นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยในงานสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย ว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีความเค็ม เพื่อให้คนไทยลดการบริโภคเกลือลงอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนจะจัดเก็บอัตราใดและเกณฑ์ความเค็มเป็นเท่าใด ต้องรอผลศึกษาของกรมสรรพสามิต และจะประกาศใช้เมื่อไรนั้น ต้องรอเวลาที่เหมาะสมของเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องรณรงค์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือลงด้วย เพราะมีผลต่อสุขภาพมาก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานอาหารและยา (อย.) ต้องร่วมกำหนดเกณฑ์สัดส่วนเกลือหรือโซเดียมในอาหาร ทั้งอาหารสำเร็จรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงอาหาร เช่น ผงชูรส น้ำปลา เกลือ ผงปรุงรส เป็นต้น อีกทั้งอาหารที่ปรุงในร้านอาหารและภัตตาคาร คาดว่าจะใช้อัตราใกล้เคียงกับภาษีความหวานที่ต้องกำหนดปริมาณชัดเจน
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายการรักษาสุขภาพของประชาชนราว 100,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 10-15% เพราะจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากการบริโภคความหวาน มัน เค็มซึ่งมีผลต่อสุขภาพ และเป็นปัจจัยทำให้เกิด 5 โรคเรื้อรัง คือ ความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน ที่มีค่าใช้จ่ายฟอกไตปีละ 20,000 ล้านบาท โรคหัวใจ 500,000 คน โรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก) 500,000 คน เบาหวาน 4 ล้านคน เป็นภาระงบประมาณที่สูงมาก และเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น เพื่อลดภาระงบประมาณจึงต้องจัดเก็บภาษีความเค็ม เพื่อลดการบริโภคความเค็มลง โดยจัดเก็บตามอัตราความเค็ม
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า กรมได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีความเค็มเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่วิกฤติโควิดทำให้ต้องเลื่อนการจัดเก็บออกไปก่อน รอเวลาเศรษฐกิจดีขึ้น หรือเมื่อมูลค่าจีดีพีประเทศขยายตัวไปถึง 16 ล้านล้านบาทขึ้นไป โดยก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ จะให้เวลาภาคอุตสาหกรรมปรับตัว 6-12 เดือน เนื่องจากจะกระทบประชาชนในวงกว้าง ต้องจัดเก็บภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ใช้ภาษีตามขั้นบันไดเหมือนภาษีความหวาน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวและผลิตสินค้าสูตรใหม่ออกมา การออกมาตรการภาษีความเค็มจะเก็บตามสัดส่วนความเค็มที่ผสมในสินค้า เค็มมากเสียภาษีมากเค็มน้อยเสียภาษีน้อย ต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะไม่เสียภาษีเลย สินค้าเป้าหมายมี 4 กลุ่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง/เย็น ขนมขบเคี้ยว และซอสปรุงรส เป็นต้น.