รถไฟจีน-ลาวหนุนส่งออกผลไม้ "อรมน" รุกส่องลู่ทางขยายตลาดสินค้าไทย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รถไฟจีน-ลาวหนุนส่งออกผลไม้ "อรมน" รุกส่องลู่ทางขยายตลาดสินค้าไทย

Date Time: 13 ก.ค. 2566 06:30 น.

Summary

  • กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผู้ประกอบการไทยหันมาส่งออกผลไม้ไปจีน ผ่านเส้นทางรถไฟจีน–ลาวมากขึ้น ดันยอดส่งออกทุเรียน 5 เดือนแรกปีนี้โต 364.69% “อรมน” สั่งลุยพร้อมเดินหน้าหาลู่ทางขยายตลาดสินค้าไทยในลาวเพิ่ม โดยใช้แต้มต่อจาก FTA

Latest

เศรษฐกิจคอนเทนต์อาเซียนโตพุ่ง 4.85 แสนล้าน สวนทางรายได้ “ครีเอเตอร์” ไม่ได้เยอะอย่างที่ฝัน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผู้ประกอบการไทยหันมาส่งออกผลไม้ไปจีน ผ่านเส้นทางรถไฟจีน–ลาวมากขึ้น ดันยอดส่งออกทุเรียน 5 เดือนแรกปีนี้โต 364.69% “อรมน” สั่งลุยพร้อมเดินหน้าหาลู่ทางขยายตลาดสินค้าไทยในลาวเพิ่ม โดยใช้แต้มต่อจาก FTA

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกผลไม้เขตร้อนของไทยไปจีนเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง หลังจากรถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ธ.ค.64 เพราะช่วยทำให้การส่งออกจากไทยคล่องตัว และลดระยะเวลาการขนส่งได้มาก อีกทั้งยังขนส่งด้วยตู้ปรับอากาศ ทำให้ผลไม้ยังคงสด ไม่เน่าเสีย ทำให้คาดว่าผู้ประกอบการไทยจะใช้การขนส่งผลไม้เส้นทางนี้มากขึ้นในอนาคต

“รถไฟจีน-ลาว ลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าไทยจากหนองคาย ผ่านลาวไปคุนหมิงของจีนเหลือไม่เกิน 15 ชั่วโมง จากที่เคยใช้เวลาขนส่งทางถนนผ่านเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน”

แห่ใช้รถไฟจีน–ลาวขนผลไม้ไทย

นางอรมน กล่าวต่อว่า จากการหารือกับผู้บริหารโครงการท่าบก (Dry Port) ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมลงพื้นที่สำรวจท่าบกท่านาแล้ง และสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ส่งออกจากไทยผ่านด่านหนองคายไปยัง สปป.ลาว เพื่อขึ้นรถไฟไปจีน พบว่า มูลค่าส่งออกจากไทยตามเส้นทางนี้ เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 65 ขณะที่ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 66 อยู่ที่ 2,848.41 ล้านบาท ในจำนวนนี้ สัดส่วน 72% หรือ 2,073.18 ล้านบาท เป็นการส่งออกทุเรียนสด เพิ่มถึง 364.69% จากช่วงเดียวกันของปี 65 สำหรับสินค้าอื่น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลายข้าวเหนียว ยางพารา เม็ดพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีผลไม้สดชนิดอื่นที่มีแนวโน้มทำตลาดได้ดีในจีน เช่น มะม่วง มูลค่า 1.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 218.35% สับปะรด 6.24 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 84.04% ลำไย 108.2 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 8.82% และมังคุด 219.5 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4.18% เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่าผลไม้ไทยได้รับความนิยมมาก เกษตรกรและผู้ส่งออกผลไม้ไทยอาจใช้โอกาสนี้ทำตลาดเพิ่มการส่งออกผลไม้ประเภทอื่นๆไปจีน

ขณะเดียวกัน ยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีทั้งอาเซียน-จีน และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจีนไม่เก็บภาษีนำเข้าผลไม้ไทยแล้ว ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.66 ไทยใช้สิทธิประโยชน์อาเซียน-จีน ส่งออกทุเรียนสดไปจีน 2,022 ล้านเหรียญฯ และใช้สิทธิ RCEP ส่งออก 7.5 ล้านเหรียญฯ

หนุนลาวพัฒนา “แลนด์ล็อกสู่แลนด์ลิงก์”

นางอรมน กล่าวอีกว่า สำหรับ “ท่าบกท่านาแล้ง” ที่ตั้งอยู่ในเวียงจันทน์ โลจิสติกส์พาร์กนั้น เป็นหนึ่งในโครงการที่ สปป.ลาวพัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked) สู่ประเทศที่เชื่อมต่อทางพรมแดน (land-linked) เป็นจุดอำนวยความสะดวกครบวงจรในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากไทย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) เข้าสู่ สปป.ลาว สินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้ส่วนหนึ่งเข้าสู่ลาว และอีกส่วนขึ้นรถไฟจีน-ลาวสู่ตลาดจีนโดยทางฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนการพัฒนาท่าบกท่านาแล้งตามที่ฝ่าย สปป.ลาวต้องการให้ช่วยเหลือ ทั้งเรื่องกลไกการอำนวยความสะดวกการค้า หรือแม้แต่การหาลูกค้าจากมาเลเซียที่ต้องการขนส่งสินค้าผ่านไป-ลาว-จีน เราก็ยินดีสนับสนุน

นายสาคร พิลางาม ผู้อำนวยการใหญ่ท่าบกท่านาแล้ง กล่าวว่า ท่าบกท่านาแล้ง อยู่ระหว่างลงทุนมหาศาล เพื่อพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เพื่อเปลี่ยนลาวประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลให้เป็นประเทศที่เชื่อมต่อทางบก โดยมีหลายโครงการที่จะเชื่อมต่อเวียดนาม และจีน รวมถึงร่วมมือกับเวียดนามพัฒนาท่าเรือ และเขตเศรษฐกิจพิเศษในเวียดนาม

ส่วนรถไฟจีน-ลาวนั้น ไทยใช้เส้นทางนี้ ขนส่งสินค้าผ่านลาวไปจีนมากขึ้น ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค.ปีนี้ มีตู้ขนส่งสินค้าจากไทยมาเปลี่ยนถ่ายที่ลาวและต่อไปจีนแล้ว 2,126 ตู้ และมีสินค้าจากจีนมาเปลี่ยนถ่ายที่ลาวและต่อไปไทยแล้ว 2,072 ตู้ จึงต้องการให้ไทยใช้เส้นทางนี้ขนส่งสินค้าผ่านลาวไปจีนให้มากขึ้น

ขณะที่นางบัวสอน วงถาวอน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สปีด อินเตอร์เนชันแนล ทรานสปอร์ต ลาว จำกัด กล่าวว่า บริษัทรับช่วงต่อจากบริษัทฝั่งไทย ในการขนส่งผลไม้จากด่านหนองคาย เข้ามาที่ท่าบกท่านาแล้ง และสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ เพื่อใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ขนส่งผลไม้ไทยไปจีน ซึ่งในปีนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. มีการขนส่งผลไม้ไทยแล้วกว่า 800 ตู้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาก ผลไม้ที่ขนส่งมากๆ คือ ทุเรียน ลำไย มะพร้าว ส้มโอ ฯลฯ แต่มีปัญหาที่รถไฟจากไทยมาสถานีเวียงจันทน์ใต้ ยังมาไม่ถึงจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ต้องมีหัวรถจักรลากตู้สินค้าเพื่อมาเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาว ถ้าไทยสร้างสถานีให้ถึงจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าได้ จะสะดวกมากขึ้น

โอกาสไทยขยายตลาดกาแฟ–นมควาย

สำหรับการสร้างโอกาสเพิ่มเติมให้กับเอกชนไทย นางอรมน กล่าวว่า ได้มีการหารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Café Amazon หลวงพระบาง ถึงโอกาสการขยายการค้า และการลงทุนใน สปป.ลาว โดยพบว่า สปป.ลาว เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการลงทุนร้านคาเฟ่ เพราะเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก อีกทั้งคนลาวรุ่นใหม่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแบรนด์ ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้ร้านคาเฟ่มีโอกาสเติบโตสูง

“ไทยและ สปป.ลาว น่าจะร่วมมือสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย ร่วมทุน และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน เพื่อการค้ากาแฟระหว่างกัน”

ทั้งนี้ นางอรมนยังมีโอกาสเยี่ยมชมฟาร์มควายนมของหลวงพระบาง (Lao Buffalo Dairy) ซึ่งรีดน้ำนมและทำผลิตภัณฑ์ เช่น ชีส ไอศกรีม จำหน่ายหน้าฟาร์ม โรงแรม ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ในหลวงพระบาง สร้างรายได้ 45,000 เหรียญฯต่อปี พบว่า นมควายเป็นทางเลือกให้กับผู้แพ้นมวัว มีแคลเซียม และโปรตีนสูง มีคอเลสเทอรอลต่ำ ไม่มีกลิ่นคาว น่าจะเป็นโอกาสของไทยขยายตลาดนมควายและผลิตภัณฑ์ในลาว และประเทศอื่นได้

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจตลาดนมโคและผลิตภัณฑ์ของไทยใน สปป.ลาว พบมีนมสดพาสเจอไรซ์ และนมยูเอชทีแบรนด์ไทยวางจำหน่าย โดยลาวเป็นตลาดส่งออกนมอันดับ 2 ของไทย รองจากกัมพูชา ปี 65 ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ 593.11 ล้านเหรียญ เพิ่ม 1.7% จากปี 64 เป็นการส่งออกไป สปป.ลาว 76.89 ล้านเหรียญฯ ส่วน 5 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกแล้ว 262.77 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3.5% เป็นการส่งออกไปลาว 36.89 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 13.3%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ