ย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีก่อน ขณะที่โลกและประเทศ ไทยกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันอย่างรุนแรง ส่งผลให้น้ำมันทั่วโลกมีราคาแพงขึ้นจนกระทบต่อความสามารถในการบริโภคของประชาชนไทยจำนวนมาก
ช่วงเวลานั้น ทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางที่ประชุมรัฐสภา เพราะวิกฤติน้ำมันเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในทุกๆวิกฤติย่อมมีโอกาสแฝงเข้ามาเสมอ นั่นจึงทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ มีคำสั่งก่อนที่เขาจะลาออกด้วยการให้ องค์การเชื้อเพลิง ของกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม และ องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ของกระทรวงอุตสาหกรรม ควบรวมกิจการกัน
สถานีบริการน้ำมันสามทหาร ที่ดำเนินกิจการโดยกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง จึงถูกส่งผ่านมาเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมชื่อ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. (PTT)
นับจากช่วงเวลาของการเผชิญ วิกฤติปี 2523 จนถึงปี 2566 ปตท.ได้พัฒนาตนเองขึ้นตามลำดับ ภายใต้ การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และการันตีได้จากผลผลิตต่างๆที่ออกมา
เริ่มต้นจากการเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันตราสามทหาร มาเป็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปเปลวไฟสีฟ้า หยดน้ำมันสีน้ำเงินในวงกลมสีแดง และใช้คำขวัญเชิญชวนคนไทยให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของ ปตท.ว่า นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท. เนื่องจากช่วงนั้น สถานีบริการน้ำมันล้วนเป็นของต่างชาติหมด หลังจัดรูปแบบบริหารกิจการพลังงานเข้าใกล้ความเป็นสากล ปตท.ได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และเริ่มวางท่อก๊าซธรรมชาติจาก อ.มาบตาพุด จังหวัดระยอง ผ่านเข้าสู่ระบบท่อเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.)
โดยในปีถัดมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี จึงได้เดินทางไปเปิดวาล์วท่อส่งก๊าซมายังโรงไฟฟ้าบางปะกง จนเกิดเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นจากปล่องควัน เป็นผลให้คนในยุคนั้นเรียกขานเปลวไฟนี้ว่า เปลวไฟ แห่งความโชติช่วงชัชวาล
จนถึงวันนี้ ปตท.ผ่านวิกฤตการณ์สำคัญๆทั้งจาก ราคาน้ำมันโลกผันผวน วิกฤติเศรษฐกิจโลก และวิกฤติเศรษฐกิจการเมืองไทยมาหลายครั้ง
แต่คุณภาพของคน และประสิทธิภาพของการทำงานยังคงดำเนินต่อมาจนสามารถนำพา ปตท.ให้เติบใหญ่มาจนถึงวันที่ ปตท.ขึ้นแท่นเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่างบประมาณแผ่นดินประเทศที่ระดับ 3.2 ล้านล้านบาท โดยมีวงเงินลงทุนต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีเท่ากับ 1 ล้านล้านบาท
ปตท.ยังเป็นบริษัทเดียวจากประเทศไทยที่ติดอันดับ Fortune Global 500 Companies โดยอยู่ในอันดับที่ 81 จาก 500 อันดับแรกของ Fortune 500 และอันดับที่ 180 ใน Forbes 2000 ภายหลังการแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทยในปี 2544
การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทำให้ ปตท.สามารถลงทุนในกิจการต่างๆเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้ในระยะยาวโดยเฉพาะในการลงทุนซื้อกิจการน้ำมันจากต่างชาติ ร่วมลงทุนกับบริษัทสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศเพื่อสำรองพลังงานให้แก่ประเทศรวมถึงสร้าง ควบรวมกิจการ และแตกแขนงธุรกิจต่างๆเพื่อก้าวสู่ความเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่แข็งแกร่ง และสามารถคานอำนาจของบริษัทพลังงานข้ามชาติที่เข้ามาได้สำเร็จ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อีกครั้งในวันที่ ปตท.เดินทางมาครบปีที่ 45 ว่า คนของ ปตท.ยังคงต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อรับมือกับสถานการณ์พลังงานโลกที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน
ซีอีโอ ปตท.ตอกย้ำว่า ปตท.เปลี่ยนแปลงไปมาก นับจากเข้าตลาดวันแรก มี Market Cap มูลค่าตลาดเพียง 30,000 ล้านบาท แต่ทุกวันนี้ มาร์เกตแคปของ ปตท.อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์มากถึง 3.2 ล้านล้านบาท เมื่อน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ ซึ่งเป็นฟอสซิลเดิมมีแนวโน้มของความต้อง การใช้ลดลงในอนาคต หรืออยู่ต่อไปได้อีกราวๆ 10 ปี (ค.ศ.2032) ระหว่างนี้ก็ยังต้องใช้พลังงานเดิมๆกันต่อไป
แต่ให้เตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทนซึ่งต้องเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้า ปตท.จึงต้องวางแผนปรับตัวกันทั้งองคาพยพใน New Vision
“วิสัยทัศน์เดิมที่เราตั้งเป้าหมายไว้เมื่อกว่า 10-20 ปีที่แล้วก็คือ เราอยากเป็นบริษัทน้ำมันไทยชั้นนำข้ามชาติ เพราะเราต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเรามีไม่พอ จึงต้องออกไปข้างนอกแล้วเอาพลังงานกลับเข้ามา ต้องไปค้าขายลงทุนในต่างประเทศ...
วันนี้ เรามาถึงแล้ว ขณะที่เครือข่ายของ ปตท.มีอยู่ทั่วโลก ถึงเวลานี้ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่...ผมตั้งชื่อ วิสัยทัศน์ใหม่นี้ว่า Powering Life With Future Energy and Beyond ตั้ง Powering Life เป็นวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะขับเคลื่อนทุกชีวิตไปข้างหน้า ทั้งผู้คน ชุมชน สังคม ประเทศ และสังคมโลก”
นายอรรถพล อรรถาธิบายต่อ จะขับเคลื่อนด้วยอะไร ก็ด้วย พลังงานในอนาคต ซึ่งจะประกอบไปด้วย พลังงานทดแทน การกักเก็บพลังงาน พวก Energy Storage สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และสนับสนุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
“อธิบายเร็วๆเลยนะ ประเทศ ไทยเราจำเป็นต้องสร้าง New S-Curve เราจึงเติมตัว Beyond เข้าไปด้วย คือ สนับสนุน การลงทุนนอกธุรกิจพลังงาน เราพูดกันมานานเรื่องนี้ และ ปตท.ในวันนี้ก็พร้อมให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ในประเทศให้เกิดขึ้น”
เป้าหมายที่ ซีอีโอ ปตท.พุ่งตรงไปหาก็คือ การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ Medical Hub ปตท.อยากขับเคลื่อนธุรกิจชีวภาพ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อนามัย ความแข็งแรงของผู้คน โดยเฉพาะ ธุรกิจชีวภาพที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำข้อมูลต่างๆให้เพียงพอจะใช้ทดลองกับคน นั่นก็คือ อัญมณีที่ชื่อ “มณีแดง”
ถามว่า มณีแดง คือ อะไร เขาตอบว่า คือ โมเลกุลย้อนวัย ที่เรียกง่ายๆว่า ยาต้านชรา เป็นเคมีที่อยู่ในก๊าซธรรมชาติที่คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเป็นครั้งแรกของโลกว่า สามารถซ่อมแซมโครงสร้าง และเติมโปรตีนให้กับ DNA ในสิ่งมีชีวิตได้
“ที่ผ่านมา มีการทดลองในลิงแสมแล้ว แต่ผมไม่รู้ว่า ลิงหนุ่ม หรือ สาวขึ้นอย่างไร มองไม่ออก” ซีอีโอ ปตท.หัวเราะ
ถึงกระนั้น เขาเชื่อมั่นว่า นอกจาก มณีแดง จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยแล้ว ยังจะสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลให้แก่วงการแพทย์ ตลอดจนถึงคลินิกเสริมความงาม และศาสตร์แห่งการชะลอวัยได้ด้วย
“เราเลือกหยิบเอา New S-Curve 12 รายการมาดูว่า ธุรกิจอะไรที่ ปตท. สามารถช่วยขับเคลื่อนได้ก่อน และเป็นเทรนด์โลกที่กำลังมาแรง และเป็น High Value Business พร้อมตอบโจทย์ Mobility และ Lifestyle ความคล่องตัวในวิถีชีวิตวันนี้ และอนาคต เช่น ระบบขนส่งสำหรับชีวิตที่เร่งรีบ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิต”
สิ่งต่างๆเหล่านี้ หนีไม่พ้นการใช้ AI และ Robotics หรือปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นกระบวนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากคนสู่หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีที่ล้ำยุคกว่า
นายอรรถพล ดึงเรากลับไปดูโฟกัสเรื่องอนาคตของพลังงานไทยอีกครั้งตรงการเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทนที่รักษ์โลกไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ ชีวมวล และ ความร้อนใต้พิภพ ที่เรียกรวมๆกันว่าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แล้วไม่หมดไป (Renewable Energy)
ทุกวันนี้ ปตท.มีบริษัทในเครือที่แข็งแกร่งอย่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ดูแลเรื่องพลังงานทดแทนเป็นหลัก มี บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ดูแลเรื่องการเก็บกักพลังงานทดแทนไว้ใต้ดิน มี บมจ.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ดูแลการลงทุนที่ไม่ใช่พลังงาน เช่น คาเฟ่ อเมซอน และธุรกิจอื่นๆ เช่น ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ให้กับรถมอเตอร์ไซค์สร้างแพลตฟอร์มที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และมีบริการหลังการขายที่เรียกว่า FIT Auto สำหรับให้บริการด้านการดูแลรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
ปตท.ยังมีเทคโนโลยีพิเศษสำหรับการเคลือบผิวตั้งแต่ถนนไปจนถึงยานอวกาศ ที่เป็น Biotechnology Biofuel Bioplastic Biochemical ที่ บมจ.โกลบอล เคมิคอล หรือ GC เป็นผู้รับผิดชอบโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ด้วย
อย่างที่เคยประกาศไว้ ปตท.จะช่วยรัฐบาลในการลดคาร์บอนที่เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จภายในปี 2050 ภายใต้ปฏิบัติการ Net Zero คือ ลดการผลิตที่สร้างคาร์บอนทุกชนิดลงให้ได้
พร้อมๆกับการปลูกป่าเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านไร่ รวมเป็น 3 ล้านไร่ ด้วยการตั้งเป้าหมายว่า จะดูดซับคาร์บอนได้มากถึง 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่ชาวบ้านใน 54 จังหวัดทั่วประเทศ จะสามารถใช้ประโยชน์จากป่าที่ปลูกนี้ได้เป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสุดท้ายว่า ปตท.จะขายคาร์บอน เครดิตให้กับชาติต่างๆในอาเซียนได้ด้วย
การดำเนินงานเหล่านี้ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) GPSC, PTTEP, GC, OR และ PTT จะร่วมกันทำเป้าหมายให้บรรลุผลสำเร็จ
“ยังมีอีกเรื่องที่ ปตท.ลงทุนกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในท่าเรือแหลมฉบัง คือ ระบบราง ปตท.ไม่ได้ไปประมูลแข่งทำรถไฟกับเขา แต่เข้าไปดึงศักยภาพของระบบโลจิสติกส์ที่ซ่อนอยู่ในระบบรางขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลกลับคืนมา”
นายอรรถพล ยังมีแนวคิดที่จะช่วยลงทุนระบบรางเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการค้าขายระหว่างไทย-ลาว และ จีน ภายใต้ระบบรางที่ประเทศไทยใช้อยู่ด้วย รวมทั้งมีโครงการที่จะเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในอนาคตอีกหลายโครงการ
สุดท้ายที่ ปตท.ต้องทำก็คือ จัดตั้งบริษัทชื่อ Mekha Tech เพื่อใช้เป็น Cloud Provider หรือระบบบริการด้านการประมวลผล เป็นหน่วยจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ต่างๆเพื่อลดความยุ่งยากทั้งมวลในการติดตั้ง ดูแลระบบ เครือข่าย
Mekha Tech ยังเป็น Cloud ที่รับวิเคราะห์สถานการณ์ทางธุรกิจ-เศรษฐกิจที่ใช้เป็นข้อมูลสำหรับประมวลผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบทุกโจทย์ของรายละเอียดการจำแนกทรัพยากร และการให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ธุรกิจต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของโลกที่สร้างขึ้นเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้งานทั้ง Hardware และ Softwear โดยพวกเขาไม่ต้องไปลงทุนสร้างขึ้นเอง
ประมวลคำสัมภาษณ์ทั้งหมดนี้ออกมาโดยไม่ต้องใช้ Cloud คงจะเห็นร่วมกันว่า มีแต่ ปตท. และบริษัทในเครือเท่านั้น ที่มีความสามารถมากพอจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในทุกด้านให้สำเร็จสมประสงค์ได้.
ทีมเศรษฐกิจ