กลุ่มบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซี หนึ่งในบริษัทชั้นนำเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า อุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีชื่อเสียงและอายุยาวนานกว่า 140 ปี จวบจนปัจจุบันธุรกิจได้ขยายการเจริญเติบโตเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจคอนซูเมอร์ในประเทศไทย
หลังจากจัดงานใหญ่ไปเมื่อเร็วๆนี้ ด้วยการแถลงถึงทิศทางของการลงทุนในอนาคตให้กับสื่อและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้รับทราบถึงวิสัยทัศน์ของธุรกิจใน 5 ปีข้างหน้ากับการตั้งเป้าเป็นธุรกิจชั้นนำในตลาดโลก วางแผนการลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปีละ 12,000-14,000 ล้านบาท พร้อมกับยอดขายรวมเติบโตปีละ 11-16% สู่เป้าหมาย 270,000 ล้านบาทในปี 2569
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี นำทีมผู้บริหารเปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจภายใน 5 ปีข้างหน้าว่า เป้าหมายใหญ่จะผลักดันให้บีเจซี ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทคนไทยมีการเติบโต ที่ยั่งยืนด้วยอีโคซิสเต็มครอบ คลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสู่การเป็นผู้นำในตลาดโลก
ภาพรวมของบีเจซีมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในหลายธุรกิจ อาทิ การเป็นผู้นำในธุรกิจบรรจุ ภัณฑ์ในเอเชีย เช่น อุตสาหกรรมแก้วมีกำลังการผลิต 4,000 ล้านขวดต่อปี การผลิตกระป๋องอลูมิเนียมในประเทศไทย มีกำลังการผลิต 5,430 ล้านกระป๋องต่อปี รวมถึงวางแผนเปิดสายการผลิตเตาแก้วใหม่ในปี 2568
การเป็นตัวกลางขนส่งเพื่อนำขยะรีไซเคิลจาก “ผู้ทิ้งหรือผู้ขายขยะรีไซเคิล” เพื่อส่งมอบไปยัง “ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิล” เข้าสู่กระบวนการจัดการค้าวัสดุรีไซเคิล เพื่อคัดแยกผ่านแอปพลิเคชัน “ซี ซาเล้ง” การต่อยอดธุรกิจใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเดิมที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ เช่น ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ พัฒนาเป็น แพลตฟอร์มเพื่อสุขภาพ
สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์มีเครือข่ายทั้งประเทศและภูมิภาคเอเชียใช้เป็นแพลตฟอร์มในการกระจายสินค้า อาทิ เมียนมา มาเลเซีย เวียด นาม จีน สปป.ลาว และกัมพูชา พร้อมความมุ่งมั่นพัฒนาวิจัยสินค้าร่วมกับพันธมิตรเพื่อกระจายสินค้าไปยังทั่วภูมิภาคอาเซียน
นายอัศวิน กล่าวถึงธุรกิจค้าปลีกซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญในกลุ่มรายได้ 70% จะมาจากกลุ่มนี้จะมุ่งเน้นการขยายไปยังธุรกิจแบบออมนิ ชาแนล เปิดบริการทั้งในรูปแบบออนไลน์ผ่านทุกแพลตฟอร์ม โดยตั้งเป้าหมายที่จะทำรายได้จากธุรกิจนี้ถึง 50,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
ส่วนบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 160 สาขา จากปัจจุบัน 153 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 2,853 สาขา จาก 1,352 สาขา, บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และขายส่ง เพิ่มเป็น 84 สาขา จาก 59 สาขา ในประเทศกัมพูชา บิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต เพิ่มเป็น 6 สาขา จาก 1 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 276 สาขา จาก 1 สาขา ใน สปป.ลาว ขยายบิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต 2 สาขา, บิ๊กซี มินิ เพิ่มเป็น 245 สาขา จาก 57 สาขา
นอกจากนี้ได้วางแผนเปิดบิ๊กซีใหม่ ภายใต้ชื่อ “Big C Place” ในกรุงเทพฯ เพื่อขยายฐานลูกค้า เข้าถึงไลฟ์สไตล์กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น และแผนการปรับปรุงสาขาเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งโมเดลธุรกิจใหม่ เอ็มเอ็ม ฟู้ดเซอร์วิส (MM Food Service) ร้านธุรกิจรูปแบบขายส่ง ด้วยกลุ่มสินค้ากว่า 6,000 รายการ มุ่งเป้าหมายไปที่ลูกค้ากลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร
นายอัศวินกล่าวว่า สำหรับเป้าหมายของกลุ่มบีเจซีในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายรวมที่ 170,000 ล้านบาท แต่ยังมีความท้าทายจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น จากสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงานที่จะต้องบริหารจัดการต้นทุนการผลิต
กลุ่มธุรกิจบีเจซีและบิ๊กซี นับจากนี้ต่อไปจะมุ่งมั่นไปที่การสร้างแพลตฟอร์มที่ทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคนี้ พร้อมกับการผสมผสานนะหว่างธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์เชื่อมต่อลูกค้าทุกระดับ.
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th