“เอ็มเค” ชูนวัตกรรม “หุ่นยนต์” ตอบโจทย์ผู้บริโภค-เพิ่มศักยภาพแข่งขัน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“เอ็มเค” ชูนวัตกรรม “หุ่นยนต์” ตอบโจทย์ผู้บริโภค-เพิ่มศักยภาพแข่งขัน

Date Time: 24 ก.พ. 2565 06:57 น.

Summary

  • “เอ็มเค”ประกาศศักดานำหุ่นยนต์ 500ตัวมาให้บริการในสาขาทั่วประเทศ ย้ำชัดช่วยลดเวลาการให้บริการลง 1.5 เท่า ลูกค้าเด็กๆชื่นชอบถูกใจ เตรียมพัฒนาเฟส2 ใช้หุ่นยนต์เต้นโชว์แทนพนักงาน–เล่นเกมกับลูกค้า

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“เอ็มเค” ประกาศศักดานำหุ่นยนต์ 500 ตัวมาให้บริการในสาขาทั่วประเทศ ย้ำชัดช่วยลดเวลาการให้บริการลง 1.5 เท่า ลูกค้าเด็กๆชื่นชอบถูกใจ เตรียมพัฒนาเฟส 2 ใช้หุ่นยนต์เต้นโชว์แทนพนักงาน–เล่นเกมกับลูกค้า ช่วยลดปัญหาแรงงานตึงตัวจากโควิด–19 ชี้ตลาดสุกี้เดือดพล่าน แต่ก็ช่วยสร้างโอกาสให้เอ็มเคเช่นกัน

นายธีร์ ธีระโกเมน ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากจะจำกันได้ เอ็มเคเคยนำหุ่นยนต์มาทดลองให้บริการครั้งแรกในราว 20 ปีที่แล้ว แต่เทคโนโลยีขณะนั้นยังตามไม่ทัน ด้วยฟังก์ชันการทำงานที่ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการเสิร์ฟอาหารให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นบริการหลักของธุรกิจร้านอาหาร ตลอดจนปัญหาความปลอดภัย ทำให้หุ่นยนต์ลอตแรก 10 ตัวที่เอ็มเคริเริ่มนำมาทดลองให้บริการลูกค้าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ต้องถูกจอดทิ้งไว้

“หลักๆเวลาเรานำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ นอกจากดูผลตอบรับจากลูกค้าแล้ว สิ่งสำคัญคือการสอบถามจากพนักงานเทคโนโลยีต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาการทำงาน ไม่ใช่มาเป็นอุปสรรค สำหรับหุ่นยนต์ลอตแรก พนักงานที่ทดลองใช้บอกว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์ ในการช่วยแบ่งเบาภาระได้ เราจึงตัดสินใจหยุด”

คนชื่นชอบ “หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร”

“ 20 ปีให้หลัง เอ็มเคตัดสินใจนำหุ่นยนต์ เข้ามาทดลองให้บริการอีกครั้งในปี 2562 ก่อนการเกิดของโควิด-19 เริ่มต้นจากการให้บริการในสาขาหลัก เช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ยุคใหม่ ทั้งระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเทคโนโลยีกำหนดทิศทางและจุดให้บริการของหุ่นยนต์ที่ทำได้แม่นยำและละเอียดมากขึ้น ทำให้การทดลองให้บริการสำเร็จลุล่วง นำไปสู่การสั่งซื้อหุ่นยนต์รวม 500 ตัว เพื่อนำมาให้บริการในร้านเครือเอ็มเคที่มีมากกว่า 600 สาขาทั่วประเทศ ทำให้ปัจจุบันเอ็มเคคือผู้ประกอบการร้านอาหารที่นำหุ่นยนต์มาให้บริการมากที่สุดในอาเซียน”

นอกจากความเชื่อในเทคโนโลยีแล้ว หุ่นยนต์ยังเข้ามามีบทบาทในยุคที่ตลาดแรงงานตึงตัว เอ็มเคซึ่งเป็นนายจ้างของพนักงาน 12,000 คน (ตัวเลขปัจจุบัน) พบว่า การจ้างงานทำได้ยากลำบากมากขึ้นในยุคโควิด เอ็มเคกรุ๊ปไม่มีนโยบายปลดหรือเลิกจ้าง แต่โควิดก็ทำให้สูญเสียพนักงานไป 30-40% ส่วนใหญ่ขอลาออก ย้ายกลับถิ่นฐานในต่างจังหวัด และไม่ต้องการกลับเข้าทำงานในระบบอีก

“เทคโนโลยี” ตอบโจทย์แรงงานยุคใหม่

“การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ถือว่าตอบโจทย์ในฐานะผู้ประกอบการ และตัวพนักงานที่จะเหนื่อยน้อยลง ปกติของธุรกิจร้านอาหาร ร้านเปิด 10.00-11.00 น. ก็จริง แต่พนักงานต้องเข้างาน 08.00 น. เพื่อเตรียมทุกอย่าง เช่นเดียวกับตอนปิดร้าน เป็นงานที่หนักและเหนื่อย ยกตัวอย่างสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว เรามีพนักงานประจำสาขาเท่าเดิมคือ 60 คน มีหุ่นยนต์ 4 ตัว ซึ่งช่วยเสิร์ฟอาหารประจำ 4 โซน พนักงานไม่ต้องวิ่งวุ่นส่งอาหารทีละโต๊ะเหมือนเดิม เพราะหุ่นยนต์ส่งครั้งละหลายโต๊ะ ช่วยแบ่งเบาภาระไปได้มาก”

จากข้อมูลที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ร้านเอ็มเคสุกี้ เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลลาดพร้าวเมื่อปี 2529 และได้รับความนิยมแพร่หลายจนมีการขยายสาขาเพิ่มทั่วประเทศ และได้ยังขยายแบรนด์อาหารเพิ่มเติม ได้แก่ ร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” “ฮากาตะ” “มิยาซากิ” ร้านอาหารไทย “ณ สยาม” “เลอ สยาม” ร้านข้าวกล่อง “บิซซี่บ็อกซ์” ร้านขนมหวาน “เอ็มเค ฮาร์เวสต์” ร้านกาแฟ/เบเกอรี่ “เลอ เพอทิท” และในช่วงปลายปี 2562 ได้ประกาศการลงทุน 65% ในร้านอาหาร “แหลมเจริญ ซีฟู้ด”

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 เอ็มเค สุกี้ มี 458 สาขาทั่วประเทศ ยาโยอิ 194 สาขา ร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด 29 สาขา ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ 6 สาขา ร้านมิยาซากิ 21 สาขา ร้านอาหารไทย เลอ สยาม 3 สาขา ร้านอาหารไทย ณ สยาม 1 สาขา ร้านข้าวกล่อง “บิซซี่บ็อกซ์” 6 สาขา ร้านขนมหวาน “เอ็มเค ฮาร์เวสต์” 1 สาขา และร้านเลอ เพอทิท 3 สาขา และยังได้ขายแฟรนไชส์ร้านเอ็มเค สุกี้ ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสิงคโปร์ โดยเอ็มเค (M) มีรายได้ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่ 7,745 ล้านบาท ขาดทุน 268 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด มีรายได้ 17,870 ล้านบาท กำไร 2,603 ล้านบาท

รุกหุ่นยนต์เฟสใหม่ดึงดูดใจลูกค้า

หลังจากที่เอ็มเคกรุ๊ปทยอยนำหุ่นยนต์ทั้ง 500 ตัวเข้ามาให้บริการในเครือร้านอาหารทั่วประเทศ พบว่าสามารถลดเวลาในการให้บริการลง 1.5 เท่า และหุ่นยนต์ยังช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกับเด็กๆ ซึ่งมักเรียกร้องขอรับบริการจากหุ่นยนต์ แต่ละสาขาจะตั้งชื่อหุ่นยนต์ให้น่ารักน่าเอ็นดู แตกต่างกันไป ได้แก่ “น้องผักกาด” “น้องทับทิม” “น้องเปาครีม” เป็นต้น และเฟสต่อไปเอ็มเคกรุ๊ปมองไปถึงการขยายบริการผ่านหุ่นยนต์เพิ่มเติม เช่น การเล่นเกมกับลูกค้าเด็ก หรือหุ่นยนต์เต้น ซึ่งนำมาทดแทนการเต้นต้อนรับลูกค้าของพนักงาน เป็นที่ชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะขณะนี้พนักงานต้องหยุดเต้น เพื่อลดความเสี่ยงของโควิด

นายธีร์กล่าวถึงความท้าทายของเอ็มเคสุกี้ ในยุคที่ต้องเผชิญการแข่งขันจากทุกทิศทาง ทั้งจากสุกี้แบรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง ความนิยมรับประทานสุกี้ญี่ปุ่นในรูปแบบชาบูว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอ็มเค (ฤทธิ์ ธีระโกเมน ผู้เป็นบิดาของธีร์) บอกเสมอว่าการแข่งขันทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น เมื่อมีทางเลือกมากขึ้นก็จะออกมารับประทานอาหารหรือบริโภคมากขึ้น ถือเป็นโอกาสของเอ็มเคเสมอ เพราะมีร้านอาหารให้เลือกหลากหลาย

“แฟนของเอ็มเคจะรู้ว่าเราไม่เคยหยุดนิ่ง เอ็มเคเป็นรายแรกที่ริเริ่มนำหม้อไฟฟ้ามาใช้ตั้งแต่สาขาแรกเปิดเมื่อปี 2529 เรานำคอมพิวเตอร์พกพาหรือ PDA มารับออเดอร์ลูกค้าตั้งแต่ปี 2533 ตอนนี้มีแท็บเล็ตติดตั้งให้ลูกค้าออเดอร์เอง หลังพบลูกค้าวัยรุ่นนิยมสั่งอาหารเอง จนมาถึงยุคของหุ่นยนต์ ก็มีบริการ 500 ตัวแล้ว ในมุมของสินค้า แน่นอนเมนูใหม่ๆต้องมีต่อเนื่อง เรามีหมูชาบูขาย มีซุปน้ำดำ มีพุดดิ้งฮ่องกง มีชานมไข่มุก เพื่อให้เข้ายุคสมัย แม้ว่าสินค้าขายดีจะเป็นเมนูดั้งเดิมอย่างเป็ดย่าง บะหมี่หยก และสุกี้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ