EA ประกาศความสำเร็จ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไทย ใหญ่สุดในอาเซียน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

EA ประกาศความสำเร็จ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไทย ใหญ่สุดในอาเซียน

Date Time: 12 ธ.ค. 2564 16:39 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • EA กดปุ่มสตาร์ต โรงงานผลิตแบตเตอรี่ระดับ Gigafactory ครบวงจรสุดทันสมัย พร้อมดันประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

Latest


EA กดปุ่มสตาร์ท โรงงานผลิตแบตเตอรี่ระดับ Gigafactory ครบวงจรสุดทันสมัย พร้อมดันประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

วันที่ 12 ธ.ค. 2564 นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า เผยว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ออกแบบให้โรงงานแห่งนี้ใช้ระบบที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตต่างๆ ได้ง่ายเพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต

อีกทั้งโรงงานยังเน้นแนวคิดที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นการรีไซเคิลในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปี ที่กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์เข้าไปร่วมทุน ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงานจนเป็นผลสำเร็จ จนมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่มากขึ้นในระดับ World Class เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell

ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ แบตเตอรี่ของอมิตา ยังออกแบบให้เข้ากันกับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ ที่จะเป็นจุดเด่นสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด”

สำหรับ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า เพื่อช่วยในการลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ผลิตได้ในระยะเริ่มต้น ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากศักยภาพในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ได้เองแล้ว EA ยังคิดไกลแบบก้าวกระโดด ด้วยการขยาย Supply Chain ให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดขยะและลดการพึ่งพาจากภายนอก โดยมีการสร้างหอกลั่นสาร Solvent ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อทำให้บริสุทธิ์จนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้มีของเสียน้อยลง และลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

อีกทั้งยังได้สร้างโรงงานผลิตสาร Electrolyte ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของเซลล์แบตเตอรี่ใช้เองเป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมีทีม In House R&D ทำให้สามารถนำสาร Electrolyte ที่ผลิตเสร็จ มาทดสอบในเซลล์แบตเตอรี่เพื่อวัด Performance ได้ทันที และสามารถคิดค้นพัฒนาสูตรเองให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่บริษัทฯ ผลิตได้เองมาใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรองให้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีโรงรีไซเคิล เพื่อลดขยะที่เป็นพิษ เป็นการคิดและออกแบบกระบวนการผลิตแบบครบวงจร ซึ่งเป็นจุดแข็งที่โดดเด่น สามารถเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็น New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสนับสนุนด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดมลพิษและภาวะโลกร้อนให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์