“การบินไทย” พร้อมบะละฮึ่ม ดีดีคนใหม่ย้ำลั่นเดินตามแผนฟื้นฟูผลดีเกินคาด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“การบินไทย” พร้อมบะละฮึ่ม ดีดีคนใหม่ย้ำลั่นเดินตามแผนฟื้นฟูผลดีเกินคาด

Date Time: 10 ก.พ. 2566 06:50 น.

Summary

  • “ชาย เอี่ยมศิริ” ดีดีการบินไทยคนใหม่ เผยเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ผลดีเกินคาด ประกาศจะนำพาการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูก่อนกำหนดปลายปี 67 มั่นใจกลับมาเป็นสายการบินชั้นนำในเอเชีย

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“ชาย เอี่ยมศิริ” ดีดีการบินไทยคนใหม่ เผยเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ผลดีเกินคาด ประกาศจะนำพาการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูก่อนกำหนดปลายปี 67 มั่นใจกลับมาเป็นสายการบินชั้นนำในเอเชีย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รับตำแหน่งตนมีเป้าหมายที่จะนำพาการบินไทยทำธุรกิจให้เติบโตแบบยั่งยืน โดยระยะแรกจะเน้นสร้างความเชื่อมั่นของการทำธุรกิจให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ขณะเดียวกันจะเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ส่วนระยะยาวจะนำพาการบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ และเป็นสายการบินชั้นนำในระดับต้นๆของเอเชียและระดับโลก

ออกจากแผนฟื้นฟูก่อนกำหนด

ส่วนความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการฯนั้น ขณะนี้การบินไทยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูไปแล้วประมาณ 70% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาความต้องการใช้สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท รวมทั้งเงื่อนเวลาการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนช่วงกลางปีนี้ โดยการบินไทยขอรอดูแนวโน้มผลประกอบการปี 66 ก่อน และมีความเป็นไปได้ว่าการบินไทยอาจต้องการสินเชื่อน้อยลงกว่า 25,000 ล้านบาท หรืออาจไม่ต้องทำการกู้เพิ่มเลยก็เป็นได้ ส่วนการแปลงหนี้เป็นทุนและการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิมนั้น จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้แน่นอน

ทั้งนี้ ตามแผนแล้วหากการบินไทยมีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) เป็นบวกเกิน 20,000 ล้านบาท ในผลประกอบการย้อนหลังรวม 12 เดือน การบินไทยก็จะสามารถขอยื่นให้ศาลพิจารณาออกจากแผนฟื้นฟูได้ โดยในปี 66 มั่นใจว่าจะมี EBITDA เกิน 20,000 ล้านบาท และเชื่อว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ก่อนกำหนด และกลับเข้ามาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ก่อนกำหนดที่เคยประกาศไว้ในแผนว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูปลายปี 67 และกลับเข้าซื้อ-ขายในตลาดฯได้ช่วงต้นปี 68

“ในช่วง 1 ปีที่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ถือว่าการบินไทยทำได้ดีมากๆ โดยผลประกอบการ 9 เดือนของปี 65 พบว่า มีผลการดำเนินการที่ดีกว่าแผนอย่างมีนัยสำคัญ และเชื่อว่าผลประกอบการที่ออกมาจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งรายได้จะพบว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิดระบาดในปี 62 การบินไทยมีรายได้กว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี และลงมาเหลือ 160,000-170,000 ล้านบาทต่อปี แต่มาในปี 65 พบว่า การบินไทยสามารถสร้างรายได้มาอยู่ที่ 90,000 ล้านบาทต่อปี มีขีดความสามารถรองรับที่นั่งต่อเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากก่อนปี 62 ถึง 65% ขณะเดียวกันได้ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 66 เพิ่มขึ้นอีก 40% จากปี 65

เพิ่มเที่ยวบินสร้างรายได้

นายชายกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการบินไทยมีฝูงบินให้บริการบินจำนวน 41 ลำ แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง ปริมาณผู้โดยสารเดินทางมากขึ้น จึงมีแนวคิดที่จะนำเครื่องบินที่รอการขายคือ แอร์บัส 330 และ โบอิ้ง 777-200er รวม 8 ลำมาปรับปรุงให้บริการ ขณะเดียวกันในปีนี้รอการส่งมอบเครื่องบิน แอร์บัส 350 อีก 6 ลำเข้ามาประจำฝูง และยังมีเครื่องบินลำตัวกว้างอีก 3 ลำที่รอการเจรจาเข้ามาประจำฝูงบิน ซึ่งหากรับมอบครบจะทำให้การบินไทยมีเครื่องบินในฝูงบินให้บริการรวมกว่า 58 ลำ ซึ่งจำนวนนี้ไม่รวมเครื่องบินไทย สมายล์ แอร์บัส 320 อีก 20 ลำ ให้บริการ นอกจากนั้นในแผนธุรกิจเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ

นายชายกล่าวต่อว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ปริมาณผู้โดยสารเดินทางกลับมาเติบโตต่อเนื่องทำให้ตอนนี้การบินไทยกลับมาทำการบินกว่า 65% ของเส้นทางบินทั้งหมด หากเทียบกับก่อนเกิดวิกฤติในปี 62 ขณะที่อัตราการบรรทุกปริมาณผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) เฉลี่ยอยู่ที่ 80% ซึ่งจากการเติบโตดังกล่าว การบินไทยจึงมีแผนจะทยอยเปิดทำการบินเพิ่มเติมต่อเนื่องทั้งความถี่ของเที่ยวบินและจุดทำการบินทั้งในเส้นทางบินเอเชีย เช่น จีน จากเดิมทำการบินใน 5 เมืองเพิ่มเป็น 8 เมือง, ญี่ปุ่นก็จะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน และยุโรปในเมืองที่มีความนิยมสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการบินไทยจะกลับมาเปิดทำการบิน 80% ในปี 68

ไม่ต้องขายทรัพย์สินแล้ว

นายชายกล่าวว่า จากสถานการณ์การบินเติบโตขณะนี้ยอมรับว่าทำให้การบินไทยมีสภาพคล่องในมือกว่า 35,000 ล้านบาทในปีนี้ หากเมื่อเทียบกับในปี 64 ช่วงเข้าแผนฟื้นฟูการบินไทยมีสภาพคล่องในมือเพียง 6,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจากสถานการณ์ขณะนี้ ยืนยันว่าการบินไทยไม่มีความจำเป็นที่จะขายอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงานของการบินไทยที่มีอยู่ขณะนี้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศออกไปแล้ว โดยทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ อาคาร สำนักงานในประเทศ ต่างประเทศ ประกอบด้วย ที่ดิน อาคาร สำนักงานใหญ่ การบินไทย และอาคารสำนักงานครัวการบินไทย ดอนเมือง รวมมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท และอาคารสำนักงานขายจังหวัดเชียงใหม่และ พิษณุโลก ส่วนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศประกอบด้วยสำนักงานขายและบ้านพัก ลอนดอน, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง มูลค่ารวมพันล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ