิค้าส่งไทย Makro VS Go Wholesale การแข่งขันจากผู้ปลุกปั้นคนเดียว

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่าสมรภูมิค้าส่งไทย Makro VS Go Wholesale การแข่งขันจากผู้ปลุกปั้นคนเดียว

Date Time: 15 ก.ย. 2566 18:06 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • สะเทือนวงการค้าส่ง เมื่อ “เซ็นทรัล” ยักษ์ค้าปลีกไทย ผงาดเร่งเครื่องส่งผู้เล่นน้องใหม่ในมืออย่าง “Go Wholesale” (โก โฮลเซลล์) ศูนย์ค้าส่งสินค้าเพื่อผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าปลีกรายย่อย ท้าชน “แม็คโคร” ผู้นำธุรกิจค้าส่งที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าตลาดมานานกว่า 35 ปี ใต้ปีกเครือซีพี พร้อมกับดึงอดีตแม่ทัพใหญ่แม็คโคร นั่งประธานคุมธุรกิจใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล

Latest


ในครั้งนี้ #Thairath Money จะพาไปเทียบฟอร์มแบบหมัดต่อหมัดว่าระหว่าง “Go Wholesale” (โก โฮลเซลล์) Vs “แม็คโคร” (Makro) แตกต่างกันอย่างไร และใครน่าสนใจกว่ากัน?

จับตา! ค้าส่งไทย เมื่อรายใหม่พร้อมชิงแชร์

เริ่มกันที่ Go Wholesale (โก โฮลเซลล์) ศูนย์ค้าส่งสินค้าเพื่อผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าปลีกรายย่อย ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กันยายน 2566 

โดยมี “เจ้าสัวทศ จิราธิวัฒน์” เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งดำเนินธุรกิจโดย บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้เครือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC โดยในปี 2565 CRC สามารถสร้างรายได้สูงถึง 236,245 ล้านบาท พร้อมทำกำไรสุทธิ 7,605 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ถึง 278,934 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2565

ทั้งนี้ แม่ทัพใหญ่ที่มาคุมบังเหียนปรากฏชื่อ “สุชาดา อิทธิจารุกุล” หญิงแกร่งผู้บริหารแห่ง “แม็คโคร” กว่า 27 ปี ที่เคยปั้นแบรนด์จนสำเร็จสู่เก้าอี้ “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทยและต่างประเทศ" แห่งอาณาจักรค้าส่งของกลุ่มเซ็นทรัล 

สิ่งที่จะแตกต่างคือ “การบริการ” 

โดยสุชาดา กล่าวในงานเปิดตัวว่า “จริงๆ ตอนเราทำเรื่องนี้เราไม่ได้สนใจผู้เล่นรายอื่น เราสนใจแต่ว่าลูกค้าต้องการอะไร ซึ่งเรามีการทำวิเคราะห์ว่าลูกค้าขาดอะไร และต้องการอะไร เสมือนกับว่าวันนี้หากเราไปเติมน้ำมันที่ไหนก็เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะต่างกันคือ “การบริการ” ซึ่งเราเริ่มต้นใหม่จะเข้าไปถึงจุดนั้นได้เร็วกว่า แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อเริ่มต้นคิดไปแข่งกับเขาก็ผิดตั้งแต่แรก"

"แต่ตลาดนี้ต้องมีตัวเลือกให้ลูกค้าได้เลือกบ้าง ซึ่งเราจะคิดเสมอว่าผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ก็คือพาร์ตเนอร์ของเรา และสิ่งสำคัญอยากให้ลูกค้ามาที่สโตร์เรา และพบว่าสิ่งนี้คือ New Experience จริงๆ และ Fresh จะเป็น King of Fresh ได้เลย ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มอะไรเราก็อยากจะเป็นผู้นำ แต่ความเป็นผู้นำในแบบของเราคือ เป็นหนึ่งในใจลูกค้า และแม้ว่าเราจะเพิ่งเริ่มตอนนี้ เราก็สามารถขยายไปได้อย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ Go Wholesale มีสินค้ากว่า 20,000 รายการ ส่วนแผนในระยะ 5 ปี หรือในปี 2571 Go Wholesale ตั้งเป้าที่จะขยายสาขาให้ได้ 40-50 สาขา 

พร้อมกับตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาท รวมทั้งยังมีการตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ 60,000-70,000 ล้านบาท คิดสัดส่วนยอดขายจากธุรกิจค้าส่งอยู่ที่ 25-26% จากปัจจุบันสัดส่วนยอดขายจากค้าส่งอยู่ที่ 17% 

ซึ่งจะเปิดให้บริการวันแรก 27 ต.ค. 2566 ที่ศรีนครินทร์ ซึ่งสาขาแรกมีพื้นที่กว่า 7,000 ตารางเมตร รวมทั้งในเดือนพฤศจิกายนเตรียมเปิดสาขาที่ 2 ที่เชียงใหม่ และในเดือนธันวาคม เตรียมเปิด 2 สาขาที่พัทยา และอมตะนคร รวมทั้งคาดว่าในปีแรกจะมียอดขายที่ 500 ล้านบาท และภายใน 5 ปี จะมีสมาชิก 1 ล้านราย พร้อมกับตั้งเป้าคืนทุนภายใน 2 ปี

โดยจุดเด่นของ Go Wholesale คือ แผนกอาหารสดซึ่งมีตั้งแต่อาหารทะเลเป็นๆ ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40%, เนื้อคุณภาพพรีเมียม และการให้บริการตัดแต่งสินค้าตามความต้องการของลูกค้า, การรับชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิตที่ไม่จำกัดเพียงธนาคารรายเดียว รวมทั้งยังมีการรับสิทธิพิเศษจากบัตรสมาชิกเดอะวัน (The1) มาใช้ร่วมกับศูนย์ฯ ด้วยการจัดส่งสินค้า(เดลิเวอรี)ผ่านแอปพลิเคชันโกโฮลเซล

ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักคือ กลุ่มธุรกิจโฮเรก้า (โรงแรม, ร้านอาหาร, ธุรกิจจัดเลี้ยง) กลุ่มผู้ชื่นชอบการทำอาหาร กลุ่มผู้ให้บริการอาหารในโรงงาน โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึง ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) ซึ่ง Go Wholesale ได้มีการวางแผนช่องทางจำหน่ายไว้ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ พร้อมกับวางกลยุทธ์การทำตลาดภายใต้การนำเสนอสูตรแห่งความสำเร็จให้ผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการที่ตรงใจในทุกด้าน ขณะเดียวกัน ยังวางเป้าหมายในช่วงแรกจะมีสมาชิกราว 20,000 คน/สาขา

พี่เก๋าแห่งวงการ ผุด “Hybrid Wholesale” ผสาน “แม็คโคร-โลตัสมอลล์”

ขณะที่ “แม็คโคร” ธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่งในระบบสมาชิก ที่คนไทยรู้จักสาขาแรกคือ ย่านลาดพร้าว เมื่อ 26 มกราคม 2532 จนปัจจุบันมีสาขารวม 163 สาขา โดยแบ่งเป็นในไทย 153 สาขา ต่างประเทศ 10 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566) ในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ร้านโชห่วย จนไปถึงกลุ่มโฮเรก้า หรือก็คือธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่และผู้ให้บริการจัดเลี้ยง รวมถึงลูกค้าทั่วไป

ดำเนินการภายใต้ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ โดยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งในเดือนพฤษภาคม 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 750 ล้านบาท มีรายได้ปี 2565 อยู่ที่ 469,131 ล้านบาท โตกว่า 76.1% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,696.90 ล้านบาท ปัจจุบัน MAKRO มีสินทรัพย์รวม 548,643.23 ล้านบาท 

ทั้งนี้ หากพูดถึงธุรกิจค้าส่งซึ่งจะมีแม็คโคร และ แม็คโครฟู้ดเซอร์วิส ส่วนธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต ธุรกิจค้าปลีกในเครือคือ Lotus’s โดยที่ผ่านมาได้มีแผนในการเร่งเปิดสาขา แม็คโคร-โลตัส เพื่อรับลูกค้าหน้าร้านกว่า 2,800 แห่ง ใน 73 จังหวัด โดยปี 2566 ธุรกิจค้าส่งแม็คโครวางแผนเปิดสาขาใหม่ในประเทศไทย 12 สาขา และต่างประเทศ 4-6 สาขา

ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้สร้างปรากฏการณ์สะเทือนวงการ ซึ่งถือเป็นการรับน้องใหม่อย่างเซ็นทรัล กับการเปิดโมเดลธุรกิจค้าส่งรูปแบบใหม่ในชื่อ “Hybrid Wholesale” ซึ่งนำจุดแข็งของทั้งแม็คโครและโลตัสมอลล์ มารวมกัน เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภครุ่นใหม่

ทั้งนี้ ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือ CPAXT ผู้นำด้านธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกในไทย ภายใต้แบรนด์ Makro และ Lotus's ประกาศผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 241,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,746 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจค้าส่งแม็คโครมีรายได้ 130,875 ล้านบาท ส่วนธุรกิจค้าปลีกโลตัสอยู่ที่ 110,959 ล้านบาท รวมทั้งมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 3,682 ล้านบาท เติบโต 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกัน แม็คโครมีช่องทางจำหน่ายทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ และการที่ได้โลตัสเข้ามาอยู่ในเครือ ทำให้แม็คโครมีธุรกิจครอบคลุมทั้งการค้าส่งแบบ B2B และค้าปลีกแบบ B2C เลยก็ว่าได้

โดยมีจุดเด่นคือ การเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าที่มีหลากหลายโมเดล รวมทั้งมีประเภทสินค้าที่หลากหลายทั้งอาหารสด อาหารแห้ง และสินค้าอุปโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่เน้นให้บริการผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย

ส่วนกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทฯ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร(โฮเรก้า) ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งรวมถึงภัตตาคารขนาดใหญ่ทั้งประเภทผู้ประกอบการอิสระและภัตตาคารนานาชาติ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการให้บริการด้านอาหารแก่ลูกค้าคู่สัญญา และไฮเปอร์ มาร์เก็ตทั้งหมด รวมถึงกลุ่มบริการอาหารจานด่วน

ทั้งนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้า Makro สาขาแรกในสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองกว่างโจว รวมทั้งเปิดให้บริการผ่านแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายออนไลน์ และเปิดตัวศูนย์จำหน่ายสินค้าฟู้ดเซอร์วิส (FoodserviceStore) ในรูปแบบ “ดิจิทัลสโตร์” สาขาแรกที่ลาดกระบัง 

แม็คโครวางงบลงทุนธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกรวม 25,300-27,500 

ส่วนแผนงานในปี 2566 นี้ได้มีการวางงบลงทุนธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกรวม 25,300-27,500 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้จะใช้ในธุรกิจค้าส่งแม็คโคร 13,100-14,100 ล้านบาท และธุรกิจค้าปลีกโลตัส 12,200-13,400 ล้านบาท เพื่อการขยายสาขา พัฒนาศูนย์กระจายสินค้า พัฒนาระบบดิจิทัล และขยายธุรกิจใหม่

นับเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดไม่น้อยเมื่อ 2 แบรนด์หลักแห่งวงการค้าปลีกค้าส่ง เร่งเครื่องช่วงชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่ ที่แม้ว่าการแข่งขันจะยังคงรุนแรง  ซึ่งมีการคาดการณ์ตลาดค้าส่งและค้าปลีกโดยรวมจะเติบโตในช่วง 2.8-6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ยังอยู่บนความท้าทายรอบด้าน สอดคล้องไปกับทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น เราจึงเห็นแต่ละค่ายออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และเปิดตัวธุรกิจใหม่กันอย่างคึกคัก เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในใจผู้บริโภค

จึงต้องจับตากันต่อไปว่าหมัดเด็ดของทั้งแม็คโคร และเซ็นทรัลในครั้งนี้ ที่รุกธุรกิจ Wholesale หรือ ค้าส่ง กันเต็มสูบ จะสร้างความนิยมให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าปลีกรายย่อยได้มากน้อยแค่ไหน และจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาในสาขาได้ดีหรือไม่ เพราะการแข่งขันในครั้งนี้ ที่เซ็นทรัลเปิดเกมรุกก็เพื่อต้องการให้ “ตลาดนี้ต้องมีตัวเลือกให้ลูกค้า” ก็นับเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ไม่น้อยและ win win ด้วยกันทุกฝ่าย ซึ่งคนที่ได้รับผลประโยชน์คงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ "ผู้ประกอบการรายย่อย" นั่นเอง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์