เครือสหพัฒน์ พัฒนาอาคารสำนักงาน KingBridge Tower พระราม 3 ด้วยโมเดล Circular Economy Models ด้วยงบลงทุน 6 พันล้าน
นางสาวธนินธร โชควัฒนา ผู้อำนวยการโครงการคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ โดย บริษัท คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ จำกัด บริษัทในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า อาคาร คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ หรือ KingBridge Tower เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ สร้างชุมชนที่มีความสุข ย่านพระราม 3 ซึ่งเป็นย่านที่เครือสหพัฒน์เติบโตมาให้ดีและเติบโตไปพร้อมกัน
ขณะเดียวกันย่านพระราม 3 ถือเป็นย่านสำคัญทางเศรษฐกิจ เชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญอย่างสาทรและสีลม ซึ่งเราเชื่อว่าย่านธุรกิจและที่อยู่อาศัยจะขยายมาทางพระราม 3 มากขึ้น จึงตั้งใจพัฒนา คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ ให้เป็นสถาปัตยกรรมเคียงคู่กับสะพานภูมิพล และเป็นความภาคภูมิใจของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้
สำหรับ KingBridge Tower ถือเป็นอาคารสูงแห่งแรกของเครือสหพัฒน์หลังผ่านการดำเนินงานมากว่า 80 ปี ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นบ้านหลังแรกเพื่อให้บริษัทในเครือได้มาอยู่ร่วมกันและเป็นพื้นที่ให้พันธมิตรได้มาพบปะ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทุกๆ องค์กรได้เติบโตมากยิ่งขึ้น นำไปสู่แนวคิด The Spirit of Synergy เชื่อมทุกความสำเร็จอย่างยั่งยืน
เรามุ่งมั่นและตั้งใจที่จะให้ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ เป็นบ้านที่ทุกๆ องค์กรจะรวมพลังกันสร้างความสำเร็จ สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างๆ พาร์ทเนอร์ และทุกๆ คนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อาคารและ facilities และยังเผื่อแผ่ไปถึงชุมชนและสังคมอีกด้วย
โดย Synergy หมายถึง การรวมตัวกันของผู้คนและองค์กรแล้ว ในทางการออกแบบ เรามีโจทย์ว่าจะต้องไม่เบียดเบียน คืออยู่ร่วมกับสะพานและบริบทโดยรอบอย่างกลมกลืนสอดประสานไปกับสะพานภูมิพล ทั้งทัศนวิสัยที่กลมกลืนและสอดคล้องไปกับบริบทโดยรอบของผู้คนในชุมชน ด้วยการนำโมเดลตามแนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy Models มาใช้พัฒนาโครงการในทุกมิติ ด้วยงบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่อกรุงเทพมหานคร จึงได้เลือกพันธมิตรมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญ อย่าง A49 สถาปนิกผู้ออกแบบหลักของโครงการ มาร่วมออกแบบตึกคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ อีกทั้งยังได้ Mott Macdonald บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาระดับโลก ผู้ออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างให้กับสะพานภูมิพลและผลงานระดับโลกหลายโครงการมาผนึกพลังร่วมกัน รวมถึงพันธมิตรมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอื่นๆ
เช่น บริษัท Thai Obayashi ผู้ดำเนินงานก่อสร้างหลัก (Main Contractor) และ บริษัท Stonehenge Inter ในฐานะผู้ควบคุมงาน, เครือ SCG และกลุ่มบริษัท YSH ผู้ดูแลงาน Façade และพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ เป็น Iconic building สัญลักษณ์แห่งใหม่ที่โดดเด่นสง่างามด้วยวิวแม่น้ำเจ้าพระยาบนถนนพระราม 3
ด้านนายเมธินทร์ จันทรอุไร กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า คำว่า Iconic building ของเราคือ ต้องการสร้างอาคารที่มีเสน่ห์ อาจจะเป็นอาคารที่ไม่ได้หันมองทันทีก็ได้ แต่ถ้าคได้หันมามองแล้วจะสะกดคุณได้ทันที โดดเด่นอยู่คู่กับสะพานภูมิพล ซึ่งเรียกว่าเป็น Harmonious Approach คือไม่ได้สร้างมาแข่งกัน แต่มาเสริมกัน
ส่วนคำว่าไม่เบียดเบียน ต้องเริ่มต้นจากการที่อาคารต้องไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม นั่นคือเรื่องความยั่งยืน จึงนำแนวคิด Passive Design หรือ สถาปัตยกรรมอาคารสูงที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
โดยออกแบบขึ้นจากสภาพแวดล้อมจริงในพื้นที่ ทั้งเรื่องแรงต้านลมที่ปะทะตัวอาคารในระดับความสูงที่แตกต่างกัน และการเปิดพื้นที่เพื่อต้อนรับธรรมชาติในทุกประสาทสัมผัส หากลองสังเกตจะเห็นว่าตัวอาคารมีลักษณะเหมือนเอียงสอบขึ้นแล้วโค้งตรงมุมปลายอาคารตามอากาศพลศาสตร์ เพื่อลดแรงต้านของลม ร่วมกับอาคารที่เปลี่ยนระนาบ 2 ช่วง ซึ่งออกแบบเป็นช่องลมลอดเพื่อลดแรงต้านอากาศ
นอกจากนี้ ภูมิอากาศเมืองร้อนก็เป็นโจทย์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างสถาปัตยกรรมของ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ สถาปนิกจึงติดตั้งฟินตามแนวนอนรอบอาคารที่ยื่นมากน้อยต่างกันไปตามระดับแสงแดดที่ส่องถึง เพื่อให้เป็นร่มเงาให้ตึก ลดความร้อนที่เข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ใช้แอร์ลดลงและปล่อยความร้อนออกจากตัวอาคารน้อยลง
โดยการออกแบบที่ตอบโจทย์แนวคิด Synergy สะท้อนผ่านพื้นที่ส่วนกลางหรือ Re-tell (Retail) พื้นที่ที่ดีไซน์ให้เป็น Open Space เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และทำกิจกรรม ยกแคนทีนขึ้นมาบนชั้น 3 ซึ่งอยู่ระดับเดียวกับสะพานภูมิพล พร้อมสาธารณูปโภคส่วนกลางครบครัน ให้ผู้ใช้งานได้เห็นวิวโค้งน้ำ วิวเมือง กระโดงสะพาน
นอกจากนี้ยังรายล้อมไปด้วยสวนธรรมชาติ ที่ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นมุมรับประทานอาหารกลางวัน พื้นที่ระดมสมอง ประชุมกึ่งทางการ หรือจะวิ่งจ๊อกกิ้งตอนเย็น กลายเป็นพื้นที่มีความหมายและทำให้ผู้คนมีรอยยิ้มและความสุข แนวคิด Synergy กินพื้นที่ไปถึงชั้นที่มี Water Scape ด้านบนที่เป็นพื้นที่กิจกรรมที่เป็นเหมือนกับสะพานที่ยื่นออกมาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับจัดกิจกรรม โดยมีฉากหลังเป็นวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ.