กระแสการควบรวม ทรูกับดีแทค ในบ้านเราใกล้จะได้ข้อยุติ ตามที่ บอร์ด กสทช. กำหนดให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัทใหม่ที่จะกระทบกับการแข่งขันในตลาดการถือครองคลื่นความถี่ การลดอัตราบริการ และการส่งเสริม MVNO (การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือไม่มีคลื่นความถี่เป็นของตัวเอง) อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะมีมติอนุญาตหรือไม่อนุญาตอย่างใดอย่างหนึ่ง
รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ได้สรุปเอาไว้ว่า จะต้องนำผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการเพื่อการศึกษาวิเคราะห์กรณีการควบรวมทั้ง 4 คณะ ผลรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบด้านการควบรวม และรายงานของที่ปรึกษาอิสระ โดยบริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า มาประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจของ กสทช.
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า บอร์ดของ กสทช. ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาในเบื้องต้น แล้วเห็นว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ยังขาดข้อมูลสำคัญหลายประเด็นเช่นโครงสร้างการรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัท ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการบริหารจัดการ หรือการถือครองคลื่นความถี่ การลดอัตราค่าบริการเป็นต้น
เหตุผลในการควบรวม โดยเฉพาะ โครงสร้างบริษัทใหม่ ที่ ยืนยันว่าเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจและพัฒนาต่อยอดธุรกิจ โทรคมนาคมภายใต้บริษัทใหม่ไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่จะมีการถือหุ้นและบริหารร่วมกันอย่างเท่าเทียมในรูปแบบ equal partner เป็นการปรับตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำหรับผู้ประกอบการที่มีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ เป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ที่ยกระดับการแข่งขันกับผู้ประกอบการทั่วโลกก็เป็นส่วนหนึ่งที่บอร์ด กสทช.นำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณา เพราะจะนำไปสู่ต้นทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งจะกระทบถึงผู้บริโภคด้วย
อย่างไรก็ตามในด้านเทคนิคแล้ว การลงทุนด้านอุตสาหกรรม โทรคมนาคม มีต้นทุนสูงขึ้นทุกปีอันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น แม้จะเป็นการพัฒนาด้านธุรกิจอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ตามก็ต้องแลกกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วนำไปสู่การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคต
ประธาน กสทช. นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ได้กล่าวถึงประเด็นการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค ยืนยันว่า กสทช.จะรวบรวมผลการศึกษาทั้งหมดนำเสนอบอร์ดพิจารณา ซึ่งจะไม่ยืดเยื้อและไม่มีธงอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ ยอมรับว่า กสทช.ต้องเข้าไปดูแลเรื่องการกำกับ ราคา ให้เหมาะสมทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับบอร์ด กสทช.จะยึดหลักการผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศต้องมาก่อนหรือไม่ และต้องให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมภายใต้กฎกติกาเดียวกัน โปร่งใส และตรวจสอบได้.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th