กสทช.แก้ประกาศป้องกันผูกขาดปี 49 และประกาศควบรวมกิจการปี 61 ชงเข้มให้ต้องขออนุญาตครอบคลุมทุกมิติของการควบรวมกิจการ “ศุภัช” ย้ำเพื่อการกำกับดูแลให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจ ไม่มีผลย้อนหลังต่อกรณีทรูควบรวมดีแทคและเอไอเอสซื้อ 3BB
นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า เพื่อให้การกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีพฤติกรรมการแข่งขันกันให้มากที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งจากการได้รับบริการที่ดี ค่าบริการยุติธรรม ขณะเดียวกันก็จะต้องส่งเสริมให้ผู้ให้บริการสามารถมีรายได้และมีความสามารถอย่างพอเพียงในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆได้นั้น
คณะอนุกรรมการด้านการแข่งขันราคาซึ่งมีตนเป็นประธาน จึงได้มีการปรับปรุงประกาศเรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และประกาศเรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561
โดยในส่วนของประกาศปี 2549 ได้ปรับให้มีความชัดเจนขึ้น ในเรื่องของรูปแบบการควบรวมกิจการที่เข้าข่ายต้องขออนุญาต ให้ครอบคลุมในทุกมิติของการรวมธุรกิจ ทั้งในปัจจุบันและที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจาก ประกาศฉบับเดิมนั้น ครอบคลุมการรวมธุรกิจบางประเภท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขธุรกิจที่เหมาะสมกับยุคนั้น แต่ไม่เท่าทันเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน
ส่วนสำหรับประกาศปี 2561 แต่เดิมมีความไม่ชัดเจน ว่าจะต้องทำอะไรบ้างและอย่างไร รวมถึงต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งในประกาศฉบับใหม่นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องของรูปแบบการรวมธุรกิจในลักษณะต่างๆ และการกำหนดวิธีการและกระบวนการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ชัดเจน ตั้งแต่การวิเคราะห์โครงสร้างตลาด (Market Structure Analysis) ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) และการกระจุกตัวในตลาด (Market Concen tration) การวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
“ประกาศยังกำหนดให้มีการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในลักษณะของแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium Model) เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต่อผู้บริโภค และตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นหลังการรวมธุรกิจ รวมทั้งผลกระทบต่อราคาหรือค่าบริการด้วย นอกจากนั้น ยังต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาด (Entry) ของผู้ประกอบการรายใหม่และคู่แข่งขันในทุกตลาดที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การประเมินประสิทธิภาพ (Efficiency) การประหยัดต่อขนาด (Econo mies of Scale) และการประหยัดอันเนื่องมาจากขอบข่ายการผลิต (Economies of Scope) ที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจด้วย”
นายศุภัช กล่าวว่า การแก้ไขประกาศ 2 ฉบับดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นมาระยะหนึ่งแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมบอร์ดกสทช. และจากนั้นต้องผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วย อย่างไรก็ตามประกาศดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลังต่อการควบรวมกิจการก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ตลอดจนการเข้าซื้อกิจการ 3BB ของกลุ่มเอไอเอส.