สมาคมประกันชีวิต เผยปี 66 ประกันโรคร้าย ประกันสุขภาพ ได้รับความนิยม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สมาคมประกันชีวิต เผยปี 66 ประกันโรคร้าย ประกันสุขภาพ ได้รับความนิยม

Date Time: 27 ก.พ. 2566 15:05 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • สมาคมประกันชีวิต ประเมินปี 66 ประกันโรคร้ายและประกันสุขภาพมาแรง หลังคนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ได้สังคมสูงวัยหนุน

Latest


สมาคมประกันชีวิต ประเมินปี 66 ประกันโรคร้ายและประกันสุขภาพมาแรง หลังคนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ได้สังคมสูงวัยหนุน

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย หรือ TLAA กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทยในปี 66 ประเมินว่าสถานการณ์จะทรงตัว โดยคาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,500-623,500 ล้านบาท อัตราการเติบโตอยู่ที่ระหว่าง 0-2% ส่วนอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์อยู่ที่ 81-82% โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.7%

สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญในปี 66 นี้ คือสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ ประชาชนตระหนัก และมีความเข้าใจต่อการประกันมากขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้แบบประกันสุขภาพเติบโตถึง 14% ในปี 65

นอกจากนี้ เทคโนโลยีก็มีส่วนทำให้การเข้าถึงประกันชีวิตง่ายและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น การพัฒนาองค์ความรู้ความเข้าใจ และมาตรการเฝ้าระวังภัยต่างๆ ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นส่วนสำคัญให้เบี้ยประกันภัยรวมต่อ GDP กลับมาที่ 3.8% เหมือนก่อนช่วงโควิดได้เช่นกัน

ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่า ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง หรือ Health & CI เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร (ทั้งระบบ Online และ Offline)

เช่น Telemedicine บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย

รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) แต่ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการปรับพอร์ต ทั้งในส่วนของการลงทุนและ Product mix

รวมถึงทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิต ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตฐานกฎหมายสากล เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย

ทั้งนี้ สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน เช่น การส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ ผลักดันกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติ รวมถึงการผ่อนคลายการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมอีกด้วย

สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2565 ที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 611,374 ล้านบาท เติบโตลดลง 0.45% ต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยได้ตั้งเป้าไว้ที่ 0-2% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 169,878 ล้านบาท ลดลง 0.49%

โดยแบ่งเป็น เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 105,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.42% เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 64,686 ล้านบาท ลดลง 14.27% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,496 ล้านบาท ลดลง 0.43% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 82%

ส่วนเบี้ยประกันภัยรับรวมแบ่งตามช่องทางการจัดจำหน่าย แบ่งเป็น ช่องทางการขายผ่านตัวแทน 325,227 ล้านบาท เติบโต 1.43% คิดเป็นสัดส่วน 53.20% ช่องทางการขายผ่านธนาคาร 235,788 ล้านบาท เติบโตลดลง 3.39% คิดเป็นสัดส่วน 38.57%

ช่องทางนายหน้า 26,516 ล้านบาท เติบโต 8.63% คิดเป็นสัดส่วน 4.34% ส่วนช่องทางขายตรง 13,981 ล้านบาท เติบโตลดลง 2.04% คิดเป็นสัดส่วน 2.29% และช่องทางดิจิทัล 1,738 ล้านบาท เติบโต 29.11% คิดเป็นสัดส่วน 0.28% และช่องทางอื่นๆ 8,124 ล้านบาท เติบโตลดลง 13.44% คิดเป็นสัดส่วน 1.33%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ