"ยอด" ฉายภาพสตาร์ตอัพ "ขาลง" ปั้นไลน์แมนวงในขึ้นเทคแชมเปี้ยนแห่งชาติ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"ยอด" ฉายภาพสตาร์ตอัพ "ขาลง" ปั้นไลน์แมนวงในขึ้นเทคแชมเปี้ยนแห่งชาติ

Date Time: 3 พ.ย. 2565 05:03 น.

Summary

  • “ยอด ไลน์แมนวงใน” ฉายภาพ “ขาลง” สตาร์ตอัพ คือ บทเรียนสำคัญสอนให้เรียนรู้ ปรับตัวและหยุด “เผาเงิน” ย้ำรัฐบาลต้องสร้างคนเก่งรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหม่สู่ยุคหุ่นยนต์ AI

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

“ยอด ไลน์แมนวงใน” ฉายภาพ “ขาลง” สตาร์ตอัพ คือ บทเรียนสำคัญสอนให้เรียนรู้ ปรับตัวและหยุด “เผาเงิน” ย้ำรัฐบาลต้องสร้างคนเก่งรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหม่สู่ยุคหุ่นยนต์ AI ต้องทำให้วิศวกรมีรายได้มากกว่ายูทูบเบอร์ เปิดเป้าหมายต่อไปไลน์แมนวงใน หลังขึ้นทำเนียบสตาร์ตอัพยูนิคอร์นขนาดใหญ่ที่สุดในไทย เตรียมเข้าตลาดหุ้นและก้าวสู่การเป็นเทคแชมเปี้ยนแห่งชาติ (Tech National Champion)

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมนวงใน (LINE MAN Wongnai) เปิดเผยว่า ธุรกิจสตาร์ตอัพได้ผ่านยุคเฟื่องฟูไปแล้วและกำลังเข้าสู่ภาวะขาลงเต็มตัว จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจ แม้กระทั่งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ซึ่งทำอัตราเติบโตได้ดีท่ามกลางโควิดกำลังเตรียมพร้อมและปรับลดจำนวนพนักงานลง รวมทั้งภาวะตลาดเงินโลกที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพ ประกอบกับสตาร์ตอัพด้านคริปโตเคอเรนซีที่เคยเติบโตสุดขีดก่อนหน้านี้ กำลังซบเซาลงอย่างมาก

“บรรยากาศทั้งหมดประกอบกันทำให้ตลาดสตาร์ตอัพไม่สดใสเหมือนเดิม ผมประเมินว่าจากช่วงพีคที่ประเทศไทยมีจำนวนสตาร์ตอัพอยู่ราว 500 บริษัท ตอนนี้น่าจะเหลืออยู่ประมาณ 300 บริษัทหรือหายไปกว่า 40%”

ประเมินตลาดสตาร์ตอัพในไทยขณะนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก 1.สตาร์ตอัพขนาดใหญ่ราว 10 บริษัทที่ยังยืนหยัดอยู่ได้ เป้าหมายทุกคนน่าจะเหมือนกัน คือ การเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็น OokBee Acommerce, Omise, Pomelo, Flash, Bitkub และ LINE MAN Wongnai เป็นต้น 2.สตาร์ตอัพขนาดกลางที่ยังพอเดินต่อไปได้ มีโมเดลธุรกิจชัดเจนและรอวันเติบโต เช่น Flowaccount 3.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเต็มๆจากโควิด โดยเฉพาะสตาร์ตอัพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น Tourkrup และ Take me Tour ในกลุ่มนี้มีบางส่วนถอดใจปิดกิจการ บางส่วนเปลี่ยนตัวเอง เช่น หันไปทำบริการไอทีโซลูชัน ซึ่งทำให้อยู่รอดต่อไปได้

หมดยุคสตาร์ตอัพ “เผาเงิน”

“ในทุกวิกฤติ เราจะได้เห็นคนที่พยายามปรับ เปลี่ยนจนเจอทางของตัวเองและไปได้ต่อ นอกจากนั้นเรายังได้เห็นการกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงของสตาร์ตอัพและการหยุดเผาเงินด้วย”

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไลน์แมน วงใน ระบุว่า “สิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้คือการเร่งสร้างคนเพื่อรองรับกระแสเทคโนโลยีรอบใหม่ ซึ่งมุ่งไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ แม้ต้องใช้เวลานานและอาจช้าเกินไป แต่ก็ต้องเดินหน้าพัฒนาคนสายพันธุ์เทคโนโลยี การปรับโครงสร้างการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นยิ่ง “เราต้องทำให้วิศวกรมีรายได้มากกว่าหรือเท่าเทียมกับยูทูบเบอร์ให้ได้ เพื่อดึงคนเข้ามาเรียนตรงนี้ให้มากขึ้น”

นอกจากนั้น การจะสนับสนุนสตาร์ตอัพในช่วงขาลงได้อีกทางหนึ่ง คือ การผ่อนปรนเงื่อนไขให้เอื้อต่อการเข้ามาของเงินทุนต่างชาติ การสนับสนุนจากรัฐบาลตัวอย่างหนึ่งที่ดีมากคือการผ่าน พ.ร.ฎ.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในสตาร์ตอัพ โดยให้ยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax (กำไรที่ได้จากการซื้อขายหุ้น) ธุรกิจสตาร์ตอัพ เป็นเวลา 10 ปี สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการนำสตาร์ตอัพเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขอื่นๆที่อาจเป็นอุปสรรค เช่น ข้อกำหนดว่าต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปีจึงสามารถกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ เนื่องจากสตาร์ตอัพจำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนจากนักลงทุน ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติบางส่วน เมื่อระดมทุนหลายรอบเข้า สัดส่วนผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นคนไทย ย่อมน้อยลงทุกที

“ไลน์แมนวงใน” ซึ่งมีเป้าหมายจะเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯไทยภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ก็กำลังต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้ “ผมเชื่อว่าถ้าเราเป็นบริษัทที่เล็กกว่านี้ เราน่าจะไม่มีโอกาสหวังว่าจะได้กระจายหุ้นในตลาดหุ้นไทย ขนาดเราอยู่ในธุรกิจมา 12 ปีแล้ว เพิ่งผ่านการระดมทุนรอบซีรีส์ B มูลค่า 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือเกือบหมื่นล้านบาทสำเร็จ ทำให้มีมูลค่าบริษัทหลังระดมทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ (37,000 ล้านบาท) ขึ้นแท่นเป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย แต่เราก็ยังมีข้อกังวลอยู่ดี มันเป็นเรื่องที่ยาก”

มุ่งเป้า Tech National Champion

นอกจากการนำไลน์แมนวงในเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว เป้าหมายต่อไปคือการทำให้ไลน์แมนวงในกลายเป็นเทคแชมเปี้ยนแห่งชาติ (Tech National Champion) โดยมองว่าธุรกิจของไลน์แมนวงในมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่จุดนั้น

“ทุกวันนี้เราช่วยร้านอาหารทั่วประเทศในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยค้าขาย มากกว่า 800,000 ร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มของเรา มีลูกค้าที่ใช้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ 10 ล้านราย ผมมีความคิดในหัวว่าเราน่าจะสามารถขยายฐานให้ครอบคลุมไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน อาจไม่จำกัดอยู่แค่การสั่งอาหาร แต่รวมถึงการส่งสินค้าเข้าไปในระดับโชห่วย”

ปิดท้ายด้วยประเมินภาพรวมตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ในปี 2566 ว่า “จะไม่ใช่ปีที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ จากการวิเคราะห์ตัวเลขคำสั่งซื้อล่าสุด พบว่ากราฟคำสั่งซื้อในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนจะอยู่ในลักษณะตกท้องช้าง ผู้บริโภคดูเหน็ดเหนื่อยกับการใช้จ่ายเงิน สิ่งที่ธุรกิจต้องทำคือการวางแผนหารันเวย์ให้ดี สะสมกระแสเงินสดเอาไว้” ซีอีโอไลน์แมนวงในกล่าวทิ้งท้าย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ