สุกี้ตี๋น้อย จะเข้าวงการคริปโต? ส่องอนาคตหลังกลุ่มเจมาร์ทเข้าลงทุน

Business & Marketing

Marketing

Tag

สุกี้ตี๋น้อย จะเข้าวงการคริปโต? ส่องอนาคตหลังกลุ่มเจมาร์ทเข้าลงทุน

Date Time: 23 พ.ย. 2565 08:40 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ใครที่รู้จักร้านสุกี้ตี๋น้อย และเห็นมหามวลชนที่รอคิวหน้าร้าน เพื่อเข้าไปทานสุกี้ ทราฟฟิกแน่นตลอดตั้งแต่ร้านเปิดยันเกือบสว่าง คงไม่แปลกใจว่าทำไม กลุ่มเจมาร์ทถึงทุ่มเงินกว่า 1,200 ลบ. ซื้อหุ้น

Latest


ถ้าหากใครที่รู้จักร้านสุกี้ตี๋น้อย และเห็นมหามวลชนที่รอคิวหน้าร้าน เพื่อเข้าไปทานสุกี้ ที่ทราฟฟิกแน่นตลอดตั้งแต่ร้านเปิดยันเกือบสว่าง (ร้านเปิดถึงตี 5) คงไม่แปลกใจว่าทำไม กลุ่มเจมาร์ทถึงทุ่มเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เข้าลงทุนใน บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” เป็นสัดส่วนกว่า 30%

และแน่นอนว่ากลุ่มเจมาร์ทไม่ได้เพียงแค่เข้าไปซื้อหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่คงมองโอกาสทางธุรกิจว่าเข้าไปร่วมมือกันอย่างไร ที่จะติดสปีดให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะในการประกาศเข้าซื้อนั้น เจมาร์ทได้บอกอย่างชัดเจนว่าต้องการผลักดันสุกี้ตี๋น้อยเข้าตลาดหลักทรัพย์

สำหรับเจมาร์ทหลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับการเป็นร้านขายมือถือที่ขยายตัวเองสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เข้าสู่วงการคริปโตฯ ฉบับที่เรียกว่าเป็นผู้มาก่อนกาล จนกระทั่งทุกวันนี้ได้มีการทรานส์ฟอร์มอย่างต่อเนื่อง และเรียกตัวเองว่าเป็น Technology Investment Holding Company ที่มุ่งเน้นในการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพื่อการเติบโตที่ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่ในอุตสาหกรรมเดิมเท่านั้น

การลงทุนในธุรกิจอาหารนั้น เป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่มีศักยภาพ ที่กลุ่มเจมาร์ทมองแล้วว่า หากนำเทคโนโลยีเข้าไปขับเคลื่อนธุรกิจ จะเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer relationship management : CRM)

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีในเครือกลุ่มบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน)
นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีในเครือกลุ่มบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน)

คุณธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จํากัด ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่มีหน้าที่ทำ Digital Transformation ให้กับกลุ่มเจมาร์ทโดย ปัจจุบันใช้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีหลักในการขับเคลื่อนนั้น ได้เปิดเผยกับ ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การที่กลุ่มเจมาร์ทได้เข้าไปลงทุนในร้านอาหารแบรนด์สุกี้ตี๋น้อย แน่นอนว่าการซื้อหุ้น 30% ครั้งนี้ เราได้เข้าไปช่วยทำ Digital Transformation ด้วย ซึ่งเราจะนำบล็อกเชนมาใช้เป็นหนึ่งในกลไกของการเพิ่มคุณค่า ซึ่งสิ่งที่มองเห็นคือ ร้านสุกี้ตี๋น้อย เป็นร้านอาหารที่มีระบบนิเวศของตัวเอง มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ที่จะทำให้กลุ่มเจมาร์ทสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไป enebling ในสิ่งที่ต้องการทรานส์ฟอร์มได้ โดยเฉพาะได้เพิ่มลูกเล่นให้กับลูกค้า ซึ่งในได้มองหาแนวทางในการที่จะออก NFT หรือ Token บางอย่าง เพื่อนำไปใช้มอบสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าได้

โดยกลุ่มเจมาร์ทมีศักยภาพที่จะทำตรงนี้ได้ เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม โดยเราได้พัฒนามากว่า 4-5 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเชนของตัวเองอย่าง X-CHAIN สำหรับภาคการศึกษา และ JFIN Chain สำหรับภาคธุรกิจ คริปโต วอลเล็ต แบบ non-custodial ลักษณะเดียวกับ metamask ที่สามารถให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บ Private Key ด้วยตัวเองได้ ซึ่งจะให้บริการในระดับ enterprise

นอกจากนี้เรายังมี crypto payment gateway ที่สามารถแลกเปลี่ยนแต้ม หรือ พอยต์ ในโลกเก่าให้เป็นเหรียญ เปลี่ยนเหรียญให้เป็นเงินได้ด้วย

“ถ้ามองดีๆ สิ่งที่ร้านสุกี้ตี๋น้อยมี คือ ecosystem ที่น่าสนใจมาก ทั้งฝั่งของดีมานด์ คือ กลุ่มคนที่อยากกินสุกี้ และซัพพลาย คือ ร้านสุกี้ที่มีอยู่หลายสาขา และกลุ่มลูกค้าจะมีความจงรักภักดีกับแบรนด์สูงมาก ดังนั้นเราจะนำเทคไปช่วยผลักดันตรงนี้ ให้ผู้คนสามารถเข้ามาทำธุรกรรมอะไรบางอย่างบน ecosystem ของร้าน เช่น กิจกรรมเล่นเกมที่แจก airdrop กิจกรรมล่า NFT แล้วอาจจะมาแลกเป็นส่วนลดได้ หรือแลกเป็นของรางวัลในเครือเจมาร์ทได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างความสนุกสนาน เพิ่มลูกเล่น เพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้าทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมได้ภายในครึ่งปีแรก ของปี 2566” คุณธนวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามการเข้าไปลงทุนในครั้งนี้ กลุ่มเจมาร์ทต้องการผลักดันเข้ากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการเพิ่มสาขาไปยังพื้นที่มีศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 42 สาขาในไทย และมีลูกค้าเฉลี่ยกว่า 30,000 คนต่อวัน

ขณะที่ผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปี 2562 รายได้รวม 499.39 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15.43 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 1,223.05 ล้านบาท กำไรสุทธิ 140.28 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวม 1,572.27 ล้านบาท กำไรสุทธิ 147.99 ล้านบาท.


Author

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)
Leading efforts to deliver content on the Digital Economy and the Future of Money.