ตลาดรถมือสองไม่โต “KCAR” ทุ่มพันล้าน เพิ่มรถใหม่-รุกอีวี ตั้งเป้าพอร์ตปีหน้าโต 20%

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ตลาดรถมือสองไม่โต “KCAR” ทุ่มพันล้าน เพิ่มรถใหม่-รุกอีวี ตั้งเป้าพอร์ตปีหน้าโต 20%

Date Time: 17 ส.ค. 2566 10:32 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ทำธุรกิจรถเช่าทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว โดยเริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2523 พร้อมกับจดทะเบียนเป็นบริษัทครั้งแรกในปี 2535 และด้วยความที่ KCAR ดำเนินการมากว่า 40 ปี และมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จึงถือเป็นบริษัทรถเช่ารายแรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้

Latest


พิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถเช่าในปี 2564 จะอยู่ที่ 5,434 ล้านบาท ส่วนปี 2565 อยู่ที่ 5,393 ล้านบาท ซึ่งมองว่าปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวลงเล็กน้อย 

ส่วนในปีนี้มองว่าตลาดเหมือนจะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เนื่องจากตลาดไม่ค่อยเติบโตนัก เพราะด้วยปัจจัยแรกคือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ได้มีการปรับเปลี่ยนจากการเช่ารถกลับไปเป็นรถร่วมแทน แต่ทั้งนี้ก็มีผู้เช่ารายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงมองว่าโดยมองว่าภาพรวมจะยังคงเติบโตได้ประมาณ 5-10% 

มีรถปล่อยเช่ากว่า 9 พันคัน  

ในขณะที่ครึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าค่าเช่าของ KCAR ลดลงประมาณ 3% เนื่องจากลูกค้าต่ออายุสัญญา และรถที่ครบสัญญากลับมา รวมทั้งในแต่ละปีจะมีรถที่ครบอายุสัญญาประมาณ 1,200-1,500 คัน โดยสองปีที่ผ่านมามีจำนวนน้อยลงเนื่องจากลูกค้าต่ออายุสัญญาเป็นจำนวนมาก แต่ในปีนี้พบว่าเริ่มมีคืนรถเข้ามาเยอะขึ้น และปัจจุบันจำนวนรถที่ปล่อยเช่าของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 9,000 คัน มีจำนวนลูกค้ากว่า 1,200 บริษัท มีศูนย์บริการ 1,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งยังมีมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สูงสุดในอุตสาหกรรม 


ทั้งนี้ในส่วนของปีนี้ตั้งเป้าปล่อยรถเช่ากว่า 1,500 คัน โดยจะเป็นรถ EV ประมาณ 100 คัน จากครึ่งปีแรกปล่อยไปแล้วกว่า 500-600 คัน และรอส่งมอบในครึ่งปีหลังอีก 1,000 คัน 

โดยที่รถเช่าจะไม่เหมือนการขาย ที่เมื่อขายออกไปจะรับรู้รายได้ทันที แต่รถเช่าจะมีการรอส่งมอบในช่วงปลายปีจำนวนมาก ทำให้การรับรู้จะแตกต่างออกไปจากธุรกิจอื่น

“ในส่วนของการปล่อยเช่ารถ EV เราจะค่อยๆ ดำเนินการไป เนื่องจากนับเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ ซึ่งเรื่องของความเสถียรจึงไม่แน่ใจนัก บวกกับราคาตลาดรถมือสอง และการให้บริการในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องให้ความสำคัญ จึงต้องเป็นเหมือนการทำลองทำ เพื่อไม่ให้ตกขบวนอย่างน้อยเราจะรู้พฤติกรรมลูกค้า อุปสรรค และในอนาคตเราจะสามารถควบคุมได้” 

ทั้งนี้ ธุรกิจปล่อยเช่ารถของบริษัทในระยะยาวคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี ซึ่งจะมาจากฐานลูกค้า SMEs ที่จะหันมาใช้บริการเช่ารถมากขึ้น ขณะเดียวกันตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมาตลาดรถเช่าระยะยาวเติบโตขึ้นทุกปี ยกเว้นช่วงโควิด ซึ่งปัจจุบันตลาดหดตัวเล็กน้อย แต่มีลูกค้าใหม่ๆ ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 90% ของตลาดทั้งหมดถูกครอบครองด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่

ขณะที่สัญญาเช่าจะเป็น 5 ปี จากเดิมส่วนใหญ่มีอายุ 3 ปี ทั้งนี้ทิศทางของ SMEs จะถูกเปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่ามากขึ้น และไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยไม่มีการซื้อรถแล้วในหลายๆ หน่วยงาน เนื่องจากเปลี่ยนเป็นการเช่าโดยส่วนใหญ่ ทำให้ตลาดยังคงเติบโตไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่ก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

ขณะเดียวกันด้วยตลาดไม่มีกำแพงกั้นในการเข้า แต่อุปสรรคมักจะมีด้วยเช่น โดยจะเป็นในเรื่องขององค์ความรู้ และอุปสรรคในการบริหารจัดการ ซึ่งทุกอย่างจะกระทบกับต้นทุนหมด 

รวมทั้งในช่วงเปิดประเทศนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ซึ่งเขามองว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้โฟกัสที่นักท่องเที่ยวแต่จะเป็นกลุ่มบริษัทเอกชน ใช้เพื่อเป็นรถยนต์ทดแทน หรือใช้เพื่อต้อนรับแขก ฯลฯ 

เช่าระยะยาวครองแชมป์

ทั้งนี้การแบ่งกลุ่มลูกค้าของ KCAR แบ่งออกเป็น รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 15% อาทิ ธ.ออมสิน, ธอส. อีกทั้งฝั่งบริษัทเอกชนจะมีสัดส่วน 85% โดยที่ 50% จะเป็นบริษัทชั้นนำ อาทิ ธ.กสิกรไทย, SCB, SCG 

รวมทั้งในส่วนของสัดส่วนรายได้ 59% จะมาจากรายได้ค่าเช่า และอีกกว่า 39% จะมาจากรายได้ขายรถใช้แล้ว และอื่นๆ 2% โดย 98% เป็นเช่าระยะยาว ที่เหลือประมาณ 2% เป็นลูกค้ารายย่อยที่เช่ารถยนต์เป็นรายวัน

และเมื่อย้อนกลับมาดูในส่วนของประเภทธุรกิจให้เช่ารถยนต์ของ KCAR จะแบ่งออกเป็น เช่าระยะสั้น ที่ส่วนใหญ่จะเช่าเพื่อการท่องเที่ยว, เช่าดำเนินงาน โดยเป็น Outsource จัดการด้านรถยนต์ให้องค์กร และเช่าการเงิน/เช่าเงินทุน ที่คล้ายกับการเช่าซื้อ แต่มีสิทธิเลือกซื้อกลับ

ขณะที่ภาพรวมของ KCAR ที่ผ่านมามูลค่าตลาดของ KCAR มีหุ้นที่ไม่เคยต่ำกว่า IPO โดยปันผลตอบแทนอยู่ประมาณ 5% ทุกปี ทั้งนี้ยังเป็นบริษัทที่ไม่เคยขาดทุนตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี 

ส่วนทางด้าน TOYOTA SURE แบรนด์รถมือสองระดับพรีเมียมของไทย มียอดขายอันดับ 1 โดยที่มีการขายครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และมีรถหลากหลายรุ่น หลายประเภท โดยที่อายุรถจะอยู่ที่ 0-12 ปี จากในอดีตอยู่ที่ 5-6 ปี รวมทั้งมีสต๊อก 500-1,000 คัน โดยที่ Supply 60-70% จะมาจาก KCAR 

ค่าเสื่อม คือต้นทุนหลักของธุรกิจเช่ารถ

สำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2566 รายได้รวมอยู่ที่ 1,153 ล้านบาท โต 0.3% ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.6% โดยผลพวงมาจากใกล้ครบอายุสัญญาเช่ารถมากขึ้น 

ทั้งนี้ในตลาดมีผู้เล่นรายใหญ่ประมาณ 20 ราย ขณะที่ KCAR ได้วางงบลงทุนปี 2566 ไว้ที่ราว 1,200-1,500 ล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งครึ่งปีแรกใช้ไปแล้ว 500-600 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 5-7%

“ขณะเดียวกันหากมองถึงภาพรวมของธุรกิจปล่อยเช่ารถยนต์ ก็จะพบว่าต้นทุนที่มากที่สุดคือ “ค่าเสื่อม” ซึ่งสำหรับรถ EV เรียกได้ว่ามีการดำเนินการในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเรา กำลังจะเริ่มลองขายรถมือสองเป็นครั้งแรกเร็วๆ นี้ โดยจะเป็นอายุสัญญา 1 ปี ทั้งนี้โดยส่วนตัวคาดว่าราคาขายน่าจะอยู่ที่ประมาณ 80% ของราคารถมือหนึ่ง” 

ตลาดรถมือสองยังทรงตัว-หดตัวเล็กน้อย

ส่วนทางด้านภาพรวมของอุตสาหกรรมรถมือสองเขามองว่าไม่ค่อยดีเท่าไรนัก โดยรายใหญ่มองว่ายังคงทรงตัว หดตัวเล็กน้อย แต่หากเป็นรายเล็กมองว่าจะหดตัว ด้วยปัจจัยดังนี้ คือ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี อุปทานมากขึ้นตามจำนวนรถถูกยึด ประกอบกับเจอรถที่มีเซกเมนต์สูงขึ้น อย่างการเข้ามาของรถ EV โดยภาพรวมของรถมือสองมักจะแปรผันกับรถใหม่

ทั้งนี้ราคาประมูลรถมือสองบางรุ่นในปีที่ผ่านมาลดลงจาก 3.3-3.4 แสนบาท เหลือเพียง 2.7 แสนบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% โดยเฉลี่ย เนื่องจากซัพพลายที่เป็นในส่วนของปริมาณรถที่ถูกยึดเริ่มเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปลายปีผ่านมา และจะเป็นไปอีกนานไหมเขามองว่า อยู่ที่สภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี KCAR ได้มีการตั้งเป้ารายได้จากการขายรถมือสองในปี 2567 ไว้ไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนในปีนี้คาดว่าเติบโตได้มากกว่า 10% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก รวมทั้งไฟแนนซ์ระมัดระวังเรื่องการปล่อยสินเชื่อใหม่ 

ขณะที่กลยุทธ์ทางการตลาดมองว่าจะเป็นในส่วนของบริการที่ดีกว่า และแตกต่าง รวมทั้งการยึดมั่นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การจับมือกับพันธมิตร และมีอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม พร้อมทั้งปรับตัวตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น 

ส่วนความได้เปรียบทางการแข่งขันของ KCAR อาทิ จำนวนฐานลูกค้า ประสบการณ์ ทีมงาน เครือข่ายบริหาร พันธมิตรทางธุรกิจ และความมั่นคงทางสถานะการเงิน..


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์