หอมกลิ่นหม่าล่า "ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า" เปิดตลาดในไทย พร้อมชิงส่วนแบ่ง 6 พันล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หอมกลิ่นหม่าล่า "ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า" เปิดตลาดในไทย พร้อมชิงส่วนแบ่ง 6 พันล้าน

Date Time: 5 ก.ค. 2566 18:31 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ไมเนอร์ฯ ได้เดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอรับการเติบโต พร้อมชิงส่วนแบ่งตลาดร้านอาหารจีนในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท ผ่านการเปิดตัวร้าน "ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า" (Riverside Grilled Fish & Mala) ร้านอาหารจีนสไตล์ฉงชิ่ง-เสฉวน ชื่อดังที่มีสาขารวม 149 สาขาทั้งในจีนและสิงคโปร์

Latest


หากพูดถึง บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง ที่นับเป็นอาหารดาวเด่นของคนรักการ "กิน" เลยก็ว่าได้ โดยชื่อแบรนด์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าล้วนแต่เป็นเชนร้านอาหารในเครือ ของ "ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป" (Minor Food Group) หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีร้านอาหารกว่า 2,500 สาขา ใน 24 ประเทศ ถือเป็นผู้นำบุกเบิกการนำเข้าแบรนด์ร้านอาหารยอดนิยมจากทั่วทุกมุมโลก มาเปิดตลาดให้ผู้บริโภคคนไทยได้สัมผัส

ทำไมต้องเป็น "ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช"

และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ไมเนอร์ฯ ได้เดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอรับการเติบโต พร้อมชิงส่วนแบ่งตลาดร้านอาหารจีนในประเทศไทย ล่าสุดได้เปิดตัวร้าน "ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า" (Riverside Grilled Fish & Mala) ร้านอาหารจีนสไตล์ฉงชิ่ง-เสฉวน ชื่อดังที่มีสาขารวม 149 สาขา ทั้งในจีน และสิงคโปร์ ที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2548 ณ กรุงปักกิ่ง สู่การปักหมุดเปิดสาขาแรกในประเทศไทย หวังเจาะฐานกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อระดับกลาง-สูง ทั้งชาวไทยและต่างชาติ 

นายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารจีนในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมูลค่าตลาดร้านอาหารจีนในไทยที่เติบโตราว 5-6 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นอาหารยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ในช่วงนี้ โดยที่ในอดีตร้านอาหารจีนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเชน แต่เป็นกลุ่ม independence ค่อนข้างเยอะ กระทั่งช่วงที่ผ่านมามีเชนร้านอาหารใหญ่ในเมืองไทยค่อนข้างเยอะ 

อีกทั้งยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ไมเนอร์ ฟู้ด ได้เล็งเห็นถึงโอกาสการขยายธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการนำเข้าร้าน "ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า" (Riverside Grilled Fish & Mala) ร้านอาหารจีนสไตล์ฉงชิ่ง-เสฉวนชื่อดังเข้ามาต่อยอดเปิดตลาดในประเทศไทย ที่ไมเนอร์ฯ เข้าซื้อแบรนด์ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจะมาช่วยเสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอของเครือ ไมเนอร์ ฟู้ด ให้ก้าวสู่การเติบโตอย่างเต็มกำลังในปีนี้

ผ่านการนำเสนอเมนู "ปลาย่างกระทะร้อนสไตล์ฉงชิ่ง" เมนูซิกเนเจอร์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกปลาได้ถึง 4 ชนิด มาพร้อมกับซอสสูตรลับที่เลือกได้ตามความชอบที่มีรสชาติแตกต่างกันถึง 5 สไตล์ พร้อมด้วยเมนู "หม่าล่าผัด" สูตรต้นตำรับ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย รวมถึงสารพัดเมนูอาหารจีนฉงชิ่ง-เสฉวนที่ครบเครื่อง ด้วยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 699 บาท ในบรรยากาศร้านที่ออกแบบให้ได้กลิ่นอายความเป็นจีนที่ทันสมัย

ศึกชิงเค้ก 'ร้านอาหารจีน' ไม่หวั่นแม้มีผู้เล่นในตลาดก่อนหน้า

ทั้งนี้จากการที่มีผู้เล่นในตลาดร้านอาหารจีนอยู่ก่อนหน้านี้ และดูเหมือนกับว่าจะมีร้านยอดนิยมอยู่นั้น เขาไม่ได้มองว่าเป็นความยาก เนื่องจากมีของดีอยู่แล้ว และใช้เวลาในการศึกษาแบรนด์นี้ค่อนข้างนาน จึงเห็นโอกาส และจังหวะ ซึ่งตลาดเองก็ค่อนข้างจะเปิดรับ ผู้บริโภคค่อนข้างที่จะคุ้นเคย และคนจีนในไทยก็มีจำนวนมากขึ้น อีกทั้งมองว่าไม่ได้มีคอนเซปต์แบบนี้ในเมืองไทย และไม่ได้มีดีเฉพาะหม่าล่าซุปตัวอื่นก็ดีด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่จะทำให้ธุรกิจนี้ไปต่อได้ โดยอย่างน้อยในช่วงต้นจะเปิดประมาณ 2-3 สาขา เพื่อดูผลตอบรับ หากดีจะขยายต่อ โดยเริ่มแรกอยากสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าก่อน 

ขณะเดียวกัน การที่ไม่ได้เข้าไปในตลาดเป็นเจ้าแรก ถือเป็นความท้าทายหรือไม่นั้น เขาบอกว่า โดยคอนเซปต์ ปลาย่าง ถือเป็นเจ้าแรกสไตล์ฉงชิ่ง และร้านอาหารสไตล์ฉงชิ่งไม่ได้มีเยอะ จึงเชื่อมั่นว่าโดยศักยภาพของไมเนอร์เองจะสามารถขยายสาขาได้ค่อนข้างดี และถึงจุดหนึ่งจะสเกลอัปได้เร็ว แต่ณ ตอนนี้ต้องเมกชัวร์ว่า "ตอบโจทย์ผู้บริโภค" จริงๆ ส่วนคำว่า "ตลาดมีอยู่" มองว่ายิ่งดี เพราะจะเป็นตัวการันตีว่ามีดีมานด์ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะเป็นเทรนด์อาหารเกาหลีที่ค่อนข้างมาแรง แต่ ณ ตอนนี้เทรนด์อาหารจีนก็จะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่โตได้ดี และไมเนอร์ฯ เองก็เข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม 

ส่วนโลเคชั่นจะเป็นพื้นที่ย่านออฟฟิศ และที่อาศัยของคนไทย-จีน ขณะที่ต่างจังหวัดคงจะต้องดูในระยะต่อไป แต่เชื่อว่ามีศักยภาพที่จะไปได้ แต่ ณ วันนี้จะโฟกัสในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน ส่วนถัดไปอาจจะเป็นในพื้นที่หัวเมือง เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่มีคนจีนอยู่ด้วยและเป็นเมืองท่องเที่ยวที่จะไปได้แน่นอน เนื่องจากแบรนด์นี้มีกลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าคนไทย-จีน

เรือธงตอบโจทย์คนรักอาหารจีน

นายธันยเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับร้านริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า สาขาแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการ ณ ชั้น 6 โซน beacon ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และจะขยายสาขา 2 ที่เซ็นทรัล พระราม 9 ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทุกช่วงวัย ทั้งวัยรุ่น คนทำงาน และกลุ่มครอบครัว 

ในส่วนของกำลังซื้อในช่วงครึ่งปีหลังมองว่า ยังไปได้แต่ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยง ซึ่งดูจากภาคการส่งออกที่ยังคงติดลบ หรือแม้กระทั่งภาพรวมของกำลังซื้อ ราคาสินค้าเกษตร ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ และเศรษฐกิจโลกก็ยังคงทรงตัว จึงไม่ได้มองว่าง่าย แต่เชื่อว่าเราจะยังคงเติบโต ซึ่งก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ความท้าทายในการคัดเลือกและนำเข้าร้านอาหารที่ "ใช่" ของไมเนอร์ ฟู้ด ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

1. Exploration ทำการคัดเลือกเบื้องต้นจากลิสต์ร้านอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากนานาประเทศ เพื่อเฟ้นหาร้านที่โดดเด่นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

2. Taste ส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อไปทดลองชิมอาหาร ที่ต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย

3. Success พิจารณาถึงปัจจัยความสำเร็จของร้าน อย่างความนิยม ลูกค้า การตอบรับ ยอดขาย บิซิเนสโมเดล ไปจนถึง Brand Story และที่สำคัญคือจุดแข็งของพาร์ตเนอร์ชิป ว่าเข้ากับไมเนอร์ฯ หรือไม่ เพราะการร่วมมือของพาร์ตเนอร์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งหมดนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการตัดสินใจเลือกแต่ละร้านมาเปิดตัวในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

"ด้วยความเชี่ยวชาญของไมเนอร์ ฟู้ด ประกอบกับผลการดำเนินงานของร้านทั่วโลกในทุกสาขาที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจว่า ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า จะเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ร้านอาหารเรือธงในเครือไมเนอร์ ฟู้ด ที่จะตอบโจทย์คนรักอาหารจีน ตลอดจนสามารถครองใจผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี" นายธันยเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ