เบื้องหลัง “ขายหัวเราะ ฉบับ AI”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เบื้องหลัง “ขายหัวเราะ ฉบับ AI”

Date Time: 11 เม.ย. 2566 06:40 น.

Summary

  • บทบรรณาธิการในหนังสือ “ขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta >” ในฐานะหนังสือการ์ตูนไทยเล่มแรกที่สร้างสรรค์โดยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กล่าวไว้ว่า อยากให้ผู้อ่านได้คิดถึงผลกระทบของ AI

Latest

อัปเดต 5 กลยุทธ์ขายของ พิชิตใจคน Gen Z อยากรักษ์โลก แต่ของมันต้องมี แบรนด์รับมืออย่างไร?

บทบรรณาธิการในหนังสือ “ขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta >” ในฐานะหนังสือการ์ตูนไทยเล่มแรกที่สร้างสรรค์โดยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กล่าวไว้ว่า อยากให้ผู้อ่านได้คิดถึงผลกระทบของ AI ในกระบวนการสร้างสรรค์ว่าเราจะสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักร เพื่อปลดล็อกรูปแบบและแรงบันดาลใจใหม่ได้อย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้เทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยสร้างความคืบหน้า ไม่ใช่การแทนที่ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ขายหัวเราะ” ซึ่งนำทีมโดยทายาทรุ่นที่ 3 แห่งบันลือกรุ๊ป สำนักพิมพ์เก่าแก่เจ้าของผลงานการ์ตูนเล่มตั้งแต่ เบบี้ หนูจ๋า มหาสนุก ขายหัวเราะ มาจนถึงหนูหิ่น ปังปอนด์ ตัดสินใจเปิดตัวโปรเจกต์ความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับ AI เพื่อสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนชิ้นแรกของประเทศ

พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เครือวิธิตากรุ๊ป ซึ่งแตกหน่อออกมาจากบันลือกรุ๊ป ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 เล่าว่า ปัจจุบันบทบาทของ AI ในฐานะผู้สร้างสรรค์ กำลังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยวงการการ์ตูนญี่ปุ่นเพิ่งเปิดตัวและวางจำหน่ายการ์ตูนมังงะเล่มแรกที่ใช้ AI วาดภาพประกอบทั้งเล่ม (Cyberpunk: Peach John) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 จึงน่าจะถึงเวลาที่ทีม “ขายหัวเราะ” ซึ่งอายุครบ 50 ปีในปีนี้ จะได้ลองอะไรใหม่ๆที่ออกมาจาก Comfort Zone บ้าง

“โปรเจกต์นี้ใช้เวลาไม่นาน เป็นโปรเจกต์แซนด์บ็อกซ์ในขั้นทดลอง ความจริงเราไม่ได้มีเจตนาที่จะวางจำหน่าย ตั้งใจทำแจกฟรีให้ลูกค้าในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ซื้อสินค้าในบูธขายหัวเราะครบ 555 บาท แต่ก็คิดเผื่อไว้ว่าอาจมีแฟนๆสนใจซื้อสะสม โดยไม่อยากซื้อสินค้าขั้นต่ำตามกำหนด เลยตัดสินใจขายแยกในราคาเล่มละ 55 บาท ซึ่งปรากฏมีลูกค้าสนใจซื้อหาไปจำนวนหนึ่ง”

โปรเจกต์ “ขายหัวเราะ ฉบับ AI < VER 1.2023 Beta >” มีทีมงานรับผิดชอบประมาณ 5-6 คน ตั้งแต่ผู้จัดการโครงการ ครีเอทีฟ กราฟิก ปรู๊ฟ และ Data Science ซึ่งทีมต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สร้างสรรค์อารมณ์ขันและการ์ตูน” มาเป็น “ผู้ prompt (ป้อนคำสั่ง)” แทน โดย AI จะคิดแก๊กการ์ตูนและวาดภาพขึ้นมาเอง

เทคโนโลยี AI ที่ใช้เป็นแพลตฟอร์มเปิดที่คนทั่วไปก็ใช้ได้ ประกอบด้วยโปรแกรมที่ใช้วาดภาพและเขียน จากการป้อนคำสั่งของทีมงาน โดยโจทย์จะยึดโยงจากแก๊กที่เป็นแบบฉบับของขายหัวเราะ เช่น แก๊กก๊อตซิลล่าบุกเมือง ยูเอฟโอดูดคน คนติดเกาะ และยังมีเรื่องสั้น 1 เรื่องเพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบของการ์ตูนขายหัวเราะเล่มปกติที่มีเรื่องสั้นประจำเล่ม

ในการป้อนคำสั่ง ทีมงานจะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะจากการทดลองช่วงต้นพบว่า หากไม่ป้อนคำสั่งให้ละเอียดและชัดเจน ผลงานที่ได้จะกว้างมาก ยกตัวอย่างแก๊กก๊อตซิลล่า คำสั่งที่ป้อนให้คอมพิวเตอร์ต้องกำหนดตั้งแต่รูปแบบของงาน ให้เป็นการ์ตูน 1 ช่อง เกี่ยวกับก๊อตซิลล่าถล่มเมือง บ่อยครั้งที่ผลงานยังไม่โดนใจทีม ก็มีความจำเป็นต้องป้อนคำสั่งเพิ่ม เช่น คำสั่งขอมุกตลกแบบหักมุม (Twist) คำสั่งขอมุกตลกด้านมืด (Dark) จนเมื่อได้ข้อความแล้ว จึงส่งให้ AI วาดรูปต่อ เช่นเดียวกับการป้อนคำสั่งเพื่อให้ AI เขียนเรื่องสั้น จะต้องมีการกำหนดขอบเขตที่ทีมต้องการ เช่น ให้เขียนเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ เป็นต้น

พิมพ์พิชา ประเมินผลงานการ์ตูนของ AI เล่มแรก พบว่ายังไม่สามารถทดแทนงานสร้างสรรค์จากฝีมือมนุษย์ได้ แม้ สามารถสื่ออารมณ์ขันได้บ้าง สิ่งนี้พิสูจน์ว่าแม้เทคโนโลยีจะยิ่งใหญ่และเหนือชั้นเพียงใด แต่ความเป็นมนุษย์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การ์ตูนสว่างไสวและมีเสน่ห์

พิมพ์พิชา อุตสาหจิต
พิมพ์พิชา อุตสาหจิต

“เราพยายามให้เนื้อหาขายหัวเราะ ฉบับ AI เล่มแรกนี้ เป็นไปตามธรรมชาติที่แท้จริงของ AI มากที่สุด โดยทีมขายหัวเราะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ป้อนคำสั่ง รวบรวม และเชื่อมต่อในส่วนที่ AI เวอร์ชันปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม รวมถึงงานบรรณาธิการผ่านมุมมองความเชี่ยวชาญของทีม เพราะฉะนั้น แฟนๆการ์ตูนจะได้เห็นความสามารถที่แท้จริงของ AI ปัจจุบัน ซึ่งโปรเจกต์ดังกล่าวเกิดจากการตั้งคำถามของทีมงานว่า ในเมื่อ AI สามารถตอบคำถามได้มากมาย แล้ว AI จะมีอารมณ์ขันรึเปล่า จึงได้เริ่มทำโปรเจกต์ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ขันของ AI ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้การปรับตัวแบบใหม่ๆของทั้งเทคโนโลยีและมนุษย์อีกมากมายในอนาคต”

พิมพ์พิชาปิดท้ายว่า แม้ AI จะยังมีข้อจำกัดและไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ แต่ข้อดีของ AI คือไม่มีความท้อ ไม่มีอารมณ์ที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่องาน โดยเฉพาะงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ตลก AI สามารถเดินหน้าทำงานต่อได้เรื่อยๆ ไม่มีหยุด

และแม้จะปรับตัวล้อไปกับคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ดีเพียงใด บันลือกรุ๊ปผู้โด่งดังจากการ์ตูนเล่มละบาทเมื่อ 50 ปีก่อน ก็ยังรักษาไว้ซึ่งธุรกิจสำนักพิมพ์บรรลือสาสน์ และยังคงวางจำหน่ายหนังสือขายหัวเราะในตำนาน วางแผงรายเดือน ปรับคุณภาพเป็นสีทั้งเล่มในราคา 75 บาท

โดยเนื่องในโอกาสที่มีอายุครบ 5 ทศวรรษในปีนี้ “ขายหัวเราะ” ยังมีโปรเจกต์ใหญ่ที่เตรียมจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีที่ยังอยากปิดเป็นความลับอยู่ บอกได้แค่ว่าจะเป็นการร่วมจับมือ Collaboration กับพันธมิตรที่แฟนๆ ต้องชื่นชอบและหายคิดถึงแน่.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ