บสย. เผยยอดอนุมัติค้ำสินเชื่อ 6 เดือน 9 หมื่นล้าน เร่งกระตุ้นยอดค้ำฯ เพิ่มบทบาทช่วยลูกหนี้

Business & Marketing

Marketing

ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวประชาสัมพันธ์

Tag

บสย. เผยยอดอนุมัติค้ำสินเชื่อ 6 เดือน 9 หมื่นล้าน เร่งกระตุ้นยอดค้ำฯ เพิ่มบทบาทช่วยลูกหนี้

Date Time: 15 ก.ค. 2565 17:01 น.

Summary

  • บสย. เผยยอดอนุมัติค้ำสินเชื่อ 6 เดือน 9 หมื่นล้าน ครึ่งปีหลัง เร่งกระตุ้นยอดค้ำฯ ดัน ศูนย์ F.A.CENTER หนุน Re-Start / Start up เพิ่มบทบาทช่วยลูกหนี้ “แก้หนี้อย่างยั่งยืน”

ไฮไลต์ ม.ค.- มิ.ย. 2565

ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 68,731 ราย

สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้าน

ยอดค้ำกลุ่มเกษตรมาแรง ภาคใต้ครองแชมป์

ลูกหนี้ปลื้ม “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน ช่วยธุรกิจยืนได้

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. รอบ 6 เดือน (1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2565) อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รวม 92,879 ล้านบาท โดยยอดค้ำประกัน 50% มาจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) วงเงิน 46,314 ล้านบาท

อันดับ 2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟู สัดส่วน 39% วงเงิน 36,425 ล้านบาท และอันดับ 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Micro ต้องชนะ (Micro 4) สัดส่วน 5% วงเงิน 4,473 ล้านบาท และ โครงการอื่นๆ สัดส่วน 6% วงเงิน 5,667 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจยอดค้ำประกันสูงสุด คือ 1. ธุรกิจบริการ 28% 2. กลุ่มเกษตรกรรม 12% 3. ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้า 11% สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Benefit Multiplier) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 68,731 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 102,544 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 620,164 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 383,592 ล้านบาท (Economic Benefit Multiplier เท่ากับ 4.13 เท่า)

นายสิทธิกร กล่าวว่า ผลการค้ำประกันสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจเกษตรกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2% จาก 10% ในปี 2564 เป็น 12% ในปี 2565 คิดเป็นวงเงินค้ำ 11,001 ล้านบาท โดยภาคใต้ ครองแชมป์ยอดค้ำสูงสุด สัดส่วน 25% วงเงิน 2,774 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ผัก ผลไม้ 2. ข้าว พืชไร่ 3. ค้าสัตว์น้ำ และอื่นๆ ผ่าน สถาบันการเงินของรัฐ หรือ SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 30:70

อันดับ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัดส่วน 19% วงเงิน 2,028 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ข้าว พืชไร่ 2. ยางพารา 3. ชา กาแฟ และอื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 36:64

อันดับ 3 ภาคเหนือ สัดส่วน 18 % วงเงิน 1,943 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ข้าว พืชไร่ 2. ปศุสัตว์ 3. ผักผลไม้ และอื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 38:62

อันดับ 4 กรุงเทพและปริมณฑล สัดส่วน 15 % วงเงิน 1,639 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ผักผลไม้ 2. ข้าว พืชไร่ 3. ค้าสัตว์น้ำ และอื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 31:69

อันดับ 5 ภาคกลาง สัดส่วน 12% วงเงิน 1,365 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ปศุสัตว์ 2. ข้าวพืชไร่ 3. ผักผลไม้ และอื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 48:52

อันดับ 6 ภาคตะวันออก สัดส่วน 11% วงเงิน 1,251 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ผักผลไม้ 2. ปศุสัตว์ 3.  ข้าว พืชไร่ และอื่นๆ ผ่าน SFIs / ธนาคารพาณิชย์ สัดส่วน 19:81

ในรอบ 6 เดือน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ (PGS 9) วงเงิน 150,000 ล้านบาท เป็นโครงการตามมาตรการรัฐ โดยสนับสนุนจ่ายชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเงื่อนไขการค้ำประกันดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสูงสุด 3 ปี ระยะเวลาการค้ำ 10 ปี และได้รับความนิยมจากสถาบันการเงิน โดยสิ้นสุดโครงการ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

ด้านผลดำเนินงาน การให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจของ SMEs โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2565 ให้บริการรวม 9,458 ราย มีผู้เข้ารับการอบรม 6,120 ราย มีผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา 3,338 ราย และให้คำปรึกษาแล้ว จำนวน 1,940 ราย ขอรับคำปรึกษามากที่สุด ได้แก่ 1. สินเชื่อ 2. ปรับโครงสร้างหนี้ 3. การพัฒนาธุรกิจ โดยมีความต้องการสินเชื่อ 11,242 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการที่มีปัญหาหนี้ ผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ณ 30 มิถุนายน 2565 มีผู้ลงทะเบียนผ่าน ธปท. 3,748 ราย ซึ่งได้ส่งต่อให้ บสย. ให้คำปรึกษา จำนวน 645 ราย ส่วนใหญ่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจมากถึง 80%

นอกจากนี้ บสย. ยังประสบผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. ภายใต้โครงการ “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน เช่น การประนอมหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยมาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ที่ได้รับการยอมรับจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการประนอมหนี้ ว่าเป็นโครงการเชิงรุกที่ยอดเยี่ยม ที่สามารถช่วยประคองธุรกิจได้จริง ด้วยโมเดลการประนอมหนี้ที่มีความยืดหยุ่น เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 1 (สีม่วง) ยืดหยุ่น เพื่อให้ “ลูกหนี้” ยืนได้และก้าวต่อไป ตัดต้น 20% ดอกเบี้ย 80% ผ่อนนาน 5 ปี มาตรการที่ 2 (สีเหลือง) เบาใจ เบาแรง “หนี้ลดหมดแน่นอน” ชำระครั้งแรก 1% ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ผ่อนนาน 5 ปี และ มาตรการที่ 3 (สีเขียว) ชำระครั้งแรก 10% ตัดเงินต้นทั้งจำนวน ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 7 ปี โดยทั้ง 3 มาตรการมีลูกหนี้ติดต่อเข้ารับการประนอมหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ 6,372 ราย สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการต่างๆ ของ บสย. แล้ว 1,019 ราย คิดเป็นสัดส่วนความสำเร็จของการช่วยเหลือ (Success Rate) 16% คิดเป็นวงเงินประนอมหนี้ 722 ล้านบาท ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ สามารถเข้าถึงลูกหนี้ได้กว่า 75% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมทั้งหมด

โครงการ “บสย. พร้อมช่วย” แก้หนี้อย่างยั่งยืน พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. โดยเปิดช่องทางการส่งคำขอปรับโครงสร้างหนี้ มาที่ บสย. ได้ทุกช่องทาง ทั้ง Call Center 02-890-9999

สำหรับทิศทางการดำเนินงาน บสย. ตลอดครึ่งปีหลัง บสย. มุ่งเน้นการทำงานแบบเชิงรุก ภายใต้แนวคิด “TCG Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs” ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม เข้าถึงสินเชื่อ เพื่อผลักดันยอดค้ำประกันสินเชื่อสู่เป้าหมาย 174,348 ล้านบาท อาทิ

- สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการ Re-Start ธุรกิจ หลังการเปิดประเทศ และ กลุ่ม Start up โดยร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร SMEs D Bank
ยกระดับศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center พัฒนาหลักสูตรการอบรม พร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือ Start up เตรียมความพร้อมการเข้าสู่โลกธุรกิจ

- สนับสนุนนโยบายแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG BIO-Economy เศรษฐกิจชีวภาพ Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ร่วมกับสถาบันการเงิน และองค์กรพันธมิตร และโครงการพลิกโฉมเกษตรไทยด้วย BCG ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น

- การพัฒนานวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ การส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและธุรกิจ

- สนับสนุนให้ลูกหนี้ บสย. เข้าร่วมโครงการประนอมหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้หนี้

- เดินหน้าการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Digital Transformation อยู่ระหว่างการพัฒนา Single Credit Scoring การพัฒนากระบวนการการพิจารณาสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อสู่ Digital Lending และ Digital Credit Guarantee ร่วมกับสถาบันการเงินพันธมิตร

- ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการค้ำประกันสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง บสย. ยังอยู่ในระหว่างการนำเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 10 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ SMEs 35,000 ราย และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ 180,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 5 วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ SMEs 120,000 ราย และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ด้วย


Author

ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวประชาสัมพันธ์