นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นอย่างก้าวกระโดด และต่อยอดให้เข้มข้นเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ในโลกทศวรรษใหม่นั้น ถ้ามัวแต่คิด และรีรอที่จะตัดสินใจ
ประเทศ และคนไทย คงไม่สามารถจับต้องผลพวงที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และความเจริญก้าวหน้าแก่ตน และประเทศชาติได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความโชคดีที่ประเทศไทยมี “บริษัทใหญ่หลายแห่ง” ที่พรั่งพร้อมไปด้วยทุนและบุคลากรที่จะขยับปรับเปลี่ยนทิศทางของธุรกิจและอุตสาหกรรมไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจตนและประเทศไปข้างหน้าได้อย่างชาญฉลาด
คนไทยอย่างเราๆท่านๆจึงมีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้มากมายหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน ฯลฯ ในอีกปีสองปีข้างหน้า
กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
จากโมเดลการปรับตัว ของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ภายใต้การบริหารจัดการของ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่
เขาประกาศว่า ปตท.และกลุ่มบริษัทในเครือจะใช้เวลาภายใน 5 ปี (2564-2568) เปลี่ยนผ่านจากบริษัทน้ำมัน และพลังงานแห่งชาติไปเป็นบริษัทพลังงานแห่งอนาคต เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานสะอาดให้สำเร็จภายในปี 2032 กระทั่งสามารถเป็นบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2050
นายอรรถพลตอกย้ำว่า “มี 2 คำที่จะเป็นทิศทางให้ ปตท.และกลุ่มบริษัทในเครือเดินไปข้างหน้าในระยะยาวได้อย่างมีจุดหมาย และประสบความสำเร็จคือ GO GREEN และ GO ELECTRIC”
Go Green คือ เดินหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อเป้าหมายข้างต้น ส่วน Go Electric คือ เปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายสู่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันห่วงโซ่การผลิตทั้งหลายจะต้องสะอาดตามไปด้วย
ปตท.จึงเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ และมุ่งหน้าสู่ New Version โดยการเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าวิสัยทัศน์เดิม (Powering life with future energy and beyond)
แปลความหมายให้กว้างขึ้นอีกก็คือ ปตท.จะเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นเป็นแรงขับเคลื่อนแก่ทุกชีวิต ผู้คน ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกด้วยพลังงานแห่งอนาคตและนวัตกรรมแห่งทศวรรษใหม่
“พลังงานแห่งอนาคต” หลักๆ ก็คือ พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเก็บกักพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ หรือใต้ดิน และสุดท้ายคือการเดินหน้าสู่การผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า
ปตท.ได้ลงทุนและเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างชาติหลายรายเพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV: Electric Vehecle) จากพลังงานหมุนเวียนที่มาพร้อมกระบวนการผลิตที่ต้องสะอาดด้วยโดยผ่านบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลธุรกิจนี้เป็นหลัก
“อรุณ พลัส” จะทำธุรกิจ EV ครบวงจร ตั้งแต่แบตเตอรี่ จนถึงการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV โดยร่วมกับ Foxconn ทำไมโครชิป ศึกษาร่วมทุนเพื่อผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในเวลาเดียวกันก็สร้างสถานีให้บริการไฟฟ้า (Charging Station) โดยตั้งบริษัทชื่อ ออน-ไอออน
ปตท.ยังตั้งบริษัท swap & GO สำหรับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และเพื่อให้ผู้คนทั่วไปหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
ปตท.ได้ทำแพลตฟอร์มชื่อ EVME เพื่อตอบโจทย์แก่คนที่อยากขับรถ EV แต่ไม่กล้าซื้อ สามารถเข้าไปแพลตฟอร์มนี้เพื่อเช่าใช้ได้ตั้งแต่ 3 วัน 7 วัน หรือเป็นเดือนก็มีทุกยี่ห้อ ขณะนี้ EVME ก็มีรถให้เช่ากว่า 400 คัน มีอัตราการเช่า 90% แล้ว และมีคนเช่ารถ Porshe นานถึง 6 เดือนด้วย
ปตท.ยังมีบริษัท fIT Auto เพื่อใช้ให้บริการ After Sale Service หลังการให้เช่าด้วยเพื่อจะให้มีความรู้ในเรื่องของการดูแลรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อโรงงานสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาได้ตามเป้า
เป้าหมายการลงทุนของ ปตท.และกลุ่มบริษัทในเครือภายใต้วงเงินลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านบาทนี้ ปตท.จะขยายฐานธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ธุรกิจที่เรียกว่า Life Science ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน New S–Curve 12 ด้าน โดยเลือกหยิบเอาธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นสมัยนิยม หรือ Trend ของโลก มาเป็น Trend ของประเทศไทยที่ควรมี
ข้อสำคัญคือ ต้องสร้างมูลค่าสูงให้แก่ธุรกิจ และตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในโลกสมัยใหม่ด้วยการตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) Innobic asia เพื่อดูแลธุรกิจผ่านการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท Nutrition และทำ MOU กับบริษัทต่างๆ
อินโนบิก จะดูแลเรื่องการผลิตยา อาหาร ซึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชื่อ alt. Eatery เป็น Plant Based อยู่ที่สุขุมวิท 51 ในโครงการของ บมจ.แสนสิริ ซึ่งปัจจุบันมียอดขายเดือนละล้านบาท
เป้าหมายต่อไปของอินโนบิก ยังต้องการเข้าถึง Medical device เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง เครื่องมือทางการแพทย์ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประเทศไทยต้องสั่งนำเข้า เช่น เส้นใยไม่ถักทอของหน้ากากอนามัย หรือชุด PPE ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์นี้ ปตท.ลงทุนร่วมกับ บมจ.IRPC เพื่อผลิตวัสดุอื่นๆทางการแพทย์ทดแทนการนำเข้าในอนาคตด้วย
นอกจากนี้ ยังจะมีการผลิตวัคซีน การวินิจฉัยโรค และอาหารเสริมหรือวิตามินเพื่อสุขภาพ การขยายฐานเข้าสู่ธุรกิจยาของ ปตท.มีผู้ร่วมทุนและพันธมิตรจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศกว่า 50 ราย เช่น องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จากประเทศอังกฤษ เป็นต้น
และในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงทางการแพทย์นี้ ทำให้ ปตท.และอินโนบิกมีโอกาสร่วมงานกับคณะแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการสนับสนุนงานวิจัยนวัตกรรม “มณีแดง” ที่นักวิจัยของจุฬาฯค้นพบโมเลกุลต้นน้ำของความชราที่ทำให้เกิดแรงตึงของสาย DNA ในวัยชรา และทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงกลับมาดีขึ้น ซึ่งเป็นการค้นพบ “ครั้งแรกของโลก”
นอกจาก “มณีแดง” จะเป็นโอสถทิพย์แก่ผู้พยายามหยุดรั้งความชราแล้ว ยังอาจส่งผลดีต่อการรักษาและระงับยับยั้งโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นอันดับต้นๆของสาเหตุการตายของคนในโลกได้ด้วย
ธุรกิจใหม่ที่ ปตท.และกลุ่มบริษัทในเครือจะต้องร่วมกันลงทุนอีกธุรกิจหนึ่ง ก็คือ ธุรกิจการลงทุนในระบบโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกันทำแล้วก็คือ ลงทุนในท่าเรือแหลมฉบัง
อีกเรื่องก็คือ ลงทุนในระบบราง การลงทุนส่วนนี้ ปตท.จับมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกันนี้ ไม่ใช่การไปประมูลงานในระบบรถไฟฟ้า แต่ใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนปัญญาประดิษฐ์เข้าไปดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ใน “ระบบโลจิสติกส์” ที่พวกเรามีอยู่ขึ้นมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ และผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงสุด
“ถ้าระบบรางคู่ของการรถไฟเสร็จจะเกิดศักยภาพต่อระบบการขนส่งของไทยอย่างมหาศาลโดยไม่ต้องไปนั่งเถียงกันอยู่ว่า ขนาดของรางควรเป็นเท่าใด หรือใช้รถไฟประเภทใด เพราะรถไฟไทยสามารถเชื่อมต่อกับลาวไปจีน หรือไปไหนต่อไหนได้ตามแผนที่วางไว้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าไปจับ
เช่นเดียวกับที่ได้หารือกับผู้บริหาร บมจ.การบินไทยไว้ และปตท.ก็มีหลายโปรเจกต์ที่จะเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพที่มีอยู่ เป็นการขยายศักยภาพของกันและกันนั่นเอง”
High Value Business อีกธุรกิจหนึ่งที่ บมจ.จีซี (GC) จะทำหน้าที่เป็นหัวหอกก็คือ การต่อยอดจากปิโตรเคมีพื้นฐานที่เรียกว่า Specialty มากขึ้นในแง่ของการเข้าไปลงทุนซื้อบริษัทที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง เช่น เทคนิคการเคลือบผิวที่เป็น Biotechnology
ไม่ว่าจะเป็น Biofuel Biochemical หรือ Bioplastic ซึ่งสามารถเคลือบได้ตั้งแต่ถนนไปจนถึงยานอวกาศ นายอรรถพล เชื่อว่า GC สามารถสร้างโรงงานที่นครสวรรค์ให้เป็น Bio Hub ของโลกได้
จาก Bio Hub บมจ.ปตท.สผ. (EP) จะเป็นผู้ดูแลธุรกิจ AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ Robotics (หุ่นยนต์) ซึ่งจริงๆ ก็เริ่มทำไปหลายอย่างแล้ว จากการใช้หุ่นยนต์สำรวจท่อและแท่นขุดเจาะใต้ทะเล จากนั้นก็พัฒนาสู่โดรนสำรวจแนวท่อสำรวจสายไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ไปจนถึงการสร้างโดรนเพื่อการเกษตร
EP เรียกโดรนพวกนี้ว่า “เจ้าเอี้ยง” ซึ่งจะถูกส่งขึ้นไปพ่นยาปราบศัตรูพืชและปุ๋ย
ปตท. โดยนายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ของ ปตท.และกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครืออย่าง ปตท.สผ. GC OR IRPC GPSC และ “ไทยออยล์” จะร่วมกันผลักดัน ปตท.สู่ความสำเร็จที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
เพื่อให้มี “บริษัทพลังงานแห่งชาติ” ใน New Version ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และมีมูลค่าสูงกว่า Market Cap 1 ล้านล้านบาทในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น.
ทีมเศรษฐกิจ