หลุดรัฐวิสาหกิจคล่องตัว บินไทยย้ำเป็นสายการบินแห่งชาติ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หลุดรัฐวิสาหกิจคล่องตัว บินไทยย้ำเป็นสายการบินแห่งชาติ

Date Time: 23 ส.ค. 2566 06:20 น.

Summary

  • การบินไทยสุดฟินหลังหลุดพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบริหารงานคล่องตัว ไม่อุ้ยอ้าย ปรับแผนกลยุทธ์สนองตลาดของคนเดินทางได้ทันควัน ย้ำ! แผนฟื้นฟูกำหนดชัดเจนว่าการฟื้นฟูกิจการจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ส่วนการเพิ่มทุนยังหวังให้คลังเพิ่มทุนอยู่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนกับการบินไทย ยันคนยังเชื่อและภูมิใจว่าเป็น “สายการบินแห่งชาติ”

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

การบินไทยสุดฟินหลังหลุดพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบริหารงานคล่องตัว ไม่อุ้ยอ้าย ปรับแผนกลยุทธ์สนองตลาดของคนเดินทางได้ทันควัน ย้ำ! แผนฟื้นฟูกำหนดชัดเจนว่าการฟื้นฟูกิจการจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ส่วนการเพิ่มทุนยังหวังให้คลังเพิ่มทุนอยู่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนกับการบินไทย ยันคนยังเชื่อและภูมิใจว่าเป็น “สายการบินแห่งชาติ”

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่การบินไทยได้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ และมีการลดสัดส่วนหุ้นลง รวมถึงมีการขายหุ้นออกไป ทำให้สถานะของการบินไทยปัจจุบันพ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจ มีความเป็นเอกชนแบบเต็มตัวนั้น ยอมรับว่าการเป็นเอกชนเต็มตัวทำให้

1.การบินไทยมีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการบริหารงานทำธุรกิจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การจัดหาเครื่องบินที่จะใช้ จากเดิมการจัดหาปกติใช้เวลาจัดหาเครื่องบินโดยเฉลี่ยกว่า 3 ปี ถึงจะได้เครื่องบินเข้ามาให้บริการ แต่ปัจจุบันใช้ระยะเวลาจัดหาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

2.ทำให้ขั้นตอนการตัดสินใจในการทำธุรกิจเร็วขึ้น ลดขั้นตอนการดำเนินงานลง นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการพัฒนา

3.มีความเป็นองค์กรของธุรกิจ ไม่ใช่ระบบการทำงานแบบระบบข้าราชการ

4.มีอิสระในการตัดสินใจ ทำให้การเดินหน้าธุรกิจได้อย่างเต็มที่

นอกจากนั้นในส่วนของการเพิ่มทุน การบินไทยยืนยันว่ายังคงมีความต้องการให้มีการเพิ่มทุนตามสัดส่วน ซึ่งจะมี 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1.เพิ่มทุนในสัดส่วนของผู้ถือหุ้นจากภาครัฐ มองว่า ตามสัดส่วนเดิมภาครัฐถือสัดส่วนหุ้นอยู่ที่ 40% การตัดสินใจว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกระทรวงการคลังว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่ หากภาครัฐไม่เพิ่มทุนก็จะทำให้สัดส่วนหุ้นลดลงเหลืออยู่ที่ 18% แต่ถามว่า การบินไทยต้องการให้ภาครัฐใช้สิทธิเพิ่มทุนหรือไม่นั้น ยอมรับว่าการบินไทยยังคงมีความต้องการให้ภาครัฐเพิ่มทุน เพราะการที่ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังเพิ่มทุน ก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนอื่นๆมีความมั่นใจที่จะกล้าเข้ามาลงทุนในการบินไทยมากขึ้น

ส่วนที่ 2.การเพิ่มทุนจากพนักงานการบินไทย (ESOP) หรือ “Employee Stock Ownership Plan” หรือการให้หุ้นของพนักงาน ซึ่งในส่วนนี้จะมีสัดส่วนน้อย และ 3.ส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหม่ ประมาณ 20-25% นอกจากนั้นยังพบว่ามีเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะแปลงหนี้เป็นทุนมากขึ้น แต่ในแผนฟื้นฟูไม่สามารถที่จะให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนมากขึ้นกว่าที่เขียนในแผนฟื้นฟูฯได้ ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากเจ้าหนี้และนักลงทุนบางส่วน

“การเพิ่มทุน ถ้าภาครัฐไม่เพิ่มทุนตามสัดส่วนเดิม ภาครัฐก็จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลง ก็เป็นสิทธิของรัฐที่จะคงสภาพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในแผนเขียนชัดเจนว่า ผู้บริหารแผนจะต้องไม่ทำให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ซึ่งเชื่อว่าทุกคนก็เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้วางแผน ฝ่ายบริหาร แม้กระทั่งรัฐบาลเอง ผมเข้าใจว่าคงไม่อยากให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

ซึ่งจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา การที่ลดสัดส่วนหุ้นลง ขายหุ้นออกไป ทำให้การบินไทยเป็นเอกชน มีประสิทธิภาพในการทำธุรกิจมากกว่าการเป็นรัฐวิสาหกิจ และตามกฎหมายก็ไม่มีอะไรบอกว่าการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ แต่ด้วยความรู้สึกของคนไทยก็ยังเข้าใจและภูมิใจว่าการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ เพราะด้วยภาพลักษณ์ที่สนับสนุนแบบซอฟต์เพาเวอร์”

นายชายกล่าวต่อว่า การบินไทยมีความพร้อมที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะเดียวกันก็จะนำบริษัทกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้ภายในต้นปี 2568 และจะทยอยชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 120,000 ล้านบาท ให้กับลูกหนี้ให้ครบทั้งหมดภายในประมาณ 8 ปีนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ