เทศกาลเปิดเทอมใกล้จะทยอยเปิดเรียนกันในอีกวันสองวันที่จะถึงนี้ เป็นช่วงเวลาที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายมีภาระค่าใช้จ่ายสูงมากไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน สมุด หนังสือ ชุดนักเรียน ไปจนถึงหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ซึ่งหลายๆครอบครัวชักหน้าไม่ถึงหลังต้องดิ้นรนหาเงินจากหลายๆแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินกู้ สินเชื่อ การพึ่งพาโรงรับจำนำ กับความจำเป็นเพื่ออนาคตของลูกน้อยกัน เรียกว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลที่เม็ดเงินสะพัดสูงมากเทศกาลหนึ่งในรอบปีและค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นในทุกๆปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จากกลุ่มตัวอย่าง 550 คน สำหรับการเตรียมความพร้อม พฤติกรรมในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเปิดเทอมใหญ่ปี 2566 ของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนพบว่า ในปีนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดภาคเรียนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลสะพัด 23,800 ล้านบาท เพิ่มขั้น 4.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจากค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน
เนื่องจากราคาสินค้าปรับขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของผู้ปกครองยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังผลให้ต้องปรับพฤติกรรมซื้อสินค้าที่จัดโปรโมชันลดราคา ซื้อสินค้าที่มีราคาไม่สูง และบางกลุ่มเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ผู้ประกอบการในกลุ่มโมเดิร์นเทรดมีการจัดโปรโมชันสินค้าราคาพิเศษ และการนำสินค้าที่มีราคาไม่สูงมาทำตลาดเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและภาระรายจ่ายที่สูง
โดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีความกังวล เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง (กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน) และมีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คน เลือกที่จะรับมือด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองที่มีรายได้และเงินออมไม่เพียงพอจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากการยืมญาติ/เพื่อน สินเชื่อจากสถาบันการเงิน โรงรับจำนำ รวมถึงการขอผ่อนผันหรือผ่อนชำระกับทางโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ รัฐบาลได้มีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงเงินอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ปกครองในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8.0% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 2,700 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมจาก 1,230 ตัวอย่างทั่วประเทศพบว่า เทศกาลเปิดเทอมปี 2566 มีเงินสะพัดสูงถึง 57,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.30% เทียบปี 62 ที่มีค่าใช้จ่าย 54,972 ล้านบาท (ปี 63-65 ไม่ได้สำรวจช่วงโควิด และเรียนออนไลน์)
นับเป็นการเพิ่มสูงสุดในรอบ 14 ปี ตั้งแต่เริ่มสำรวจปี 53 คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 19,507 บาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากปี 62 ที่เฉลี่ย 18,299 บาท สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มาจากค่าบำรุงโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน รองเท้า ถุงเท้า ค่าเรียนพิเศษ เป็นต้น
มีข้อสังเกตว่า แม้ผู้ปกครอง 63.5% บอกว่า มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม แต่ในจำนวนนี้ถึง 50.3% นำเงินออมมาใช้จ่าย อีก 46.8% นำเงินเดือนมาใช้จ่าย มีเพียง 3% ที่นำโบนัส รายได้พิเศษ/อื่นๆมาใช้ และอีก 36.5% บอกมีเงินไม่เพียงพอ จึงต้องจำนำทรัพย์สิน กู้ในและนอกระบบ ยืมญาติพี่น้อง เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตบัตรกดเงินสด ให้พักการเรียน/ ออกมาหางานทำ
ขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่า ผู้ปกครองมากถึง 66.1% มีหนี้สิน โดยมีมูลหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 340,750 บาท มีเพียง 33.9% ไม่มีหนี้สิน และเห็นว่าโครงการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีความสำคัญมาก ช่วยลดภาระของผู้ปกครองได้มาก
สำหรับความเห็นต่อการศึกษาไทยนั้น ส่วนใหญ่เห็นว่าหลักสูตรไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จำนวนครูไม่เพียงพอต่อความต้องการ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยเร่งรัดด้านการเรียนเกินไป และผู้ปกครองมากกว่า 85% มองว่า การเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นมาก และยอมจ่ายค่าเรียนพิเศษ ขณะที่บางส่วนมองว่า หลักสูตรการเรียนปัจจุบันส่งผลให้บุตรหลานเกิดความเครียด
แต่ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำหาเงินหาทองแค่ไหน หากมีไม่พอก็หาหยิบยืมก็เพื่อการศึกษาของลูกหลานที่หวังว่าอนาคตสดใสในวันข้างหน้ารออยู่!
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th