แกร็บเตรียมปล่อยกู้บุคคลทั่วไป เหลือขาดทุนแค่ฟู้ดดีลิเวอรี เดินหน้าทำกำไรปี 67

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แกร็บเตรียมปล่อยกู้บุคคลทั่วไป เหลือขาดทุนแค่ฟู้ดดีลิเวอรี เดินหน้าทำกำไรปี 67

Date Time: 19 พ.ย. 2565 05:30 น.

Summary

  • จากรายงานผลประกอบการล่าสุดของ แกร็บ (Grab) บริษัทแม่ซึ่งกระจายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ไตรมาส 3 ยังขาดทุนอยู่ที่ 342 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 12,312 ล้านบาท)

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

นายวรฉัตร ลักขณา โรจน์ กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากรายงานผลประกอบการล่าสุดของ แกร็บ (Grab) บริษัทแม่ซึ่งกระจายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ไตรมาส 3 ยังขาดทุนอยู่ที่ 342 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 12,312 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 65% นับว่าเข้าใกล้เป้าหมายที่ได้ ประกาศเอาไว้ว่าแกร็บจะทำกำไรให้ได้ภายในปี 2567 นี้ “การประกาศว่าจะทำกำไร หมายถึงการที่ธุรกิจในทั้ง 8 ประเทศที่แกร็บเข้าไปลงทุน สามารถทำกำไรได้ทั้งหมด รวมทั้งแกร็บ ประเทศไทยด้วย”

โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ธุรกิจที่ยังติดลบมีเพียงธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี แต่ตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ จากความพยายามในการเพิ่มยอดเงินในการสั่งอาหารแต่ละครั้ง เพราะธรรมชาติของธุรกิจส่งอาหาร หากยอดสั่งแต่ละออเดอร์น้อย เช่น กาแฟ 1 แก้ว กำไรก็จะน้อยลงไปด้วย ทางออกคือการเพิ่มยอดเงินในการสั่งแต่ละครั้ง เช่น การดึงร้านมิชลินสตาร์เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มแกร็บ ขณะที่การลดโปรโมชัน ก็จะช่วยลดตัวเลขขาดทุนลง ส่วนธุรกิจรับส่งของ-พัสดุ ถือว่าไปได้ดี เพราะแกร็บเลือกที่จะลงแข่งขันในตลาดส่งด่วนเป็นการเฉพาะ “แกร็บให้บริการส่งสินค้าภายใน 30 นาที ซึ่งเป็นตลาดส่งด่วน เก็บค่าบริการสูงแต่การแข่งขันน้อย เราน่าจะเป็นเจ้าตลาด”

ส่วนบริการเดินทาง เช่น แกร็บคาร์ แกร็บไบค์ แกร็บแท๊กซี่นั้น ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ ขณะนี้คนขับไม่พอกับความต้องการ ทำให้คนขับรถแกร็บคาร์บางรายที่รับงานขับวันละ 8 ชั่วโมงมีรายได้เดือนละกว่า 50,000 บาท เช่นเดียวกับธุรกิจการเงิน ซึ่งได้แก่ บริการรับชำระเงิน และบริการสินเชื่อสำหรับคนขับและร้านอาหาร ก็เป็นธุรกิจที่มีกำไรเช่นกัน โดยปีหน้ามีแผนขยายธุรกิจสู่การปล่อยกู้ให้กับลูกค้าทั่วไปด้วย

นายวรฉัตร ยังกล่าวถึงแนวทางปรับความเข้าใจกับคนขับฟู้ดดีลิเวอรีในสังกัดแกร็บที่เพิ่งประท้วงการปรับเปลี่ยนกฎการรับงานใหม่ว่า เงื่อนไขใหม่เป็นการปรับเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการ ซึ่งถูกนำมาใช้ในหลายประเทศที่แกร็บเข้าไปทำธุรกิจ แต่ไม่ใช่การบังคับ ยืนยันเงื่อนไขที่ออกมาเป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น การกำหนดให้จองวัน เวลา และโซนที่จะรับงาน จะช่วยให้ไรเดอร์ไม่ต้องวิ่งงานไกล ประหยัดน้ำมันและเวลา รวมทั้งการรับงานคู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถจัดสรรเวลาและบริหารทรัพยากรได้ดีขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ