“ไลน์” ไม่อยากเป็นแค่ซูเปอร์แอป มองหาโอกาสเติบโตใหม่หลังยอดผู้ใช้อิ่มตัว

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ไลน์” ไม่อยากเป็นแค่ซูเปอร์แอป มองหาโอกาสเติบโตใหม่หลังยอดผู้ใช้อิ่มตัว

Date Time: 26 ก.ค. 2566 06:06 น.

Summary

  • ไลน์รับตลาดเริ่มอิ่มตัวหลังจำนวนผู้ใช้แตะ 54 ล้านคน มองหา New S-Curve หรือโอกาสเติบโตใหม่ ขยับจากซูเปอร์แอปสู่การเป็นเทคคัมปะนีทรงอิทธิพล ตามรอย Naver บริษัทแม่ เปิดรายได้ปี 65 ทะลุ 6,087 ล้านบาท โต 628% เมื่อเทียบกับรายได้ปี 64 ที่ 836 ล้านบาท

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

ไลน์รับตลาดเริ่มอิ่มตัวหลังจำนวนผู้ใช้แตะ 54 ล้านคน มองหา New S-Curve หรือโอกาสเติบโตใหม่ ขยับจากซูเปอร์แอปสู่การเป็นเทคคัมปะนีทรงอิทธิพล ตามรอย Naver บริษัทแม่ เปิดรายได้ปี 65 ทะลุ 6,087 ล้านบาท โต 628% เมื่อเทียบกับรายได้ปี 64 ที่ 836 ล้านบาท

นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันไลน์มีจำนวนผู้ใช้งานในไทยทั้งสิ้น 54 ล้านราย เป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านราย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้งาน 44 ล้านรายเมื่อปี 2562 โดยจำนวนผู้ใช้ใหม่ที่เพิ่มขึ้น 10 ล้านรายใน 4 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก แม้ตัวเลขผู้ใช้งานกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว

“ภาวะอิ่มตัวของผู้ใช้งาน ทำให้ไลน์ต้องมองหาโอกาสเติบโตใหม่หรือ New S-Curve เพื่อดำรงไว้ซึ่งการขยายตัวทางธุรกิจ โดยตลอด 12 ปี ของการเข้ามาทำธุรกิจในไทย สามารถรักษาอัตราเติบโตทางธุรกิจไว้ได้เฉลี่ย 10% เศษไว้ได้อย่างต่อเนื่อง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไลน์ ประเทศไทย ได้แจ้งข้อมูลงบแสดงฐานะการเงินล่าสุดต่อกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2565 (เป็นไปตามปีงบประมาณของบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น) มีรายได้ 6,087 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ซึ่งมีรายได้ 836 ล้านบาท ขยายตัวกว่า 628% ส่วนกำไรในปี 2565 อยู่ที่ 71 ล้านบาท ลดลงจาก 99 ล้านบาทในปี 2564 หรือลดลง 28%

“เป้าหมายของไลน์ขณะนี้ ไม่ได้จำกัดแค่การเป็นซูเปอร์แอป (Super App) เท่านั้น แต่เราอยากเป็นชื่อแรกที่ผู้บริโภคนึกถึง (First in Mind) เหมือนอย่างที่ Naver บริษัทแม่ของไลน์ในเกาหลีใต้เป็น Naver ซึ่งปัจจุบันกระจายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯญี่ปุ่น เป็นเทคคัมปะนีทรงอิทธิพลในเกาหลีใต้ มีฐานผู้ใช้ครอบคลุม โดยเป็นทั้งเว็บเพื่อการค้นหาหรือ Serch Engine และให้บริการแผนที่ด้วย”

นายพิเชษฐ กล่าวถึง New S-Curve ของไลน์ว่า กำลังมองไปที่การหารายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน (Average Revenue per User -ARPU) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีโมเดลที่ชัดเจน เป็นเพียงแนวคิด จากปัจจุบันโมเดลรายได้ส่วนใหญ่ของไลน์มาจากค่าโฆษณา ซึ่งมาจากฐานลูกค้าจำนวนมากของไลน์ ทำให้บริการหลักสำหรับผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นบริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

“เรากำลังศึกษาตลาดเพื่อหาทางเติมเต็มความต้องการลูกค้า ซึ่งอาจมาพร้อมค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ ยกตัวอย่าง ลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ต้องการเก็บข้อมูล แชต (Chat) เอาไว้ อาจนำไปสู่บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ ที่อาจมีการเรียกเก็บค่าบริการ”

โอกาสในการสร้าง New S-Curve ใหม่ของไลน์ ถูกวางกรอบครอบคลุม 4 กลุ่มผู้ใช้งาน เริ่มจาก 1.กลุ่มผู้ใช้ทั่วไป นอกจากการเพิ่มบริการจัดเก็บข้อมูลแชตแล้ว ยังมองถึงบริการเพิ่มเติมที่ต่อยอดจากแอปพลิเคชันแชตของไลน์ที่กำลังเป็นเทรนด์ เช่น บริการด้านสุขภาพ 2.กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ซึ่งต้องหาวิธีเติบโตให้มากขึ้น ปัจจุบันไลน์มีลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่หลักพันรายที่ใช้บริการอยู่ แต่ส่วนใหญ่ยังใช้งานในลักษณะเป็นเครื่องมือสื่อสาร ทั้งที่ไลน์มีบริการที่ครอบคลุมเครื่องมือด้านการบริหารจัดการองค์กร (Organi zation Management Tools) ที่ครอบคลุมกว่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องบุกตลาดและสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น 3.กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ที่อาจต้องปรับราคาค่าบริการให้เหมาะสมเพื่อขยายฐานลูกค้าสู่ธุรกิจขนาดเล็กที่มีคนทำเพียงคนเดียว 4.ลูกค้าภาครัฐ ที่ต้องขยายเพิ่มจากจำนวนที่มีไม่มากนัก

นายพิเชษฐ กล่าวว่า ปัจจุบันไลน์มีโปรดักส์ครอบคลุมบริการหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ LINE Chat, LINE Today ให้บริการข่าว, ไลน์แมนวงใน บริการส่งอาหาร สินค้า ขนส่ง, LINE BK ให้บริการเงินกู้, LINE Shopping บริการอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น โดยบริการเหล่านี้ แม้เติบโตและทำรายได้แตกต่าง แต่เป็นบริการหลักที่จะดำเนินต่อไป

ส่วนเมื่อถามถึงสถานการณ์บ้านเมือง นายพิเชษฐ กล่าวอย่างระมัดระวังว่า ลูกค้าของไลน์กำลังแสดงความกังวลและรอดูทิศทางการจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ว่าอย่างไรเชื่อว่าเอกชนไทยสามารถหาวิธีทำงานและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ หากไม่มีการขัดแย้งหนักๆ อย่างไรก็ตามยิ่งตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าใดยิ่งจะดีต่อประเทศ โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ