ธนบุรี เฮลท์แคร์ ชูโครงการ "จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้" ไม่ใช่แค่คอนโดมิเนียม แต่เป็นเวลเนส คอมมูนิตี้ ที่ถูกออกแบบและดูแลโดยทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ พร้อมแนะคนไทยควรให้ความสำคัญการออม และการวางแผนเกษียณ
นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ในปี 2563 มีคนอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 13.5% ของประชากรทั่วโลก โดยมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 16% ในปี 2573 ก่อนจะขยับเพิ่มเป็น 21% ในปี 2593 ขณะที่เมืองไทย ปี 2564 มีคนอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งโลก เรียกได้ว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ และอนาคตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
หลายคนอยากเกษียณแบบมีความสุขในอนาคต แต่ผมอยากให้มองปัจจุบันก่อน โดยเฉพาะในแง่การออมของคนไทย ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างต่ำมาก ระดับการออมที่เหมาะสมอยากแนะนำว่าช่วงอายุ 24-25 ปี ควรออมที่ 30% ของรายได้และทำให้เป็นนิสัยทุกเดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ยังแข็งแรง ทำมาหากินได้และถ้านับว่าจะเกษียณไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือพนักงานที่ประมาณ 60 ปีนั่นหมายถึงมีระยะการทำงานและออมที่ 35 ปี
จากนั้นถ้าดูค่าเฉลี่ยอายุของคนไทย ผู้ชายอยู่ที่ 73-74 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 74-75 ปีนั่นหมายถึงเราจะมีอายุหลังเกษียณอีกเกือบ 20 ปี และที่สำคัญอายุเฉลี่ยของคนในอนาคตจะยาวขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะไปถึง 80 ปี นั่นหมายถึงอายุที่เหลือหลังเกษียณจะใกล้เคียงกับอายุการทำงาน
ถ้าดูสถิติย้อนหลัง อย่างเช่นเกิดช่วงปี 2509 เป็น Gen X หาง Baby Bloomer ปัจจุบันอยู่ที่ 55 ปี คาดการณ์ว่าคน Gen นี้อายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 90 ปี นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่มีรายได้หลังเกษียณตอนอายุ 60 ปี โดยที่ต้องอยู่ไปอีก 30 ปีนั้นตัวเลขการออมที่ 35% ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องหรือเพียงพอหรือไม่
พอเป็นรุ่น Gen Y หรือ Gen Z สมมติอายุตอนนี้อายุ 25-27 ปี กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะอายุถึง 100 ปี เพราะว่าค่าเฉลี่ยอายุของผู้คนจะยาวขึ้น โดยสถิติรอบ 150 ปีที่ผ่านมามีวิธีคำนวณง่ายๆ ว่าแต่ละ Gen อายุจะยืนมากขึ้นประมาณ 5-7 ปี
ถ้าเทียบหลักการง่ายๆ เราจะอายุยืนกว่ารุ่นปู่ รุ่นย่าประมาณ 10-15 ปี พอจบทำงานใหม่ๆ คุณปู่คุณย่ายังอยู่ ก็จะไปจำได้ว่าคุณปู่คุณย่าเสียอายุประมาณนี้ และเราจะไปเสียชีวิตประมาณเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ให้บวกไปเลย 10-15 ปี ซึ่งประเด็นนี้ ผมเห็นว่าคนไทยยังวางแผนไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ประการที่ 2 คือ ทำงานไปเรื่อยๆ อย่าคิดว่าจะเกษียณ ถ้าไม่มีใครจ้างก็ทำเอง เป็นฟรีแลนซ์หาอะไรทำให้มีรายได้ หลัง 60 ปีหาอะไรทำไปจะทำอาชีพส่วนตัว หรือมีความสามารถด้านอาหาร ปลูกต้นไม้ ทำไปเลย ถามว่าแล้วได้อะไร ก็จะได้ 2 อย่างคือ 1. รายได้มาเลี้ยงตัว และ 2. Exercise ความเป็นมนุษย์ ได้ทำงานมีเพลิดเพลิน ทำงานที่ชอบและมีรายได้
"การวางแผนเกษียณไม่ใช่เรื่องเก็บเงินอย่างเดียว แต่เป็นการหาอะไรทำ ทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับตัวเอง คุณค่ากับสังคม และก็ต้องมีรายได้ด้วยจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ คนต้องมีงานทำ ต้องมีสิ่งที่ชอบให้ทำ"
ทั้งนี้ ผมอยากจะให้เข้าใจว่า เราควรพึ่งตัวเองมากกว่าพึ่งพาคนอื่น เช่น คนนั้นต้องมาช่วย ลูกต้องมาช่วย รัฐบาลต้องมาช่วย อย่าไปหวัง เพราะว่ามนุษย์เราถ้าเทียบเหมือนไม้ยืนต้นอายุยาว มนุษย์เป็นสัตว์ที่อายุยืน แต่ว่าส่วนใหญ่คนที่ออกกติกามาดูแลเรา เช่น รัฐบาล หรือหน่วยงานใดก็แล้วแต่เขาจะไม่ได้อยู่ยืนยาว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำเป็น Public policy ออกมาทุกอย่างเพื่อจะ civilized ช่วงสั้นๆ ที่เขาบริหารอยู่ เลยจากนั้นไปอีก 10-30 ปี ก็เป็นหน้าที่ของคนที่มารับช่วงต่อ เรื่อง Planning กับ Self-Management และวินัย ต้องโปรโมต ต้องวางแผน และมีวินัยในตัวเองที่ดี
Wellness ที่ถูกออกแบบโดยคุณหมอ
ทิมโมตี้ อีเมน เลิศสมิติวันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ในเครือ THG กล่าวว่า ทุกวันนี้สังคมไทยคล้ายกับหลายประเทศในแถบประเทศตะวันตกที่กำลังเผชิญ ความเป็นสังคมเดี่ยว ไม่มีลูกหลาน หรือถ้าหากมีลูกมีหลานก็ไม่สามารถมีกำลังเพียงพอที่จะดูผู้สูงอายุ ในทางกลับกันผู้สูงอายุก็ไม่ต้องการเป็นภาระลูกหลาน
จากสถิติพบว่า ครอบครัวในไทยประมาณ 20% เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวอันเกิดจากปัญหาการหย่าร้าง และจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน หรือ คนดูแลมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ผ่านมาเทียบระหว่างช่วง 2530 กับ 2560 อยู่ที่ 8.7-9%
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเราจะเห็นผู้สูงอายุมากขึ้น การเกษียณที่อายุ 55 ปีหรือ 60 ปีจะขยับขึ้นเป็นเกษียณตอน 70 ปีแทน เพราะวิวัฒนาการทางแพทย์ และการดูแลสุขภาพทำให้ผู้สูงอายุในช่วงวัยดังกล่าวยังคงแข็งแรงอยู่ แต่หลังจาก 70 ปีแล้ว มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะเลือกที่อยู่อาศัย หรือสังคมหลังเกษียณที่เป็นมิตรกับอายุ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ ความใกล้ชิดกับระบบสาธารณสุข และกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาร่างกาย รวมถึงอารมณ์ เป็นต้น
ทิมโมตี้ กล่าวอีกว่า แนวคิดในการสร้างจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ซึ่งถือเป็นโครงการเวลเนส คอมมูนิตี้ นอกจากจะสร้างมาเพื่อผู้สูงอายุแล้ว ยังเหมาะกับผู้ต้องการพักฟื้นร่างกาย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยดูแลสุขภาพและการดูแลจิตใจ เพราะทั้งหมดถูกออกแบบและดูแลโดยทีมแพทย์ และพยาบาลจากโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา
ปัจจุบันเราก็ทำแพ็กเกจฟื้นฟูสมรรถภาพและสุขภาพแบบองค์รวม ที่ไม่ได้เหมาะแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่คนทำงานทั่วไป คนที่อยากดูแลสุขภาพก็สามารถซื้อแพ็กเกจฟื้นฟูได้ เพราะเรามีให้เลือกหลากหลายประเภท ทั้งแบบระยะสั้น 3-7 วัน ไปจนถึงระยะยาว 30 วัน ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 6,900-73,000 บาท
ในแพ็กเกจประกอบด้วยโปรแกรมการประเมินสุขภาพ กิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กิจกรรมสันทนาการ พร้อมบริการอาหารทั้ง 3 มื้อ และทำความสะอาดห้องพัก เป็นต้น นอกจากนี้ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ยังเปิดขายคอนโดมิเนียมแบบโลว์ไรส์ 7 ชั้น จำนวน 5 อาคาร มีห้องพักจำนวน 494 ยูนิต ราคาเริ่มต้นประมาณ 4 ล้าน ค่าส่วนกลางเริ่มต้นตารางวาละ 60 บาท
"จริงๆ แล้ว จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ฟื้นฟูสุขภาพ บ้านพักของผู้สูงอายุ หรือโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ที่นี่เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่เริ่มต้นดูแลสุขภาพผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกแบบและแนะนำโดยคุณหมอ จึงถือเป็นจุดต่างหากเทียบกับโครงการ Wellness อื่นๆ และสิ่งที่แตกต่างมากที่สุด คือ เราเป็นเครือโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านๆ มาเราจะเป็นโครงการ Wellness บริการโดยกลุ่มอสังหาฯ นั่นเอง"
จุดเด่นโครงการนอกจากการคำนึงถึงความต้องการ ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจรวมถึงการดูแลรักษาแล้วยังครอบคลุมไปถึงสภาวะแวดล้อม โดยชุมชนแห่งนี้ทางโครงการได้จัดให้พื้นที่กว่า 50% เป็นพื้นที่สีเขียว โดยออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ที่เหมาะสมและได้รับรางวัลในระดับโลกมาแล้ว
ส่วนโครงการในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวคิดการขยายไปยังพื้นที่ทางแถบภาคเหนือ และภาคใต้ หากจัดทำเป็นลักษณะบ้านพักผ่อนในสถานที่ท่องเที่ยวโดยอาจจะเป็นไทม์แชร์ริ่ง เพราะต้องยอมรับว่าผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ โดยแนวคิดนี้จะตอบโจทย์ด้าน Wellness and Healthcare ที่กำลังอยู่ในความต้องการ