อุตสาหกรรมสีขาว

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อุตสาหกรรมสีขาว

Date Time: 18 ส.ค. 2566 06:05 น.

Summary

  • บรรดานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่างก็มองโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุนทางอุตสาหกรรม โดยอยู่บนพื้นฐานที่มีความมั่นคงและมีความชัดเจน ตามหลักมาตรฐานสากล โดยเฉพาะปัจจัยในการเอื้อประโยชน์กับการลงทุน

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

บรรดานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่างก็มองโอกาสและความเป็นไปได้ในการลงทุนทางอุตสาหกรรม โดยอยู่บนพื้นฐานที่มีความมั่นคงและมีความชัดเจน ตามหลักมาตรฐานสากล โดยเฉพาะปัจจัยในการเอื้อประโยชน์กับการลงทุน เช่น ด้านกฎหมาย ต้นทุน โครงสร้างพื้นฐาน แรงงานที่มีทักษะ จนถึงบรรยากาศการลงทุนในแต่ละประเทศ แต่ละโซน มีนักลงทุนรายใหญ่หลายรายเล่าให้ฟังถึงการสร้างโอกาสในการลงทุนที่มีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร หรือยา หรือสุขภัณฑ์ ต่างๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยี โดยเฉพาะประเทศที่มีเงื่อนไขและแรงจูงใจมากที่สุด ในขณะนี้ น่าจะเป็นเวียดนาม ที่มีครบวงจรไปจนถึงสิทธิพิเศษในการส่งออกของสินค้าประเภทต่างๆ

เราเคยเป็นฮับเรื่องของการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม หรือสิ่งทอ แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีการเอาเปรียบคู่ค้าและขาดการคุ้มครองจากภาครัฐ ทำให้เราเสียโอกาสและกำลังจะเสียโอกาสบางอย่างไปจากประเทศคู่แข่งเพื่อนบ้าน

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ได้ตระหนักถึงปัจจัยต่างๆที่จะกระตุ้นการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมาตรฐานหลักสากล โดย วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม ได้มุ่งเน้นเรื่องของโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย หรือ ธงขาว-ดาวเขียว เป็นอันดับแรก เพื่อส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการลงทุนตามมาตรฐานสากลที่ทุกประเทศค่อนข้างจะเข้มงวดกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

ยกตัวอย่างแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษของ จ.ระยอง ที่ กนอ.ได้มอบธงธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ธงขาว-ดาวเขียว มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ได้มีการตั้ง คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามแผนลดและขจัดมลพิษ ขึ้นมา มีคณะทำงานลงไปตรวจสอบประเมินโรงงานต่างๆ มีผู้แทนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนเข้าร่วม กำหนดเกณฑ์การประเมินไว้ 10 ด้าน อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการขยะ กากของเสีย การจัดระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ การจัดการไอระเหย สารเคมีและสารอินทรีย์ระเหยง่าย การลดอุบติเหตุตามข้อร้องเรียน การจัดให้มีพื้นที่สีเขียว และการจัดการด้านการจราจรขนส่งตามมาตรฐานสากล

ในจำนวนโรงงาน ที่เข้าร่วมโครงการ 136 โรงงาน ผ่านเกณฑ์ ได้รับรางวัลธงธรรมาภิบาล จำนวน 126 โรงงาน โดยถ้าโรงงานใดสามารถรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ 6 ปีขึ้นไป จะได้รับ ธงขาว–ดาวทอง แสดงถึงมาตรฐานสูงสุดในปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 81 โรงงาน

นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยได้ขยายไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีชุมชนกว่า 456 ชุมชน รอบนิคมอุตสาหกรรมให้การยอมรับและเชื่อมั่น มีทัศนคติที่ดีต่อโรงงาน

สร้างอุตสาหกรรมสีขาวเพื่อเข้าสู่การแข่งขันที่มีคุณภาพ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ