อันเนื่องมาจากคำสั่งศาลปกครอง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อันเนื่องมาจากคำสั่งศาลปกครอง

Date Time: 11 ส.ค. 2565 05:28 น.

Summary

  • เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งในจำนวนนั้นมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ารวมอยู่ด้วย ออกมาประกาศความชัดเจนในการคัดค้าน การควบรวมทรูกับดีแทค

Latest

เปิดพิกัด “ลอยกระทง 2567” ห้างไหน จัดงานบ้าง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งในจำนวนนั้นมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ารวมอยู่ด้วย ออกมาประกาศความชัดเจนในการคัดค้าน การควบรวมทรูกับดีแทค ในประเทศไทย หลักการส่วนใหญ่เกรงถึงผลกระทบกับประชาชนผู้บริโภค

ก็พอดีว่ามีคำสั่งของ ศาลปกครองกลาง ออกมา ประเด็นก็คือ ห่วงเรื่องของข้อกฎหมายหากมีการควบรวมแล้วเสี่ยงที่จะมีการทำผิดกฎหมายไทยหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการร้องศาลและเห็นว่า ผิดกฎหมาย ก็จะส่งผลทำให้การควบรวมระหว่าง ทรู กับดีแทค เป็นโมฆะไปด้วย ทีนี้เรื่องใหญ่เลยเพราะจะไปกระทบกับ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ทีนี้ก็มีประเด็นตามมาว่า ความก้ำกึ่งระหว่าง กรอบเวลา การพิจารณาการควบรวมและคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางเกิดความขัดแย้งกันขึ้นมา ก็จะบานปลาย ทำให้ต้องมาวินิจฉัยกันอีกว่า ดีลต่างๆที่ทำมาก่อนที่จะมีการวินิจฉัยของศาลตกเป็นโมฆะด้วยหรือไม่

ปัญหาทั้งหมด จะตกอยู่ที่ กสทช. ที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน จะตัดสินใจดับไฟเสียตั้งแต่ต้นลมอย่างไร เพราะในคำสั่งศาลปกครองระบุชัดเจนว่า กสทช.มีอำนาจเด็ดขาดที่จะ อนุญาต หรือ ไม่อนุญาต เช่นเดียวกับความเห็นของ อนุกรรมการด้านกฎหมายที่ กสทช.ตั้งขึ้นมาเอง ระบุเป็นเอกฉันท์ 10 ต่อ 1 ว่า กสทช.มีอำนาจเต็ม ที่จะพิจารณาดีลสำคัญดังกล่าว

เหตุผลสำคัญที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของการผูกขาดตลาด จำกัดการแข่งขัน

ที่เป็นดุลพินิจของ กสทช.แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่ว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมาก็ตาม กสทช.ก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ส่วนการผูกขาดหรือไม่ผูกขาดก็มีการทำความเห็นเอาไว้หลายกลุ่มอาชีพ ทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกฎหมาย ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเสี่ยง ทั้ง กสทช.และบริษัทที่จะทำการควบรวม

เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึง คำสั่งศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ร้องขอให้ศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อขอไม่ให้ กสทช. นำประกาศปี 2561 มาใช้พิจารณาดีลการควบรวมในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลในการยกคำร้องครั้งนั้นว่า หากผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งหมายถึง กสทช. พิจารณาเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลเสีย ทำให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการโทรคมนาคม ผู้ถูกร้องคือ กสทช. มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้เอง

เมื่อประมวลเหตุผลต่างๆที่ยกมาประกอบเหล่านี้ พอจะเห็นการยุติปัญหาการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคชัดเจน ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร

ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับ กสทช.จะตัดสินใจผ่าทางตันไปได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาประวิงเวลาอีกต่อไป เพียงแค่ยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางเท่านั้น

อำนาจที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับภาระที่ใหญ่ยิ่ง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ