ด้วยเพราะเอกลักษณ์ของ Kipling ที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘Premium everyday bag’ ที่มีน้ำหนักเบา ฟังก์ชันและช่องเยอะ รวมทั้งความคงทน ที่แม้จะซักกระเป๋าสักกี่ครั้งก็ไม่ได้ทำให้รูปทรงเสียหาย และที่สำคัญยังทำความสะอาดง่าย พร้อมกับการออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้ทุกรูปแบบ ทุกเพศ ทุกวัย
โดย Kipling เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนานกว่า 25 ปี ภายใต้การบริหารของ “ศิริกาญจน์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์ ณ อยุธยา” และต่อมาได้ส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นที่สอง “ปอ-ศีกัญญา ศักดิเดช ภาณุพันธ์” เข้ามาคุมบังเหียน จึงถือได้ว่ากระเป๋าแบรนด์ Kipling เป็นระดับตำนานที่ได้รับความนิยมจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูกเลยก็ว่าได้
ทั้งนี้ความนิยมของ Kipling ที่ใครเห็นเป็นต้องรู้จัก ด้วยจุดเด่นคือ ‘เจ้าลิง’ ขนฟู ที่นับเป็นโลโก้และพระเอกของแบรนด์ จนกระทั่งวิวัฒนาการของเจ้าลิงได้กลายร่างเป็นลิงเหล็กที่แข็งแกร่ง และลิง 3 มิติ นั่นก็เพราะว่า Kipling ต้องการให้กระเป๋าแต่ละรุ่นมีชีวิตชีวา ให้ผู้ใช้มีความสุข และสนุกไปกับการสะพายกระเป๋า ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ของ Kipling ที่ไม่ว่าจะเป็นลิงแบบไหน กระเป๋าของ Kipling ก็ยังได้รับความนิยมมาเสมอตั้งแต่ 25 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน แต่ระยะหลังเราจะเห็นได้ว่าเจ้าลิงได้หายไปจากวงการ จนล่าสุดทางแบรนด์เตรียมที่จะนำลิงขนฟูกลับมามัดใจเหล่าสาวกใหม่อีกครั้งภายในปี 2567
นอร์ท เลิศธนอารีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มณียาคอนเซพทส์ จำกัด กล่าวว่า เราถือเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระเป๋า Kipling จากเบลเยียมแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยการนำ Kipling เข้ามาเนื่องจากมองว่าเป็นแบรนด์ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ และตอบโจทย์กระเป๋าที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันในราคาที่เอื้อมถึงได้ จึงมองว่าเป็นตลาดที่จะไปได้ในไทย
โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นลูกค้าที่ติดตามมาตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งจะมีอายุเฉลี่ย 40 ขึ้นไปประมาณ 70% แต่ทั้งนี้แบรนด์ก็ได้ทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งมีอายุประมาณ 20 ปีเป็นต้นไป โดยที่จะมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% อย่างเช่นที่ผ่านมาได้มีการออกคอลเลกชันกระเป๋าผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี โดยโทนสีจะออกไปในทางโทนเข้มๆ ดำๆ ด้วยเช่นกัน
ส่วนการจับกลุ่มคนรุ่นใหม่นับเป็น Marketing plan ซึ่งได้มีการหาวิธีที่จะมาปรับใช้ ให้ควบคู่กับการทำงานของบริษัทแม่ อาทิ การ Collabs กับแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Anna Sui เมื่อปี 2564, Doraemon และ Hello Kitty เมื่อปี 2565 และในปีนี้คือ Barbie และ Miffy ซึ่งในอนาคตก็จะมีการจับมือกับอีกหลากหลายแบรนด์เช่นกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยากรู้จัก Kipling มากขึ้น รวมทั้งแฟนพันธุ์แท้
ขณะเดียวกันหากพูดถึงการวางจำหน่าย โดยหลักๆ จะมีทั้งหมด 70 จุด โดย 53 จุด ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า อาทิ โรบินสัน เดอะมอลล์ กลุ่มเซ็นทรัล และชอปอื่นๆ อีก 17 จุด รวมทั้งช่องทางอีคอมเมิร์ซทุกช่องทาง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนอีคอมเมิร์ซจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของยอดขายทั้งหมด นับว่าเติบโตเร็ว 8-10% ต่อเดือน ขณะที่สัดส่วนของลูกค้าจะแบ่งไปตามลักษณะของร้านค้า หากเป็นร้านค้าตามห้างสรรพสินค้าและ Outlet ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาติ แต่ Over all โดยรวมเป็นคนไทย 90% และต่างชาติ 10%
ทั้งนี้หลังสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากช่วงโควิดยอดหายไปเกือบครึ่ง ด้วยเพราะสภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับมา รายได้ของผู้บริโภคเริ่มกลับมา ทำให้กำลังซื้อกลับมาเช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ Kipling มีรายได้ปี 2565 ประมาณ 350 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ส่วนในอนาคตได้มีการตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 500 ล้านบาท ภายใน 4 ปี
พร้อมทั้งมีการปรับกลยุทธ์จากที่เป็นแค่กระเป๋าที่ผู้หญิงต้องลองใช้งาน ได้มีการเบนเข็มไปทำการตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีอย่างไม่น่าเชื่อ รวมทั้งได้มีการทำ Product Description และนั่นเองคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงยอดและดันยอดขายให้กับแบรนด์
และเมื่อถามถึงภาพจำของ Kipling ที่ยังคงเป็นแบรนด์สำหรับวัยเก๋า ห่างไกลจากวัยรุ่นนั้น ปอ-ศีกัญญา ได้อธิบายว่า เดิม Kipling เป็นเช่นนั้น แต่ ณ วันนี้ลุคของ Kipling ได้เปลี่ยนไป มีการตามเทรนด์ ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการ Collabs กับแบรนด์อื่นๆ อย่างล่าสุดคือ Barbie ที่ได้ออกมาเป็นคอลเลกชันสีชมพูสีสันสดใส ก็ทำให้ภาพของ Kipling ในวันนี้มีความเป็นวัยรุ่นขึ้น รวมทั้งในเร็วๆ นี้จะมีการนำสินค้าในกลุ่มผู้ชายกลับมา อาทิ กระเป๋าเป้ปีนเขา กระเป๋าไว้ใช้สำหรับ Outdoor
สำหรับกระเป๋าของ Kipling ที่ขายดีที่สุดในในไทยก็ยังคงเป็นกระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าสตางค์ แต่หลังๆ ที่เราพบ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าแบ็กแพ็กก็ขายดี และตระกูลอาร์ตก็นับว่าขายดีตลอดกาลเช่นกัน ส่วนระดับราคาที่ขายดีคือ 3,000-4,000 บาท
ส่วนทางด้านกระแส Fast Fashion ที่รุนแรงในฐานะแบรนด์ระดับตำนานอย่าง Kipling เธอมองว่าโปรดักต์สู้ได้ด้วยตัวเอง ด้วยความที่มีเอกลักษณ์ ทน มีช่องเยอะ คนใช้จึงมองว่าตอบโจทย์ และด้วยบริการหลังการขายอย่างการ “รับซ่อมตลอดชีพ” ก็นับเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคยังอยู่กับแบรนด์ ตรงจุดนี้จึงมองว่า Brand loyalty สำคัญอย่างมาก
“การแข่งขันจะค่อนข้างดุเดือด ยิ่งในช่วงที่ทุกสินค้ามีการโหมกระหน่ำ Sale โดยเฉพาะในช่วงที่ดีมานด์กระเป๋าโดยรวมตกไป แต่เมื่อมีกระแส Y2K เข้ามา กลับดันยอดขายให้ Kipling เติบโต จึงถือได้ว่าทั้งกระแสชุบชีวิตแฟชั่นยุค 2000 บวกกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่กลับมา และเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซที่มาแรง ได้มีส่วนช่วยให้ยอดขายโดยรวมของแบรนด์เติบโตประมาณ 30% เลยก็ว่าได้”
สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์ยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้นั่นคือการทำ CRM ด้วยฐานสมาชิกกว่า 30,000 คน ทำให้เห็นยอดซื้อต่อบิลของลูกค้าบางรายสูงมาก ซึ่งสิ่งที่ได้จาก CRM คือการนำข้อมูลมาพัฒนาการให้บริการ รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าในอนาคตนั่นเอง ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นจุดแข็ง และจุดยืนให้กับ Kipling ประเทศไทย ที่ไม่ว่า “แฟชั่น” จะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ “Kipling” ก็ยังคงครองใจผู้บริโภคได้อยู่ดี.