นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมห้างค้าปลีกหลายรายจึงมักจะเลือกทำเลทองเป็นที่ตั้ง และเราจึงมักจะเห็นการตั้งของธุรกิจเหล่านั้นเป็นที่เดียวกัน หรือทำเลข้างกันนั่นเอง แล้วกลยุทธ์แบบนี้เวิร์กหรือไม่ และเลือกทำเลแบบไหนจึงจะตอบโจทย์?
#Thairath Money ได้มีการสอบถามไปยัง ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ซึ่งก็ได้คำตอบว่า โดยปกติแล้วการเลือกทำเลที่ตั้งรีเทล เกิดขึ้นจากการทำ Feasibility Study หรือที่เรียกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ ผ่านเรื่องของลูกค้า ฉะนั้นปัจจัยสำคัญคือเรื่องของ “ลูกค้า”
ซึ่งกลยุทธ์สำคัญคือ Location เป็นเรื่องรอง แต่ Convenience เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากความสะดวกสบายของลูกค้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
และหลายครั้งลูกค้าของร้านค้าปลีกที่ตั้งโลเคชันที่เดียวกันนั้น มักจะเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกัน จึงเป็นเหตุว่าทำไมห้างค้าปลีกมักจะไปตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั่นเอง
โดยเริ่มแรกจะต้องตั้งต้นจากหลักการการศึกษาลูกค้า ที่จะต้องเข้าถึงได้ง่ายที่สุด เนื่องจากรีเทลเหล่านี้ล้วนเป็น Convenience Store และเมื่อเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวกัน จึงมักจะตั้งที่เดียวกัน ฉะนั้นในระยะเวลาต่อมา ร้านค้าปลีกที่มาทีหลังก็คิดว่าไม่ต้องไปเสียเวลาทำ Feasibility Study เพราะคู่แข่งได้ทำไว้แล้ว ดังนั้นจึงสามารถไปวางตำแหน่งร้านไว้ข้างๆ หรือใกล้ๆ คู่แข่ง จะช่วยลดต้นทุนในการศึกษาไปได้อย่างสิ้นเชิง
เมื่อลูกค้าเป็นหลักใหญ่ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ
1. จำนวนประชนกร ความหนาแน่นของประชากร มีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ค้าปลีกจะใช้ปัจจัยนี้เป็นหลัก ในการเลือกทำเลที่ตั้งในการเปิดสาขา
2. อำนาจ กำลังซื้อของลูกค้ามีหรือไม่
3. ต้นทุนของพื้นที่ที่จะต้องจ่าย
ส่วนเรื่องรองคือ “คู่แข่งที่เทียบเคียง” เพราะถึงแม้จะมีจำนวนลูกค้าเยอะ มีกำลังในการซื้อ บวกกับต้นทุนพื้นที่ต่ำ แต่มีคู่แข่งที่เทียบเคียง เช่น คู่แข่งขันธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือคล้ายกันในบริเวณนั้น ถ้ามีคู่แข่งร้านค้าปลีกที่แข็งแกร่งอยู่จำนวนมากอาจจะต้องเหนื่อย แม้จะมีตลาดที่มีความสะดวกสบายมากน้อยแค่ไหนก็ตาม หากมีมากจะทำให้มีคะแนนที่ลดลง
ดังนั้นต้องสร้างความแตกต่าง และเมื่อปัจจัยเหล่านี้นำมารวมกัน จะกลายเป็นประเด็นของ Feasibility Study นั่นเอง
เรื่องของความสะดวกยังคงเป็นความสำคัญ และความสะดวกของคนในยุคนี้จะไม่ใช่ในแง่ของการที่ลูกค้าจะออกมาในสถานที่เท่านั้น ความสะดวกปัจจุบันจะสะดวกขึ้นมากกว่าเดิม อาทิ การส่งของไปถึงหน้าร้านของลูกค้าได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าร้านสะดวกซื้อ หรือห้างค้าปลีกในหลายๆ ที่เริ่มที่จะทำแบบนี้ อย่างเช่น การที่พนักงานปั่นจักรยานไปส่งสินค้าในระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นการปรับตัวเพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต
และความสะดวกนี้จะเข้าไปอยู่ในบ้าน จะมีข้อมูลลูกค้าและเบอร์โทรศัพท์ลูกค้า ซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นที่โทรศัพท์ จากสมัยก่อนกระตุ้นที่หน้าเคาน์เตอร์ ต่อไปเมื่อมีข้อมูลลูกค้าเยอะๆ จะรู้ข้อมูลส่วนตัว เมื่อสินค้าภายในบ้านหมด ก็จะมีการกระตุ้นโดยการส่งโปรโมชันไปยังเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า โดยให้ลูกค้าสั่งจากโทรศัพท์และส่งตรงถึงบ้าน ซึ่งนับเป็นเทรนด์ Convenience ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ท้ายที่สุดแล้วเทรนด์ที่จะต้องใช้ไปอีกนานคือ เทรนด์ของการเล่นกับข้อมูลของลูกค้า คือ Data Driven Marketing คือการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ข้อมูลนี้จะเป็นของลูกค้าและนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการทำการตลาด เพื่อให้ได้กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ หรือก็คือเป็นการวางแผนการตลาดที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่มาจากผู้บริโภค
ทำให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกและพฤติกรรมของลูกค้า ช่วยให้นักการตลาดและแบรนด์นั้นสามารถวางแผนกลยุทธ์ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ซึ่งเกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลลูกค้านั่นเอง
ต้องยอมรับว่าเมื่อมีข้อมูลลูกค้า เราจะรู้ว่าลูกค้าใช้แพลตฟอร์มใดเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนมีพฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่ชอบใช้ LINE ส่วนกลุ่มที่เด็กกว่าจะรู้สึกว่าถูกกระตุ้นด้วย Instragram Twitter TikTok มากกว่า หรือแม้กระทั่งบางกลุ่มชื่นชอบ e-sport ดังนั้นจะเกิดการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าได้อย่างตรงจุดเมื่อมี “ข้อมูล” นั่นเอง
อย่างกรณีของ CJ MORE ก็มักจะเลือกตั้งฐานในพื้นที่ใจกลางเมือง ชุมชน เช่น ตลาดนัด ย่านที่พักอาศัย หรือแม้กระทั่งแถบชานเมือง ซึ่งจะต้องเป็นสถานที่ที่ลูกค้าน่าจะมารวมตัวกันได้ง่าย มีผู้คนพลุกพล่าน เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด เพราะจะทำให้สามารถดึงดูดยอดขายได้ในที่สุด..