ZORT มองปี 66 อีคอมเมิร์ซยังคึกคัก มูลค่าตลาดโตได้อีก 15-20% แนะร้านค้าออนไลน์ระวัง 2 ความเสี่ยง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ZORT มองปี 66 อีคอมเมิร์ซยังคึกคัก มูลค่าตลาดโตได้อีก 15-20% แนะร้านค้าออนไลน์ระวัง 2 ความเสี่ยง

Date Time: 14 ก.พ. 2566 12:28 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ZORT สตาร์ทอัพไทย แพลตฟอร์มช่วยร้านค้าออนไลน์ มองปี 66 ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคึกคัก คาดมูลค่าตลาดโต 15-20% จากปีก่อนที่ 6.6 แสนล้านบาท พร้อมแนะร้านค้าออนไลน์ระวังความเสี่ยง 2 ด้าน

Latest


ZORT สตาร์ทอัพไทย แพลตฟอร์มช่วยร้านค้าออนไลน์ มองปี 66 ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคึกคัก คาดมูลค่าตลาดโต 15-20% จากปีก่อนที่ 6.6 แสนล้านบาท พร้อมแนะร้านค้าออนไลน์ระวังความเสี่ยง 2 ด้าน

นายสวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) สตาร์ทอัพไทย แพลตฟอร์มบริหารจัดการออเดอร์และสต๊อก เปิดเผยว่า ปี 2565 สามารถสร้างผลงานเติบโตเกินเป้าหมาย มีลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น 50% ผ่านอีคอมเมิร์ซทุกแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อในระบบ ZORT เพิ่มขึ้นเป็น 49,000 ล้านบาท ซึ่งโตขึ้นประมาณ 62% จากปี 2564 ที่มีประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ZORT ตั้งเป้าหมายการเติบโต 100% เนื่องจากมองว่า ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ดีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะการช็อปปิ้งออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ZORT คาดการณ์ว่าตลาดจะโตประมาณ 15-20% จากปี 2565 ที่น่าจะมีมูลค่าการตลาดรวมประมาณ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากปัจจัยสนับสนุน 3 ปัจจัย ดังนี้

  • เทรนด์ Social Commerce ได้รับความนิยมมากขึ้น การแข่งขันของแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง Facebook, LINE, TikTok จะดุเดือดมากยิ่งขึ้น เห็นได้ชัดจากปี 2565 ที่ทุกแพลตฟอร์มพัฒนาฟีเจอร์ให้พร้อมรองรับการทำธุรกิจ อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ที่ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้า พร้อมชำระเงินได้อย่างไร้รอยต่อ ภายในแพลตฟอร์มเดียว
  • พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยหนุนตลาด โดยจากข้อมูลของ ‘วันเดอร์แมน ธอมสัน’ พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซสูงที่สุดในโลก คนไทย 95% ระบุว่า ช็อปปิ้งออนไลน์มีส่วนเข้ามาช่วยเรื่องการใช้ชีวิตในช่วงโควิดในปี 2564 ทำให้สัดส่วนการช็อปออนไลน์ก็มาแรงต่อเนื่องจนแซงหน้าการช็อปปิ้งออฟไลน์ อีกทั้งยังพบว่ารายการชำระเงินผ่านการช็อปปิ้งออนไลน์ของไทย ครองอันดับ 3 ของโลก ด้านการชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-time Payment) เป็นรองแค่จีนกับอินเดียที่มีประชากรสูงกว่าไทย
  • Short Video Commerce เทรนด์ใหม่ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ เทรนด์การขายที่เปลี่ยนไปในรูปแบบ VDO สั้น สอดรับกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภค ที่ให้ความสนใจกับการดูสื่อแบบเคลื่อนไหวในปัจจุบัน กลยุทธ์การเปลี่ยนคอนเทนต์เป็นยอดขาย หรือ Shoppertainment ที่ผสมผสานการช็อปปิ้งเข้ากับความบันเทิง

ขณะที่ความเสี่ยงของตลาดอีคอมเมิร์ซในปีนี้ มี 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่

ประการแรก คือ การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการเพิ่มค่าธรรมเนียมของแพลตฟอร์ม E-Marketplace ในปี 2565 E- Marketplace เจ้าตลาดได้ปรับค่าธรรมเนียมการขายเพิ่มขึ้น 1% ส่งผลให้ผู้ค้ามีต้นทุนค่าธรรมเนียมการขายและค่าคอมมิชชัน อยู่ที่ 5.35% ทั้งนี้ในอนาคตก็ยังมีความเสี่ยงที่ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะปรับขึ้นได้อีก

โดยเฉพาะหลังจากที่ JD Central ประกาศถอนตัวจากสงคราม E-Marketplace ในประเทศไทย 2 แพลตฟอร์ม เจ้าตลาดที่เคยใช้เงินลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างตลาด ก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นค่าธรรมเนียมได้คล่องตัวขึ้น เมื่อไร้คู่แข่งอย่าง JD Central ส่งผลให้ร้านค้าที่มีหน้าร้านบน E-Marketplace ต้องวางแผนหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อให้สามารถคุมราคาสินค้าได้ดี และไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขาย

ประการที่สอง คือ การฟื้นตัวของตลาดออฟไลน์ กลยุทธ์ Omnichannel จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ปัจจัยนี้น่าจับตามองอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดกลุ่มนี้เริ่มตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2565 หลังจากการประกาศคลายล็อกของรัฐบาล และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ออกมาจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ มากขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์