ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” ขายคูปองทิพย์ ผู้บริโภคอย่าเป็นเหยื่อการตลาดราคาถูก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ถอดบทเรียน “ดารุมะ ซูชิ” ขายคูปองทิพย์ ผู้บริโภคอย่าเป็นเหยื่อการตลาดราคาถูก

Date Time: 18 ก.ค. 2565 06:45 น.

Summary

  • เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า! กับกลโกงทางธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ข่าวใหญ่ในช่วงเดือน มิ.ย.2565 คงไม่พ้นการโกงวอชเชอร์หรือคูปองของร้านอาหารญี่ปุ่น “ดารุมะ ซูชิ” ที่ลูกค้าซื้อคูปองจากราคา

Latest

รอบรั้วการตลาด: Rojukiss เปิดตัว CEO คนใหม่ ตั้งเป้าขยายตลาดต่างประเทศ 20%

เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า! กับกลโกงทางธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ข่าวใหญ่ในช่วงเดือน มิ.ย.2565 คงไม่พ้นการโกงวอชเชอร์หรือคูปองของร้านอาหารญี่ปุ่น “ดารุมะ ซูชิ” ที่ลูกค้าซื้อคูปองจากราคาปกติ 499 บาท ลงมาเหลือราคา 199 บาท มีคนที่ซื้อเพื่อเอาไปขายต่อ และบางคนซื้อเพราะเคยเป็นลูกค้าร้านนี้ จึงหวังไปทานปลาแซลมอนให้หนำใจ

แต่ปรากฏว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.2565 ร้าน “ดารุมะ ซูชิ” ปิดไปแบบไม่บอกกล่าว คนที่ซื้อวอชเชอร์ไปจึงต้องชอกช้ำระกำใจ

ขณะที่ นายเมธา ชลิงสุข เจ้าของร้านเจ้ากรรมเล่นบินหนีออกไปนอกประเทศ ทิ้งไว้ทั้งคนซื้อวอชเชอร์ พนักงาน และคนที่ลงเงินซื้อแฟรนไชส์ ก่อนที่จะตัดสินใจบินกลับประเทศ และถูกจับเพื่อนำตัวมาดำเนินคดี ตั้งแต่ลงเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ

กรณีนี้ซ้ำรอย เมื่อปี 2562 ที่ร้านซีฟู้ดชื่อดังอย่าง “แหลมเกต” เปิดโปรโมชันขายวอชเชอร์ราคาถูก ดึงดูดใจลูกค้าเข้าไปซื้อเยอะๆ แล้วปิดร้านหนี จนเจ้าของร้านถูกจับดำเนินคดี ในปี 2563 ศาลอาญาพิพากษาให้เจ้าของร้านถูกลงโทษจำคุก 1,446 ปี

ดังนั้น สังคมจึงจับตาอย่างมากว่า ในที่สุด นายเมธา ชลิงสุข จะถูกจำคุกนับพันปีเหมือนกรณีของ “แหลมเกต”หรือไม่

เรื่องราวของคูปองทิพย์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆเช่นนี้ขอให้เป็นบทเรียนของสังคม จำไว้ให้แม่น เตือนใจตัวเองเข้าไว้ ว่าอย่าหลงเข้าไปเป็นเหยื่อของกลโกงแบบนี้ เพราะการจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อจ่ายสินค้าในราคาถูกกว่าความเป็นจริง ไม่สามารถรับประกันได้เลยว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรับผิดชอบ และอาจเชิดเงินหนีไปก็ได้

ย้อนตำนานการโกงลูกค้า

ตามที่เกริ่นไว้ กรณีร้านซีฟู้ดชื่อดัง “แหลมเกต” เปิดโปรโมชันขายวอชเชอร์ ราคาเริ่มตั้งแต่ 100 บาท จากราคาปกติ 888 บาท แต่เมื่อไปใช้บริการ ปรากฏว่าบางเมนูอาจต้องจ่ายเพิ่ม หรือต้องจองคิวล่วงหน้านาน ทำให้หลายคนใช้ไม่ทัน ต่อมาร้านได้ออกประกาศยกเลิกและงดให้บริการทุกโปรโมชัน ให้ลูกค้าที่ซื้อบัตรนำมาขอเงินคืน โดยอ้างว่าได้รับการตอบรับเกินความคาดหมาย ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอ ต่อมาอีกไม่กี่เดือนร้านได้แจ้งปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากลูกค้าน้อยลง พร้อมๆกันกับกระแสข่าวว่าร้านได้ปิดถาวรทุกสาขา

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพบว่า “แหลมเกต” มีพฤติการณ์ว่าจ้างคอลเซ็นเตอร์ให้โฆษณาขายวอชเชอร์ กระทั่งมีผู้ซื้อกว่า 22,067 ราย นับแล้วได้กว่า 300,000 ที่นั่ง รวมคนที่ยังไม่แจ้งความอีก 50 ล้านบาท ต่อมาศาลอาญาได้พิพากษา นายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ หรือโจม พารุณจุลกะ และ น.ส.ประภัสสร บวรบัญชา ร่วมกันกระทำความผิดรวม 723 กระทงให้จำคุกทุกกระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 1,446 ปี

อีกกรณีที่โด่งดังไม่แพ้กัน คือ ในปี 2560 ทัวร์โชกุน ทิ้งเคว้งลูกทัวร์หลายร้อยคนที่กำลังจะบินลัดฟ้าไปเที่ยวญี่ปุ่นกลางสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้เสียหายทั้งสิ้น 871 คน หลังเชิญชวนประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์ “WealthEver For Life” ให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริม จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูง และมีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้สมาชิกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ สุดท้ายกลายเป็น “เที่ยวทิพย์”

กรณีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป คนละ 871 กระทง กระทง ละ 5 ปี พิพากษา น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน จำคุก 4,355 ปี

ส่วนกรณีล่าสุด “ดารุมะ ซูชิ” แม้จะมีถึง 27 สาขา โดยหลายสาขาเป็นการขายแฟรนไชส์ แต่รูปแบบการบริหารที่แท้จริง อยู่ภายใต้การดูแลของนายเมธา ชลิงสุข แต่เพียงผู้เดียว เพราะคนที่เข้ามาซื้อแฟรนไชส์มีหน้าที่แค่ลงเงิน 2-2.5 ล้านบาทและรอปันผลจากยอดขาย

ขณะที่นายเมธาบริหารจัดการทุกอย่าง ทั้งการจัดซื้อการจ่ายเงินเดือนพนักงาน และการออกโปรโมชัน เรื่องมาแดงเมื่อหมุนเงินไม่ทัน ในวันที่ 19 มิ.ย.2565 บรรดาลูกค้าที่ซื้อวอชเชอร์ไปจึงพบว่าร้านได้ปิดให้บริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เฟซบุ๊กเพจของร้านหายไป พนักงานของร้านก็ไม่สามารถติดต่อนายเมธาได้ ต่อมาจึงพบว่านายเมธาติดเงินผู้ส่งวัตถุดิบร่วม 30 ล้านบาท จนยกเลิกการส่งสินค้าให้ เป็นที่มาของการปิดร้านนั่นเอง

สคบ.รวมความเสียหาย 27 ล้าน

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในฐานะดูแลเรื่องการหลอกลวงด้วยการโฆษณาโดยเฉพาะ และได้รับมอบหมายจาก นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เกาะติดกรณีวอชเชอร์ลวง “ดารุมะ ซูชิ” ได้หยิบยกกลโกงกรณีต่างๆมาให้ตระหนักกัน

“กรณีของดารุมะ ซูชิ เกิดขึ้นจากกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ทำโปรโมชันขายอี-วอชเชอร์ หรือคูปองอิเล็กทรอนิกส์แบบไม่มีขีดจำกัด แบบขายไปเรื่อยๆ เมื่อผู้บริโภคเห็นว่ามีราคาถูก และเห็นเปิดบริการมานานแล้ว และมีคนไปใช้บริการได้จริงๆ จึงไปซื้อตามๆกัน”

เขาใช้วิธีขายแบบมีโปรโมชันมานาน โดยก่อนที่จะขาย 199 บาท ก็เคยขายในราคา 250 บาทมาแล้ว แต่ตอนหลังที่ขายในราคา 199 บาท เพื่อกระตุ้นให้คนเข้ามาซื้อเยอะๆ จนมีบางคนหวังนำไปขายต่อ เลยซื้อ 1,000-2,000 ใบขึ้นไป จนกลายเป็นเหยื่อรายใหญ่

กรณีนี้เหมือนกรณีของร้านอาหารทะเล “แหลมเกต” ในปี 2562 ที่ขายคูปองราคาถูกแบบไม่มีขีดจำกัด คนไม่รู้ก็ซื้อไปเรื่อยๆ สุดท้ายให้บริการไม่ได้แล้วปิดร้านไป

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดี สคบ.อยู่ระหว่างสรุปเรื่องส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ล่าสุดมีผู้บริโภคมาร้องเรียนกับ สคบ.1,125 ราย มูลค่าความเสียหาย 1.3 ล้านบาท โดยคนที่มาร้องกับ สคบ.ซื้อไว้คนละ 2-3-5 ใบ โดยซื้อมาในราคา 199 บาท +ภาษีมูลค่าเพิ่มรวมราคาใบละ 212 บาท

“รวมๆแล้วมูลค่าที่มาร้องเรียนยังไม่สูงนัก เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับที่ สคบ.ได้สอบถามจากผู้พัฒนาโปรแกรม ได้เริ่มขายวอชเชอร์ตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 มีการขายวอชเชอร์ ไปทั้งสิ้น 600,000 ใบ ในราคาแตกต่างกันไป มาจนถึงขณะนี้มีวอชเชอร์ที่ยังไม่มาใช้บริการ 129,000 ใบ อยู่ในมือของผู้บริโภค 33,000 คน ราคาที่ซื้อแตกต่างกันไป ถ้าคำนวณจากราคาต่ำสุดที่ 212 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 27.66 ล้านบาท”

ในจำนวนดังกล่าว หากแยกเฉพาะโปรโมชัน 199 บาท ขายออกไป 200,000 ใบ พบผู้บริโภคยังไม่มาใช้บริการ 104,000 ใบ

เล็งฟ้องคนซื้อแฟรนไชส์

สำหรับการดำเนินคดีตอนนี้มี 2 ด้าน ด้านแรกเป็นคดีอาญา ฉ้อโกงประชาชน ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ดูแลอยู่ เพราะตอนนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ

ด้านที่สอง คดีแพ่งที่ สคบ.ดูอยู่ จะเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้ฟ้องบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ให้ทำการประชุมในเดือน ก.ค.นี้

รวมทั้งฟ้องผู้ลงทุน หรือผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์เพื่อเปิดสาขา โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ในฐานะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

“ตอนนี้ สคบ.สรุปสำนวนเสร็จแล้ว โดยจะเสนอคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. พิจารณาก่อนในสัปดาห์นี้เพื่อนำเสนอ คคบ. หากไม่ทันเดือน ก.ค.ก็ต้องรอการประชุม คคบ.เดือน ส.ค. โดยจะระบุให้ครอบคลุมผู้บริโภคที่มาร้องเรียนในภายหลังด้วย”

อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด)กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พิจารณารับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษจะสามารถดำเนินคดีได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาไปพร้อมๆกัน โดยกรณีนี้ถือว่าเข้าข่ายคดีพิเศษ เพราะมีผู้เสียหายมากกว่า 100 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท

“พิมรี่พาย” ถูกเรียกรายต่อไป

นอกจากนี้ มีกรณีที่ สคบ.ยังติดตามคือกรณีของ “พิมรี่พาย” ไลฟ์สดขายบัตรชมฟุตบอลแดงเดือด แมนฯยู-ลิเวอร์พูล และบอกว่ามีบัตรรอบซ้อมของ “แจ็คสัน หวัง” นักร้องวง GOT7 และทานข้าวมื้อพิเศษกับนักฟุตบอลของทั้ง 2 สโมสร ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่

ซึ่งจะต้องเรียก “พิมรี่พาย” มาชี้แจง เพราะทาง สคบ.ก็ไม่รู้ว่า “พิมรี่พาย” และบริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ผู้จัด THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 มีการทำสัญญานอกรอบกันไว้อย่างไรบ้าง

โดย สคบ.จะจัดการใน 2 กรณี กรณีแรก เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ กรณีที่สองที่บอกว่าจะมีการจับสลากเพื่อให้คนที่ซื้อบัตรไปทานข้าวมื้อพิเศษ ตามกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ที่ระบุว่า การให้ของแถมหรือสิทธิประโยชน์ให้เปล่า และการจับสลากชิงรางวัล จะต้องไปขออนุญาตจากกรมการปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยการพนันก่อน

หากไม่เป็นไปตามนี้ เท่ากับมีความผิด 2 กระทง และเป็นความผิดต่อรัฐ ที่ สคบ.เรียกมาเปรียบเทียบปรับได้เลย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งในกรณีผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล กรรมการผู้มีอำนาจทุกคนจะต้องได้รับโทษด้วย ขณะที่ความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน ตามมาตรา 8 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50-2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ตอนนี้การแข่งขันฟุตบอลแดงเดือดเสร็จสิ้นลงแล้ว สคบ.จึงรอให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาร้องเรียน แต่หากไม่มีใครมาร้องเรียน สคบ.ก็จะเชิญพิมรี่พายมาชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นด้วย”

แพ็กเกจลวงเสริมความงาม

นอกจากนี้ กรณีที่เทียบเคียงกันที่ผู้บริโภคมักมาร้องเรียนบ่อยๆ คือ การซื้อแพ็กเกจของสถานเสริมความงาม หรือซื้อคอร์สเสริมความงาม แล้วไม่สามารถไปใช้บริการได้ ซึ่งกรณีนี้มีบ่อยมากและหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นสถานเสริมความงามที่อยู่บนห้างสรรพสินค้า และมีหลายสาขา

บางคนซื้อ 100 ครั้ง ใช้ได้ 4-5 ปี แต่พอนานๆไปเริ่มใช้ไม่ได้ หรือมาร้องเรียนว่าพอเปลี่ยนผู้จัดการสาขาคนเก่าบริหารจัดการให้ได้ พอเปลี่ยนคนใหม่ทำไม่ได้ ซึ่งน่าจะมาจากการที่สาขาออกแพ็กเกจเอง ลักษณะการร้องเรียนเช่นนี้มีเข้ามาที่ สคบ.เดือนละนับ 10 ราย และหลากหลายสถานเสริมความงาม

และที่ สคบ.ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ การขายสินค้าทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ที่พบการร้องเรียนบ่อยมากว่าสินค้าที่ได้รับไม่เหมือนสินค้าที่สั่งไป

เพราะคนขายเปิดเพจขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ พอขายได้เงินแล้วก็ปิดเพจแล้วเปลี่ยนไปเปิดเพจใหม่ คนที่ซื้อจึงเสี่ยงอย่างมากว่าจะได้สินค้าในราคาไม่สมกับที่จ่ายเงินไป บางครั้งก็ได้สินค้าที่ชำรุด บกพร่อง

จึงขอให้ผู้บริโภคตระหนักให้ดีกับการหลอกลวงและได้สินค้าไม่มีคุณภาพ เพราะการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย เราไม่เคยรู้เลยว่า คนขายสินค้าหน้าตาเป็นอย่างไร

ทั้งหมดนี้ ท่านผู้อ่านสามารถนำมาถอดบทเรียนในการใช้ชีวิตได้อย่างดีว่าก่อนจ่ายเงินออกไปขอให้คิดแล้วคิดอีก และอย่าตกเป็นเหยื่อการตลาดสินค้าราคาถูกอีกต่อไป.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ