ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ผู้ใช้รถยนต์ดีเซลก็ได้ยิ้มกันอยู่บ้าง เพราะราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวลดลง นักวิเคราะห์ชี้ว่ามีเงินไหลเข้ากองทุนในระดับ 4-5 บาทต่อลิตร จึงมีการลดราคาน้ำมันดีเซลไป 4 ครั้ง ครั้งละ 0.50 บาทต่อลิตร รวมเป็น 2.00 บาทต่อลิตร แต่เมื่อย้ายมาที่ฝั่งเบนซินบ้าง กลับพบว่าราคาน้ำมันเบนซินในตลาดโลกนั้นค่อนข้างคงที่ สถานการณ์นี้ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศลดลงเพียงเล็กน้อย เสียงโอดครวญจากฟากนี้จึงชัดขึ้น เพราะผู้บริโภคก็ยังเจ็บเล็กๆ จากการที่ต้นทุนด้านการขนส่งแทบไม่ได้ลดลงเลย อะไรเป็นเหตุผลให้ราคาน้ำมันเบนซินยังผันผวนกันอยู่แน่ นักวิเคราะห์ชวนไปค้นหาคำตอบกัน
ความผันผวนจากความต้องการและฤดูกาล
ราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินมีความสัมพันธ์ต่อกันพอสมควร หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินในตลาดโลกพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วราคาน้ำมันดีเซลจะสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินประมาณ 3-5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ความต้องการในบางสถานการณ์ หรือบางฤดูกาล ก็ทำให้ราคาน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซินปรับตัวขึ้น หรือลดลงได้แตกต่างกันไป เช่น ในช่วงฤดูหนาวที่ความต้องการน้ำมันดีเซลมีมาก ราคาน้ำมันดีเซลก็จะสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันเบนซิน ในขณะที่ฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูร้อน ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจะมีมากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินในช่วงนี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดีเซล ยกตัวอย่างช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซิน อยู่ที่ระดับ 19-25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราคาน้ำมันดีเซลก็ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันเบนซิน แต่ก็มีบางช่วงที่น้ำมันเบนซินสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซล
มาตรการหนึ่งส่งผลต่ออีกสถานการณ์หนึ่ง
นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเลือกตรึงเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยอาศัยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการตรึงราคาดีเซล ซึ่งจะกำหนดให้ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันเบนซินนั้นให้เป็นไปตามกลไกตลาด เรื่องน่ารู้คือ น้ำมันเบนซินนั้น ทางกองทุนฯ ไม่ได้กำหนดค่าการตลาดตายตัว และการเฉลี่ยค่าการตลาด ก็จะต้องนำปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละชนิดมาคำนวณร่วมด้วย เหตุนี้หากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์สูงขึ้น กองทุนฯ ก็จะเข้าไปชดเชย แต่ถ้าราคาน้ำมันดีเซลสิงคโปร์ลดลง กองทุนฯ จะเก็บเข้ากองทุน เพื่อให้ค่าการตลาดคงที่ที่ระดับ 1.40 บาทต่อลิตร ดังนั้น กองทุนฯ จึงประชุมติดตามปรับอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนฯ/ชดเชยทุกวัน เพื่อให้ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับ 1.40 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันเบนซินจะติดตามให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม
นักวิเคราะห์ชี้ว่าหลังจากที่ภาครัฐใช้กลไกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ปรับลดลง ทั้งนี้ราคาดูไบลดลงมาอยู่ในระดับ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยที่ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับ 95-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับ 93-98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะเห็นว่าราคาน้ำมันดีเซลนั้น ปรับลดลงในอัตรามากกว่า สถานการณ์นี้ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนของน้ำมันดีเซล ประมาณ 4-5 บาทต่อลิตร จึงได้มีการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลง 4 ครั้ง ครั้งละ 0.50 บาทต่อลิตร ในวันที่ 15 และ 22 กุมภาพันธ์ วันที่ 24 มีนาคม และวันที่ 7 เมษายน 2566
จากสถานการณ์นี้เอง ที่ทำให้มีการปรับกลไกกองทุนฯ ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลใหม่ขึ้นด้วย โดยปรับค่าการตลาดของน้ำมันดีเซล จากที่เคยขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันจาก 1.40 บาทต่อลิตร กลับไปใช้เป็นอัตราเดิมที่ 1.80 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดเบนซินที่เหมาะสม อยู่ที่ประมาณ 3 บาทเท่าเดิม ส่วนค่าการตลาดเฉลี่ยทั้ง 2 กลุ่ม อยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร +/- 0.40 บาทเท่าเดิม นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ในวันดังกล่าวเป็นช่วงเดียวกันกับที่ราคาน้ำมันเบนซินในตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมา 2 วัน ส่งผลให้ค่าการตลาดเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 2.81 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 3.00 บาทต่อลิตร จึงไม่ได้มีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในวันดังกล่าวนั่นเอง เพียงแต่หลังจากนั้น ราคาน้ำมันเบนซินก็ได้ปรับขึ้นลงตามกลไกที่ได้มีการกำหนดไว้เช่นเดิม ซึ่งดูเหมือนว่าจะผันผวน และผู้บริโภคหลายคนก็บ่นว่าแพงอยู่ดี
นับตั้งแต่มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับความผันผวนจากความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ก็ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินแกว่งตัว แต่เบนซินที่เป็นส่วนหนึ่งในหลายภาคอุตสาหกรรมก็ส่งผลต่อชีวิตของเราๆ ท่านๆ มากเหลือเกิน ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าเดือนหน้า ไตรมาสหน้า จนถึงครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันเบนซินจะเป็นอย่างไร แล้วชีวิตพวกเราจะเป็นอย่างไร
*อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.offo.or.th/th/node/1014