“มาม่า” ปรับกลยุทธ์พลิกเกมเพื่อความอยู่รอด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“มาม่า” ปรับกลยุทธ์พลิกเกมเพื่อความอยู่รอด

Date Time: 9 ก.ค. 2565 05:06 น.

Summary

  • “มาม่า” ครบรอบ 50 ปีในปีนี้ที่กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งกับผลกระทบของต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ขยับเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

“มาม่า” ครบรอบ 50 ปีในปีนี้ที่กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งกับผลกระทบของต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ขยับเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดขาดทุน และได้ยื่นขอปรับราคาขึ้นซองละ 1 บาท จาก 6 เป็น 7 บาท

แต่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้เพราะทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ (กกร.) กระทรวงพาณิชย์ ไม่อนุญาตแม้ว่าจะรับทราบปัญหาและเข้าใจถึงเหตุผลของการขอปรับราคาขึ้นก็ตาม ด้วยเหตุเกรงว่าประชาชนทั่วไปจะได้รับผลกระทบ

เป็นที่ทราบกันดีว่ามาม่าเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมประจำบ้าน ทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นระดับมหาเศรษฐีไปยังถึงกลุ่มยากจน เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายกับราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้และมีรสชาติอร่อยถูกปากคนไทยมายาวนาน

แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า มีไลน์อัปที่วางจำหน่ายในตลาดมากมายหลายรูปแบบ แต่ซองละ 6 บาท เป็นไลน์ที่ขายดีที่สุดในสัดส่วนการขายถึง 80% จากตลาดรวมมูลค่า 20,000 ล้านบาท มาม่ามีส่วนแบ่งตลาด 50%พอจะเห็นภาพได้ว่ามูลค่าการขายมากขนาดไหน

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มาม่าได้แถลงฉลองครบรอบ 50 ปี โดย “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ซีอีโอ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมกับแนะนำกลุ่มผู้บริหารรุ่นที่ 2 ได้ย้อนอดีตจากจุดเริ่มต้นบุกเบิกตลาดอย่าลองผิดลองถูก จนที่สุดประสบความสำเร็จกับมาม่าหมูสับด้วยการจำหน่ายในราคาซองละ 2 บาท

จวบจนปัจจุบันได้ขึ้นราคาไปเพียง 3 ครั้งเท่านั้น การปรับขึ้นล่าสุด เมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพรวม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต รวมทั้งการจำหน่ายในตลาดพรีเมียมและส่งออก ทำให้บริษัทสร้างผลกำไรมาต่อเนื่อง

แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตได้ถีบตัวสูงขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะวัตถุดิบที่สำคัญคือน้ำมันปาล์มและแป้งสาลีและอาจจะยาวนานกว่าที่คาด เงินเฟ้อถีบตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์หลายเดือนติดต่อกัน มีการคาดการณ์ผิดตลอดเวลา จนถึงจุดขาดทุนแล้วแม้จะไม่มากก็ตาม แต่หากยืดเยื้อออกไปยาวนานจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินการของบริษัท

ผลกระทบที่เกิดขึ้น เริ่มเห็นชัดจากรายงานผลประกอบการของ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสแรกของปี 2565 มีผลกำไรสุทธิ 608 ล้านบาท ลดลง 236 ล้านบาท หรือลดลงถึง 27.97% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 805 ล้านบาท สาเหตุจากต้นทุนราคา วัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการกำไรสุทธิลดลงที่ 9.57% จากเดิมที่ 14.02%

นี่เป็นเพียงแค่ไตรมาสแรกที่จุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสและเริ่มสร้างผลกระทบต้นทุนวัตถุดิบและการบริหารอย่างรุนแรง และจะเห็นได้ชัดในผลประกอบการ ไตรมาสที่สองและสามตามมารวมไปถึงไตรมาสที่ 4 หากยังไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคาได้

นี่จึงเป็นสาเหตุที่มาม่าได้พลิกเกมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “มาม่า สูตร Less Sodium” สูตรใหม่ที่มีส่วนผสมน้อยลงกว่าเดิม 4 รสชาติ ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ ลดโซเดียมลง 32% ไขมันอิ่มตัว 5 กรัมต่อ 60 กรัม, รสต้มยำกุ้งน้ำข้นลดโซเดียมลง 38% ไขมันอิ่มตัว 6 กรัม ต่อ 55 กรัม, รสต้มยำกุ้ง ลดโซเดียมลง 43% ไขมันอิ่มตัว 4.5 กรัมต่อ 55 กรัมและเส้นหมี่น้ำใส ลดโซเดียมลง 38% ไขมันอิ่มตัว 1 กรัมต่อ 55 กรัม

พร้อมตั้งราคาจำหน่ายในราคาซองละ 8 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว จะวางตลาดในต้นเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพ ตามเทรนด์การดำเนินชีวิตที่ต้องการความง่ายและสะดวก

เมื่อทดลองชิมมาม่า สูตรโซเดียมน้อยลง ในแพ็กเกจซองออกแบบใหม่ พบว่ารสชาติมีความใกล้เคียงมากๆ และยังคงความอร่อยไว้เหมือนสูตรเดิม ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี

นับว่าเป็นการวางโมเดลบิสซิเนสใหม่เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างดี สำหรับผู้ที่รักสุขภาพไปซื้อสูตรใหม่ซองละ 8 บาทมารับประทาน หากต้องการประหยัดหน่อยก็ซื้อสูตรดั้งเดิมยอดนิยมในราคาซองละ 6 บาท

แต่ก็มีหลายคนมีความสงสัยกันว่า หากมาม่าซองละ 6 บาท ถูกคุมราคาไว้ไม่ให้ขึ้นราคาต่อไปอาจจะได้เห็นสินค้าวางตลาดน้อยลง หาซื้อยากและมีสูตรใหม่มาวางจำหน่ายแทน.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ