เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป พร้อมปั้นแบรนด์ "ร้านอาหาร" ใหม่เสริมพอร์ต เตรียมขยายสาขาเพิ่ม 150 แห่งในปี 66 มั่นใจรายได้เติบโต 2 หลัก จาก 12,800 ล้าน
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66 นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 65 ที่ผ่านมาเรามียอดขายทั้งหมดประมาณ 12,800 ล้าน ซึ่งเติบโตตามเป้าที่เราวางไว้
สำหรับแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารปี 2566 ในภาพรวมนั้น เราเห็นการฟื้นตัวเต็มที่ จากปัจจัยโควิดคลี่คลาย ผู้บริโภคออกมาช็อป ชิล ชิม หรือรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภค แม้เทรนด์การบริโภคอาหารภายในร้าน (Dine-in) กลับมาคึกคักเติบโต
แต่บริการเดลิเวอรี่ สั่งอาหารผ่านออนไลน์ยังขยายตัวได้ เป็นอัตราชะลอลงชั่วคราวเท่านั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญในการทำตลาดต่อเนื่อง กระตุ้นการเติบโตส่วนความท้าทายในการทำธุรกิจร้านอาหารปี 2566 คือการรับมือต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากตลาดฟื้นตัว ทำให้ความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น
สำหรับปี 66 นี้ เรากำหนดแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหาร สู่ก้าวต่อไปแห่งการเติบโต หรือ The Next Chapter of Growth ที่เราคาดการณ์ยอดขายจะเติบโตอัตรา 2 หลัก จากปี 2565 บริษัทมียอดขายรวม 12,800 ล้านบาท ด้วย 5 กลยุทธ์ ที่จะผลักดันการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบด้วย
1. เร่งเติมเต็มศักยภาพการเติบโต หรือ Accelerate Growth Potential ด้วยการขยายร้านอาหารสาขาใหม่ โดยเฉพาะแบรนด์พระเอกในเครือ เช่น ไก่ทอดเบอร์ 1 เคเอฟซี ควบคู่บริการเครื่องดื่มอาริกาโตะ ร้านอานตี้แอนส์ ร้านส้มตำนัว ร้านสลัดแฟคทอรี่ ร้านชินคันเซ็น ซูชิ เป็นต้น ซึ่งทั้งปีวางไว้ไม่น้อยกว่า 150 สาขา
นอกจากนี้ มุ่งต่อยอดศักยภาพของร้านเดิมที่มีจำนวนมากกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ ผ่านกลยุทธ์ เช่น ออกเมนูใหม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ตลาด ดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการบริโภค ด้วยการพัฒนาสินค้ากลุ่มพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง เช่น ซอส รองรับการซื้อกลับบ้าน เป็นต้น
"กลยุทธ์เร่งการเติบโตจะมาจาก 2 ส่วน คือ เดินหน้าลงทุนเปิดร้าน หรือขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น และการทำให้ยอดขายในร้านเดิม หรือ Same Store ขยายตัวมากขึ้น"
2. สร้างธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโต หรือ Build New Growth Pilla ใน 2 มิติ ได้แก่ การมองหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งตามแผนงานบริษัทวางเป้าหมายจะเพิ่ม 1-2 แบรนด์ต่อปี และการขยายโอกาสสู่ตลาดใหม่ในประเทศเวียดนาม รองรับประชากรที่มีขนาดเกือบ 100 ล้านคน เป็นคนรุ่นใหม่ และมีกำลังซื้อขยายตัว
โดยในปี 2565 บริษัทเสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอธุรกิจร้านอาหาร ด้วยการเติม 3 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ ร้าน ราเมน คาเกทสึ อาราชิ แบรนด์ดังระดับท็อป 3 ในกลุ่มราเมนเครือข่ายจากประเทศญี่ปุ่น, การเข้าร่วมทุนในแบรนด์ ชินคันเซ็น ซูชิ และรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านปิ้งย่างภายใต้แบรนด์ “นักล่าหมูกระทะ”
"บริษัทวางแผนเพิ่มร้านอาหารแบรนด์ใหม่ 1-2 แบรนด์ แต่ปี 2565 สร้างความสำเร็จเกินเป้าหมาย เพราะมี 3 แบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ ขณะเดียวกัน บริษัทจะนำธุรกิจร้านอาหารไปบุกตลาดเวียดนามอีกครั้ง หลังจากช่วงโควิด-19 ระบาด ต้องชะลอแผนออกไป โดย 2 ปัจจัย จะเป็นกลยุทธ์สร้างการเติบโตใหม่ให้บริษัท"
3. ผนึกพันธมิตรสร้างการเติบโตร่วมกัน หรือ Growth Together with Partnership สำหรับปี 2566 จะมีการเร่งขยายสาขาของร้านอาหารเพิ่มขึ้นทั้งแบรนด์ ชินคันเซ็น ซูชิ, สลัดแฟคทอรี่ และส้มตำนัว ในทำเลห้างค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล โรบินสัน ตลอดจนการเปิดร้านในรูปแบบ Stand Alone
"ปีที่ผ่านมาบริษัทสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจซีอาร์จี หรือ CRG Ecosystem เปรียบเสมือนการติดอาวุธให้พันธมิตรที่อยู่กับเรา สามารถเชื่อมต่อการใช้งานหรือ Plug & Play ผลักดันการเติบโตของร้านอาหารได้ เช่น ช่วยหาพื้นที่ขยายสาขาใหม่ การทำตลาด การหาพนักงาน สิ่งไหนที่พันธมิตรต้องการ เรามี Ecosystem ที่จะช่วยเสริมให้การทำงานง่ายขึ้น"
4. เพิ่มประสิทธิผล หรือ Productivity Growth ของการทำงานรอบด้าน ด้วยกลยุทธ์ 3C คือ Cost บริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด, Capex เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ Cash Flow การบริหารกระแสเงินสด ตลอดจนการลงทุน ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ซีอาร์จียังได้นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหารมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มนำร่องในบางสาขา เช่น การสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Ordering), การนำหุ่นยนต์มาให้บริการในร้าน, การนำเครื่องมือใช้วิเคราะห์ลูกค้า (Business Intelligence) เพื่อเข้าใจและตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการวางแผนพัฒนาระบบการเสิร์ฟอาหารผ่านระบบสายพาน เป็นต้น
5. ขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของซีอาร์จี ด้วยให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง
สำหรับร้านอาหารภายใต้การดูแลของ CRG มีจำนวน 20 แบรนด์ ดังนี้
1. มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut)
2. เคเอฟซี (KFC)
3. อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s)
4. เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch)
5. ชาบูตง ราเมน (Chabuton),
6. โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery)
7. ไทยเทอเรส (Thai Terrace)
8. โยชิโนยะ (Yoshinoya)
9. โอโตยะ(Ootoya)
10. เทนยะ (Tenya)
11. คัตสึยะ (Katsuya)
12. อร่อยดี (Aroi Dee)
13. เกาลูน (Kowlune)
14. สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory)
15. บราวน์ (Brown)
16. อาริกาโต (Arigato)
17. ส้มตำนัว (Somtam Nua)
18. ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi)
19. ราเมน คาเกทสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi)
20. นักล่าหมูกระทะ (Nakla-mookata)