เรียกได้ว่าทุกช่วงฤดูหนาวในเดือนมกราคม จะเป็นช่วงเวลาที่เหล่านักธุรกิจ มหาเศรษฐี และผู้นำจากทั่วโลก พากันเดินทางมายังเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้กลายเป็นหมุดหมายของการรวมตัวกัน ในการการจัดงานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เพื่อหารือในการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของโลก ถือได้ว่าเป็นการประชุมที่มีความหมายและความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก และในปี 2023 นี้ถือเป็นปีที่ผู้นำจากทั่วโลกเดินทางมารวมตัวกันกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 53 ปี ที่เคยได้มีการจัดงาน สำหรับประเทศไทย ในปีนี้มีตัวแทนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน 11 คนด้วยกัน ซึ่งเป็นปีที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน
Thairath Money พูดคุยกับหนึ่งในนักธุรกิจไทยที่เข้าร่วมประชุมสภาเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ คือ ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเป็นปีที่ 2 ในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะมาแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าประชุมในครั้งนี้
WEF2023 : เราจะร่วมมือกันอย่างไรในโลกที่เป็นเศษส่วน?
จิรายุส เล่าถึงภาพรวมของปัญหาที่มีการพูดคุยกันที่ดาวอสว่า ทุกวันนี้โลกของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มีการแบ่งแยกไปเป็นบนล่าง และซ้ายขวา จีน-อเมริกา รัสเซีย-ยูเครน ที่ต่างพากันแย่งอำนาจและแข่งกันเพื่อขึ้นเป็นหนึ่ง ที่ต่อไปจะทำให้มี 2 อินเทอร์เน็ต 2 เอไอ และ 2 ซัพพลายเชน ทั้งหมดนี้เรียกว่า Decoupling ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้ GDP ของโลกจะหายไปกว่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากการที่ไม่พึ่งพาอาศัย และแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน นอกจากนี้ความห่างกันระหว่าง Global North และ Global South ประเทศโลกที่หนึ่ง และประเทศโลกที่สาม ที่จะห่างกันมากขึ้น มีความไม่เท่าเทียมหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้รับกระทบรุนแรงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจนจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย และธนาคารกลางในหลายประเทศเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อให้ลงมาที่ 2% ให้ได้
และในระยะสั้นเรายังจะต้องเจอกับวิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่ต้องเผชิญกับทั้งเศรษฐกิจถดถอยที่จะกินเวลานาน สงครามที่เกิดยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ อีกทั้งยังมีปัญหาโลกร้อนที่ปัจจุบันเรามาถึง ‘จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ’
นอกจากนี้ ในปัญหาความเหลื่อมล้ำเรายังมีประชากรอีกกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เพราะต้นทุนยังสูงเกินไป
การศึกษายังเข้าไม่ถึงทุกคน บริการทางการแพทย์ก็ยังมีปัญหาอยู่ อีกทั้งเรายังอยู่ในยุคที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่จะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเป็นแพ็กเกจ ทั้ง เอไอ บล็อกเชน บิ๊กดาต้า ไอโอที ตลอดจน อินเทอร์เน็ตจากท้องฟ้า (Internet from the sky)
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘Perfect Storm’
นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เท่าเทียมของ 2 โลก ที่แบ่งระหว่างเหนือกับใต้ จำเป็นที่จะต้องปลดล็อกเรื่องของการเงิน ที่จะต้องปรับโครงสร้างให้มีการสนับสนุนบริการทางการเงินระหว่างโลกที่หนึ่งและโลกที่สามมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือกัน นำไปสู่การจัดมาตรฐาน (Standardization)ให้บริการทางการเงินสามารถเข้าถึงคนได้ทั่วโลก ดังนั้นจะต้องมีระบบการชำระเงินโลก (Global Payment System) และต้องมีการทำงานร่วมกัน ที่ทำให้สามารถโอนเงินข้ามหากันได้โดยไม่มีตัวกลาง และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ทั่วโลกจะต้องมีการตกลงร่วมกัน
บล็อกเชน คำตอบที่ ‘ใช่’ ของปัญหาบริการทางการเงิน?
จริงๆ บล็อกเชนเป็นแค่หนึ่งในเทคโนโลยีที่ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เราต้องเอาปัญหาตั้ง ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีตั้ง มิเช่นนั้นจะเป็นเสมือนว่าเราผลิตค้อนก่อน แล้ววิ่งหาตะปู ก็จะตีมั่วไปหมด เพราะคิดว่าว่าค้อนทำได้ทุกอย่าง แต่จริงๆ เราต้องหาตะปูก่อน แล้วเราค่อยหาค้อนมาแก้ไขปัญหา
เพราะฉะนั้นถ้าปัญหาเรื่อง การเข้าถึงบริการทางการเงินที่อยู่ในระบบ แนวทางการแก้ปัญหาอย่างแรก คือ ต้องลดต้นทุนการบริการทางการเงิน เพื่อที่จะทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น
สอง ต้องเข้าถึงคนส่วนใหญ่ เช่น สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต ที่ทุกคนเข้าถึงได้อยู่แล้ว เป็นโครงสร้างพื้นฐานขั้นต้น ให้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมขั้นพื้นฐานได้ ไม่ว่าจะเป็นโอนเงิน รับเงิน ยืนยันตัวตน ออมเงิน หรือแม้แต่การกู้เงิน
นอกจากนี้ ยังมี Big Data ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี ที่จะทำให้สามารถดูความเสี่ยง และทำให้ทุกคนเข้าถึงเงินกู้ได้ รวมถึง AI ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ อุตสาหกรรม เพราะตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคที่เทคโนโลยีจะช่วยเรายกของหนักได้ดีกว่าคน แต่กลับเป็นการคิดได้ดีกว่าคนแล้วด้วยซ้ำ
ทั่วโลกมีมุมมองอย่างไรในเรื่อง ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’?
จิรายุส เล่าว่า ในงาน WEF ปีนี้ได้ขึ้นไปแบ่งปันวิสัยทัศน์เรื่อง Tokenization ในหัวข้อ ‘Tokenized Economies, Coming alive’ ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นตัวแทนจากสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และฟินแลนด์ และได้นำมาสู่ข้อสรุปที่คำว่า Standardization กล่าวคือ ต้องมีมาตรฐานว่าในเรื่องของการกำกับดูแลที่มีความยืดหยุ่นมากพอ แต่ไม่หละหลวมจนเกินไป ดังนั้นจึงต้องหาความสมดุลให้ได้ ทุกคนต้องหันหน้าพูดคุยกัน เพราะทุกวันนี้โลกมันเชื่อมต่อกันมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะการเงินในอนาคต ที่ระบบการชำระเงินมันจะต้องเชื่อมกันหมดทั่วโลก ต้องทำทันที และต้องครอบคลุม
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงกันอีกว่า Tokenization จะเป็นรากฐานสำคัญของการเกิดเศรษฐกิจดิจิทัล
จากที่ในยุคก่อนหน้านี้เราต่างมีการเชื่อมต่อระหว่างกัน (Connectivity) ที่ครอบคลุมที่ทุกคนสามารถมาร่วมในเศรษฐกิจบนอินเทอร์เน็ตได้ แต่นั่นก็เป็นการที่เราอัปโหลดข้อมูลเข้าไปในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่สำหรับมูลค่าแล้ว มันยังถูกแยกไว้อยู่ในโลกความเป็นจริง ที่ยังต้องจับต้องได้ ดังนั้นต้นทุนมันสูงมาก ส่งผลให้สามารถให้บริการทางการเงินกับลูกค้าได้อย่างจำกัด แต่สำหรับ Tokenization จะทำให้เราอัปโหลดมูลค่าทุกชนิดเข้าไปในโลกออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้น วงการแลกเปลี่ยนมูลค่า มันก็จะกลายเป็นรูปแบบดิจิทัลได้เหมือนกัน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่เรียกว่าบล็อกเชน ซึ่งทั้งหมดจะนำมาสู่การทำให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มตัว
ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเสียงดังขึ้น และไม่เสียโอกาสในกติกาโลกใหม่?
จิรายุส กล่าวว่า เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า ประเทศไทยเล็กเกินไปที่สามารถจะกำหนดทิศทางของโลก เราได้เป็นผู้ตามเป็นหลัก เราไม่มีเสียงใหญ่พอที่จะเปลี่ยนกฎของโลกได้ ในบรรดาผู้นำกว่า 3,000 คนที่ไป ส่วนใหญ่จะครอบงำโดยคนผิวขาว หรือชาติตะวันตก จะเห็นคนที่มาจากอาเซียนน้อยมาก เราไม่เห็นผู้นำจากกัมพูชา หรือเวียดนาม แต่ประเทศไทยยังมี 11 คน ส่วนประเทศที่มาเยอะกว่าไทย คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งจำนวนเก้าอี้ของแต่ละประเทศก็ขึ้นอยู่กับผลกระทบต่อ GDP ของโลก ดังนั้นประเทศไทยเราเล็กเกินไปที่จะเปลี่ยนทิศทางของโลกได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราเข้าไปฟังว่าโลกจะเดินไปในทิศทางไหน แล้วกลับมามีนโยบายที่สอดคล้องกับโลกไม่ได้
เราอยู่ในยุคที่ต้องพูดคุยกัน เพราะถ้าเป็นหนึ่งประเทศที่ออกนอกเส้นทางของโลก มันจะโดนแซงค์ชั่นแน่นอน และปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ใหญ่เกินกว่าหนึ่งประเทศจะแก้ไขได้ ดังนั้นมันต้องมี 2 อย่างที่ต้องพูดกันมากขึ้น คือ
หนึ่ง Public and Private Partnership ภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ เอกชนทำคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องจับมือกัน
สองคือ Cooperation In A Fragmented World เราจะร่วมมือกันอย่างไรในโลกที่เป็นเศษส่วน
เพราะทุกวันนี้เราต่างพึ่งพาอาศัยกันมากกว่าที่คิด เพราะฉะนั้นเมืองไทย สำคัญมากที่จะต้องเข้าไปฟัง แล้วกลับมามีนโยบายที่สอดคล้อง ทำอย่างไรก็ได้ให้เมืองไทยเป็นไข่แดงในไข่ขาวที่ไม่ให้ไปโผล่ที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม แทน ในขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุดของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เสียงของอาเซียนจะดังขึ้น เม็ดเงินจะไหลเข้ามามากขึ้น และเราจะมีความสำคัญต่อโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยได้เปรียบคนอื่นหลายเรื่อง ทั้งสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ ทักษะของคน ขอแค่มีนโยบายที่สอดคล้องกับกฎใหม่ของโลก มีสิทธิ์ที่เมืองไทยจะเป็นไข่แดงของอาเซียนได้