การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 62 ยังคงทิ้ง “บาดแผล” และ “ความเจ็บปวด” ไว้กับผู้คนทั่วโลกจนถึงขณะนี้ และต้องใช้เวลาฟื้นฟู เยียวยา อีกระยะกว่าทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ
ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัส จากการล็อกดาวน์ และปิดประเทศ ที่ห้ามการเดินทางโดยเด็ดขาด
ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดในชะงักทันที เป็นเวลากว่า 2 ปี ผู้คนในภาคธุรกิจนี้จึงต้อง “ดิ้นหนีตาย” และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ “อยู่รอด”
“รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป” ผู้บุกเบิกธุรกิจโรงแรมในพัทยา ซึ่งเสมือนเป็น “ทรายเม็ดแรก” ของพัทยา และปัจจุบันมีโรงแรมในเครือหลายแห่ง ทั้งรอยัล คลิฟ บีช โฮเต็ล, รอยัลคลิฟบีช เทอเรซ, รอยัล คลิฟ แกรนด์ โฮเต็ล และรอยัล วิงสวีท แอนด์สปา จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน
“นายวิทนาถ วรรธนะกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป เล่าว่า กว่า 2 ปีที่โควิดระบาด เป็นช่วงที่สาหัสมากสำหรับธุรกิจ เพราะรายได้กลายเป็น “ศูนย์” จึงต้องทำทุกทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้
แต่ความยากอยู่ตรงที่กฎเหล็กของคุณแม่ (นางพงา วรรธนะกุล) ที่ “ห้ามปลดพนักงาน” 600 คนเด็ดขาด!!
ทางออกที่ดีที่สุด คือ ขอความร่วมมือพนักงาน “ลดเงินเดือน” และช่วยกันหาทางออกอื่นๆ เช่น ทำ Street Food ขายอาหารและขนม โดยเมนูขึ้นชื่อที่ขายดี เช่น ผัดไทย หอยทอด สาคูไส้หมู ขนมครก และหมูปิ้ง
“ผัดไทยของเราขึ้นชื่อมาก ขนาดแขกต่างชาติรายหนึ่ง ที่มาพักประจำ ต้องสั่งทานทุกครั้งที่มา แต่มีครั้งหนึ่ง เขามาประชุมที่กรุงเทพฯ ไม่มีเวลามาพัทยา ต้องลงทุนเช่าเฮลิคอปเตอร์เป็นเงินกว่า 1 แสนบาทเพื่อพาภรรยามาทานผัดไทยที่โรงแรมพวกเราเลยพูดกันเล่นๆว่า ผัดไทยของเราจานละแสน” นายวิทนาถกล่าวด้วยความภูมิใจ
ส่วนอีกทางออกที่หารายได้เข้าโรงแรมเร็วที่สุด คือ การแปลงให้เป็น “สถานที่กักตัว” สำหรับผู้ติดเชื้อ “นายวิทนาถ” บอกว่า ไม่ได้อยู่ในความคิด เพราะไม่อยากให้โรงแรมเป็นภาพจำของผู้คนว่าเป็นสถานที่กักตัว แต่อยากให้มองว่า เป็นโรงแรมสำหรับการพักผ่อนของครอบครัว ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งด้านกีฬา และสันทนาการ
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงโควิดทำให้โรงแรมปิดชั่วคราว แต่ถือเป็นโอกาสดีที่ได้บูรณะซ่อมแซมให้ทันสมัย สวยงาม มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ เพื่อให้พร้อมรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ในวันที่โควิดคลี่คลาย
“โชคดีที่เราทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง ไม่ได้ลงทุนหวือหวาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีทุนพอจะบูรณะโรงแรมได้ภายใต้งบกว่า 200 ล้านบาท และการบูรณะก็เสร็จทันการเปิดประเทศพอดี”
ล่าสุด โรงแรมมีอัตราเข้าพัก 40-50% แม้น้อยกว่าก่อนโควิด ที่มีอัตรา 60-70% แต่ดีกว่าในช่วงโควิดมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นคนไทยเป็นหลัก เพราะอานิสงส์ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่เสมือนเป็น “ออกซิเจน” ช่วยภาคท่องเที่ยวให้มีลมหายใจอยู่ต่อในช่วงเวลาลำบาก ต้องการให้รัฐต่ออายุมาตรการให้นานที่สุด หรือถึงปี 66 ยิ่งดี
ส่วนลูกค้าที่เหลือมาจากอินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงยุโรป และสหรัฐฯ ขณะที่ลูกค้าหลักกลุ่มเดิม ทั้งจีน รัสเซีย และยูเครน หายไปเกือบหมด เพราะจีนยังไม่เปิดประเทศ รัสเซีย และยูเครนกำลังสู้รบกันอยู่
นอกจากนี้ยังมีลูกค้ากลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) ที่เพิ่มขึ้นมาก จนทำให้สัดส่วนของลูกค้าที่มาจากกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 65% ซึ่งมีทั้งลูกค้าคนไทย และต่างประเทศ ส่วนอีก 35% เป็นลูกค้าทั่วไป รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน และทำงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
จึงต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริม และสนับสนุน MICE เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ให้มากขึ้น และสนับสนุนกลุ่มคนต่างชาติที่พักอาศัยในไทย (Expat) ในด้านท่องเที่ยวด้วย
ขณะเดียวกันยังต้องการให้ภาครัฐโปรโมตการท่องเที่ยวพัทยา เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีการโปรโมตให้เป็น “จุดหมายปลายทางแสนวิเศษ” (Destination for Magical Holiday) ที่มีความหลากหลาย รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งด้านกีฬา สุขภาพ และครอบครัว
เพราะปัจจุบัน หลายประเทศยังมองพัทยาในแง่ไม่ดี และยังไม่มั่นใจมาเที่ยว ทั้งๆที่ภาพลักษณ์ พัทยาเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นเมืองสำหรับครอบครัว กีฬา และการประชุม แต่ต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่รู้!!
สำหรับอนาคตของรอยัล คลิฟ บีช “นายวิทนาถ” บอกว่า ปัจจุบันโรงแรมเราเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับครอบครัว กีฬา และสันทนาการ แต่ในเร็วๆ นี้ เราจะก้าวไปสู่การเป็นโรงแรมที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับบริการด้านสุขภาพ (Wellness) อย่างครบวงจร เช่น เป็นสถานที่สำหรับการทำ Sleep Test หรือจัดแพ็กเกจท่องเที่ยวสำหรับผู้ป่วย ซึ่งได้พูดคุยกับโรงพยาบาลหลายแห่งไว้แล้ว
“เรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้โรงแรมของเราเป็นอีกจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงบริการด้านสุขภาพ และความงาม ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลก และนักท่องเที่ยวไทยต้องคิดถึงแน่นอน” นายวิทนาถกล่าวทิ้งท้าย.
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์