การควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รวมทั้งการประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแบรนด์ 3BB ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้นั้น
จะเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของกิจการโทรคมนาคมไทยครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษ จากจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาดมือถือและอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้าน (fixed line) ที่ลดลง 1 ราย ทั้งจากการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ
สำหรับตลาดมือถือ ผู้เล่นเบอร์ 1 ตลอดกาลอย่างเอไอเอส จะขยับลงมาเป็นเบอร์ 2 เมื่อส่วนแบ่งตลาดของทรูและดีแทครวมกันเป็น 49.40% (ทรู 31.99% และดีแทค 17.41%)เหนือเอไอเอสที่มีส่วนแบ่ง 47.72% (ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2565)
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินในมุมของส่วนแบ่งรายได้ เอไอเอสยังนำโด่งอย่างยากที่จะโค่นลงภายในระยะเวลาอันสั้น แม้การควบรวมจะทำให้ทรูและดีแทคขยับขึ้นมาแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น ส่วนผู้เล่นรายที่ 4 อย่างบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ NT ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือทีโอทีและแคทเทเลคอมนั้น มีฐานลูกค้าราว 2 ล้านราย ในทางทฤษฎีผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดไม่เกิน 5% ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ตลาดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้าน ตัวเลขจากสำนักงาน กสทช.ระบุ มีผู้ให้บริการรายใหญ่ 4 รายหลัก ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 97.05% ได้แก่ ทรู, 3BB, NT และเอไอเอสไฟเบอร์ ตามลำดับ โดยเมื่อเอไอเอสซื้อ 3BB ได้สำเร็จ ส่วนแบ่งตลาดบรอดแบนด์บ้านของเอไอเอสจะเพิ่มเป็น 41.3% ขยับขึ้นเป็นเบอร์ 1 ทิ้งห่างทรูซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ 35.33%
นอกจากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่ลดลงฐานลูกค้าที่ขยายใหญ่ขึ้นผ่านการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ จากเบอร์ 2 เบอร์ 3 และเบอร์ 4 ขยับขึ้นเป็นผู้นำตลาด โอกาสทางธุรกิจย่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย
ปี 2566 นี้ จึงเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง ต่อการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงข่ายมือถือ อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายและบรอดแบนด์ตามบ้าน ที่ทุกวันนี้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนในโลกยุคใหม่ ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการมากกว่า 90 ล้านเลขหมาย...อย่างไม่ต้องสงสัย
ย้อนกลับไปตั้งแต่ประกาศควบรวมกิจการกันเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ทรูและดีแทคถูกกระแสโจมตี เตะตัดขา ทั้งจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เอ็นจีโอ นักวิชาการ คู่แข่งอย่างเอไอเอสเอง หรือแม้แต่บอร์ด กสทช.บางรายที่แสดงจุดยืนชัดเจนไม่เห็นด้วยกับการควบรวม ด้วยมีความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด หลังผู้ให้บริการหลักลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย
แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 หลังประชุมยาวนานกว่า 11 ชั่วโมง บอร์ด กสทช.ได้มีมติรับทราบการควบรวมกิจการทรูและดีแทคโดยเสียงข้างมาก 3 : 2 เห็นว่าบอร์ด กสทช.มีอำนาจเพียงรับทราบและกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมถือเป็นการเปิดไฟเขียวสว่างโร่จากหน่วยงานกำกับดูแล
เบื้องหลังมติเสียงข้างมาก ที่สรุปจบได้สำเร็จมาจากการใช้สิทธิออกเสียง 2 ครั้งของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เนื่องด้วยมี 1 บอร์ดที่งดออกเสียง (จากบอร์ดจำนวน 5 คนในขณะนั้น) นั่นคือ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการด้านกิจการกระจายเสียง โดยให้เหตุผลว่ายังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายที่ยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน
ท่ามกลางผลการศึกษามากมายจากหลายแหล่งข้อมูล “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือ พิมพ์ไทยรัฐ” ขอหยิบยกความเห็นต่อการควบรวมกิจการของ พล.อ.ท.ธนพันธุ์มาเผยแพร่ต่อ ในฐานะบอร์ด ที่งดออกเสียง โดยเป็นความคิดเห็นที่สรุปจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยีกรณีทรูควบรวมดีแทค ที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์เป็นประธาน
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร กสทช.ประจำปี 2565 ว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ส่งผลกระทบมหาศาลต่อผู้บริโภค ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเงินการลงทุน
การพิจารณาผลกระทบจากการรวมธุรกิจที่มีต่อระดับการแข่งขันและการเกิดผู้มีอำนาจเหนือตลาด ให้ใช้วิธีการประเมินแบบ Herfindahl-Hirschman Index (HHI) เป็นหลัก หากหลังควบรวม ค่า HHI เกินกว่า 2,500 และค่า HHI เพิ่มขึ้นเกินกว่า 100 อาจชี้ให้เห็นว่าการรวมธุรกิจนั้นเข้าข่ายครอบงำตลาด ซึ่ง กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายได้
ซึ่งจากการคำนวณพบว่า ระดับความน่ากังวลอยู่ในโซนอันตราย หลังควบรวมทรูและดีแทคจะมีส่วนแบ่งตลาดเป็น 54% ส่วนเอไอเอส 46% ซึ่งจะทำให้ค่าดัชนีการกระจุกตัว HHI เพิ่มเป็น 5,032 หน่วย เพิ่มจากก่อนควบรวม 1,360 หน่วย จึงควรมีการพิจารณาผลกระทบจากการรวมธุรกิจอย่างรอบด้าน
จากการวิเคราะห์ด้านการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป การควบรวมจะทำให้ลูกค้าดีแทคได้รับบริการหลากหลายขึ้น เนื่องจากดีแทคให้บริการโครงข่ายมือถือเพียงอย่างเดียว ขณะที่ทรูมีบริการที่หลากหลายกว่าทั้งอินเตอร์เน็ตบ้าน โทรทัศน์ สื่อผสม
แน่นอนว่าการรวมธุรกิจ อาจเป็นการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน เนื่องจากมีแบนด์วิธ (Bandwidth) เพิ่ม โดยเฉพาะต่อลูกค้าดีแทค แต่เป็นการลดทางเลือกในตลาดมือถือลงเหลือ 2 ราย โดยเฉพาะเมื่อดีแทค มักเป็นผู้เล่นที่สร้างความรุนแรงในการแข่งขัน ราคา เพื่อชดเชยข้อเสียเปรียบที่ไม่มีบริการหลากหลายเหมือนคู่แข่ง
ทั้งนี้ การอนุญาตให้ทรูควบรวมดีแทค หากสามารถใช้คลื่นความถี่ร่วมกันได้ จะช่วยบรรเทาปัญหาความขาดแคลนคลื่นที่ดีแทคกำลังเผชิญอยู่ แต่อาจส่งผลให้ความต้องการคลื่นระยะสั้นลดลง ไม่เกิดการใช้คลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น การเปิดให้ร่วมใช้ทรัพยากรของกันและกันได้ จะช่วยให้เกิดการประหยัดเชิงขนาด (Economy of scale) ลดต้นทุนซ้ำซ้อน แต่จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ไม่มีเครื่องการันตีว่าหลังรวมธุรกิจจะมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มคุณภาพ กสทช.จึงอาจจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการกำกับดูแลให้มีการขยายโครงข่ายและยกระดับคุณภาพของการให้บริการ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้คู่แข่งในตลาดที่เหลือ ต้องกระทำเช่นกัน
การรวมธุรกิจยังอาจเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันทางเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆได้ โดยควรกำหนดเป็นเงื่อนไขในการรวมธุรกิจว่าต้องลงทุนพัฒนาโครงข่ายให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น Edge computing และบริการใหม่ๆ ให้ลูกค้าระดับองค์กร
ในกรณีที่เกิดมีการรวมโครงข่ายหลักหรือ Core network เข้าด้วยกัน ควรมีมาตรการส่งเสริมหรือสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนซิมการ์ดเพื่อให้เครื่องมือถือทั้งหมดเชื่อมต่ออยู่บนโครงข่ายที่ใช้เน็ตเวิร์กเดียวกัน ไม่ใช่ให้บริการผ่านการโรมมิ่ง ที่คุณภาพต่ำกว่า โดยควรกำหนดเงื่อนไขให้จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านอย่างละเอียดและเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้บริการให้มากที่สุด
ข้อเสนอแนะของ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ บางส่วนสอดคล้องกับมาตรการเฉพาะที่บอร์ด กสทช.มีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ให้ทรูและดีแทคต้องดำเนินการตาม ตั้งแต่การกำหนดให้อัตราเฉลี่ยของค่าบริการลดลง 12%, การนำส่งข้อมูลต้นทุน, การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ใหม่, การยังให้ทั้ง 2 แบรนด์ให้บริการแยกกันเป็นเวลา 3 ปี, การต้องสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กในราคาที่กำหนด, การรักษาคุณภาพสัญญาณ ห้ามลดจำนวนเซลไซท์ เป็นต้น
มติบอร์ด กสทช.ยังให้กำหนดกลไกในการติดตามและประเมินผลการควบรวมธุรกิจ ผ่านการจัดตั้งคณะอนุกรรมการติดตาม และหากหลังควบรวม กสทช.พิจารณาและได้รับข้อร้องเรียนว่า มีการกระทำหรือพฤติกรรมหรือเหตุอันเป็นการผูกขาด, ลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กสทช.สามารถระงับ ยกเลิก หรือเพิ่มเติมมาตรการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น
เมื่อพิจารณาจากอำนาจที่ กสทช.มี เรื่องราวจากนี้น่าจะอยู่ที่ว่า กสทช.นั้น จะสามารถกำกับดูแลได้อย่างเข้มข้นและมีเจตนาปกป้องผู้บริโภคมากเพียงไร
เช่นเดียวกับกรณีการเข้าซื้อกิจการ 3BB ของเอไอเอส ซึ่งกระบวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวน่าจะเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในเร็ววันนี้ โดย ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เปิดเผยไว้ว่า จะดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกันกับกรณีทรูและดีแทค
การทำความเข้าใจต่อกรณีควบรวมและเข้าซื้อกิจการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยังน่าจะต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New telco market) ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย
New telco market คือตลาดโทรคมนาคมที่ประกอบด้วยผู้ให้บริการโครงข่ายดั้งเดิมอย่างเอไอเอส ทรู และดีแทค รวมทั้งผู้ให้บริการดิจิทัลหลากหลาย ตั้งแต่โซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันเพื่อการรับชมหนัง เพลงอย่างยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ สปอติฟาย ซึ่งให้บริการแขวนอยู่บนเครือข่ายมือถือ (OTT-Over the Top) ผู้ประกอบการดิจิทัลเหล่านี้ ไม่มีต้นทุนในการลงทุนโครงข่ายจำนวนมหาศาลอย่างที่ค่ายมือถือมี ไม่มีต้นทุนภาษี ต้นทุนการขออนุญาต หรือต้นทุนด้านการกำกับดูแล เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ
สภาพการณ์ของตลาดโทรคมนาคมในระยะ 4-5 ปีย้อนหลัง เราจึงได้เห็นภาพที่ทั้งเอไอเอส ทรู และดีแทคต่างพยายามขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เทคโนโลยีมากกว่าที่จะจำกัดความตัวเองว่าเป็นบริษัทที่ให้บริการโครงข่ายเพียงอย่างเดียว
ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ผู้บริการแบบ OTT มีการใช้ข้อมูลมหาศาลวิ่งผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย โดยเฉพาะบริการประเภทวิดีโอสตรีมมิง ต้นทุนตรงนี้ตกเป็นภาระของผู้ให้บริการโครงข่ายทั้งหมด (Free riding) OTT จึงเป็นบริการที่มีรายได้จากการสร้างต้นทุนเพิ่มให้กับโครงข่าย
นอกเหนือจาก OTT แล้ว ผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือยังกำลังต้องเผชิญหน้ากับผู้เล่นรายใหม่อีกประเภท คือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมขนาดเล็ก วงโคจรต่ำ (LEO) ซึ่งบริษัทอย่าง Space X เตรียมให้บริการอยู่
การแข่งขันในยุคใหม่ จึงไม่ใช่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมด้วยกันเท่านั้น หากแต่เป็นการแข่งขันข้ามแพลตฟอร์ม โดยที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมกลายเป็นท่อ (Pipe) หรือช่องทาง (Channel) ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านั้นใช้งานแบบฟรีๆ
เป็นความเหลื่อมล้ำที่จำเป็นต้องเร่งสร้างสมดุลในการแข่งขัน และการกำกับดูแลอาจต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้ให้บริการโครงข่ายในประเทศแข่งขันกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศที่ไม่มีต้นทุนได้
...ภูมิทัศน์ดังที่กล่าวมา จึงนำไปสู่กระบวนการรวมกันเราอยู่ แยกหมู่ตายเดี่ยว อย่างที่ปรากฏและกลายเป็น Big impact ในรอบทศวรรษ ดังที่เห็น...
ทีมเศรษฐกิจ