อินทราโลจิสติกส์ปี 66 โต 15% แนะใช้เทคโนโลยีจัดระบบคลังสินค้า ช่วยลดต้นทุน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อินทราโลจิสติกส์ปี 66 โต 15% แนะใช้เทคโนโลยีจัดระบบคลังสินค้า ช่วยลดต้นทุน

Date Time: 13 ก.พ. 2566 10:07 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • สมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย คาด Intralogistics ปี 66 เติบโต 15% แนะใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดระบบคลังสินค้าช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุน

Latest


สมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย คาด Intralogistics ปี 66 เติบโต 15% แนะใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดระบบคลังสินค้าช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุน

นายอำนาจ ประกอบสุข เลขาธิการนายกสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย กล่าวว่า ในปี 2565 ระบบโลจิสติกส์ภายในองค์กร หรือ Intralogistics มีมูลค่า 6,000-8,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 64 ประมาณ 5-8% ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราเจอปัญหาโควิดจึงทำให้การลงทุนชะลอตัว แต่ในปี 2566 นี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เริ่มกลับมาลงทุนเพิ่มเติมทำให้ปีนี้ Intralogistics จะเติบโตประมาณ 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 8,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเราเชื่อว่าด้วยศักยภาพที่โดดเด่นของ Local System Integrator หรือ Local SI จะสร้างแรงขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมอินทราโลจิสติกส์ไทย เพราะไทยมีทั้งกิจการทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่ากิจการขนาดใหญ่ และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เราจะเข้าไปพัฒนาความรู้ความสามารถให้ผู้ประกอบการสามารถปรับมาตรฐานและยกระดับสู่มาตรฐานสากล

สำหรับงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse 2023 นี้เราคาดว่าจะสร้างเครือข่ายภายในสมาชิกให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ผ่านการออกแบบกิจกรรมสัมมนาภายในงานครั้งนี้ เพราะผู้ประกอบการทุกกลุ่มต่างต้องใช้คลังสินค้าเมื่อธุรกิจโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคลังสินค้าของตัวเอง หรือการใช้บริการคลังสินค้าภายนอก

นอกจากนี้ยังช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงเทรนด์อุตสาหกรรมที่ต้องมีการสต๊อกสินค้าได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เช่น อาหาร ยา เคมี และยานยนต์ เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดการผิดพลาดในการจัดเก็บสินค้า และการขนส่งสินค้าอีกด้วย

นายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า การกลับมาของงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse 2023 ในปีนี้ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค. 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 5-6 เราจะเพิ่มพื้นที่การจัดงานเป็น 2 เท่า เพื่อรองรับผู้ประกอบการ ผู้มีศักยภาพด้านการลงทุน และผู้มีส่วนตัดสินใจขับเคลื่อนองค์กร ทั้งไทยและต่างชาติ ในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 100 แบรนด์

พร้อมกิจกรรมเวทีสัมมนา Orange Forum พูดคุยเทรนด์และแนวโน้มสำคัญของอินทราโลจิสติกส์ และเวทีสัมมนา Blue Forum พูดคุยด้านโซลูชั่นของอินทราโลจิสติกส์ ที่เข้ามาช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้ธุรกิจในเชิงลึกและมีความเฉพาะตัวในแต่ละอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

รวมถึงมีการนำโซน Product Demonstration กลับมาในงานอีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมงานเห็นถึงภาพรวมในการจัดการระบบคลังสินค้าได้ง่ายมากขึ้น ตลอดจนได้เห็นขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ที่ช่วยให้เข้าใจการทำงาน เข้าใจในความจำเป็นในการใช้ระบบคลังสินค้าในธุรกิจ ทั้งกับขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ รวมถึงกิจกรรมและความน่าสนใจที่รวมไว้ในงานอีกมากมาย

"ในปีนี้เราคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 6,000 ราย และจะมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงงานกว่า 10 ประเทศ ทั้งจากในเอเชียและยุโรป เช่น ผู้จัดแสดงจากประเทศเยอรมนี จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม"

Mr. Peter Kazender, CEO, Logistics Exhibitions GmbH, Managing Director, Euroexpo กล่าวว่า Cold Chains Solutions จะเป็นไฮไลต์สำคัญภายในงานนี้ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการควบคุมอุณภูมิของคลังสินค้าเพื่อให้สินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ หรือยารักษาโรคไม่เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการพูดถึง Cold Chains Solutions มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากจะช่วยคุมต้นทุนด้านการขนส่งแล้ว ยังช่วยให้ shelf life หรืออายุการเก็บรักษาอยู่ได้นานขึ้นอีกด้วย

โดยภายในงานจะมีการนำ Automated Guided Vehicles หรือ AGV และ Autonomous Mobile Robots หรือ AMR มาจำลองเพื่อให้เห็นว่าระบบออโตเมชั่นมีส่วนสำคัญในการจัดคลังสินค้าอย่างไร ซึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ได้นำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้งานเริ่มตั้งแต่การจัดเก็บ การนับสต๊อกสินค้า การค้นหาสินค้าจนกระทั่งการขนส่งสินค้าอีกด้วย

"ประเทศไทยเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับเรา เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของอาเซียนที่มีการเติบโตโดดเด่นทำให้เราเลือกประเทศไทยในการจัดงาน ที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง"

Mr. Bernhard Mueller, Vice President, Landesmesse Stuttgart GmbH. มองว่า หากมีการจัดการระบบคลังสินค้า และโลจิสติกส์ที่ดีจะสามารถลดต้นทุนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในเยอรมนีสามารถคุมต้นทุนส่วนนี้ให้เหลือประมาณ 4% ในขณะที่ไทยเองมีต้นทุนดังกล่าวอยู่ที่ 10%

โดยปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนในส่วนนี้ลดลง เนื่องมาจากกำลังซื้อที่มากขึ้นทำให้มีทุนเข้ามาปรับปรุงระบบจากเดิมที่ใช้แรงงานมาเป็นระบบออโตเมชั่น ซึ่งลดความผิดพลาด และช่วยบริหารจัดการเวลาได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบการขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ สามารถเชื่อมต่อโยงใยถึงกันทั้งระบบทำให้ง่ายต่อการขนส่งสินค้านั่นเอง

อย่างไรก็ตามเรามองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่โดดเด่นและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เติบโตทั้งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอินทราโลจิสติกส์

ขณะเดียวกันผู้นำในตลาดอุตสาหกรรมอินทราโลจิสติกส์ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ เยอรมนี และจีน ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน เริ่มมีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะผู้ผลิต ผู้ซื้อ และในฐานะผู้จัดจำหน่ายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้อาเซียนถือเป็นกลุ่มประเทศที่มี GDP ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กลุ่มประเทศเหล่านี้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนมีกำลังซื้อ และการผลิตมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบของห่วงโซ่อุปทานและเทรนด์ของอินทราโลจิสติกส์จะส่งผลให้ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญ และน่าจับตามองอีกหนึ่งตลาดของอุตสาหกรรมอินทราโลจิสติกส์โลกอีกด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์