ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ พ่นพิษ ยอดเคลมพุ่งถึง 32,000 ล้านบาท หวั่นโควิดระบาดใหม่อีกรอบจะกระทบสภาพคล่องบริษัทประกันภัย ขณะที่ คปภ.เตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องหารือ 15 พ.ย. 64
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนบริษัทสมาชิกที่มี ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ให้ประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบจากกรมธรรม์ที่ยังมีผลคุ้มครองจนถึง มิ.ย. 65 เนื่องจากยอดเคลมสินไหมทั้งระบบสิ้นเดือน ต.ค. 64 สูงถึง 32,000 ล้านบาท พร้อมทั้งประเมินว่าภายในสิ้นปี 64 นี้อาจสูงถึง 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26-30% ของเงินกองทุนทั้งหมด หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในบริษัทประกันภัยที่มีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ อีกหลายแห่ง
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดตั้งแต่ปี 63 จนถึง 13 พ.ย. 64 จะพบว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมแล้ว 2,011,311 ราย และหากนับเฉพาะวันที่ 1 เม.ย. - 13 พ.ย. 64 จะพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,982,468 ราย เสียชีวิต 19,898 ราย
คปภ.เตรียมเรียกบริษัทประกันภัยเข้าหารือ 15 พ.ย. 64
ทางด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการ กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. กล่าวว่า กรณีสมาคมบริษัทประกันวินาศภัยไทย ทำหนังสือถึง คปภ.ให้ทบทวนเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายค่าสินไหมจำนวนมากว่า วันจันทร์ที่ 15 พ.ย. 64 จะเรียกผู้บริหารของบริษัทประกันภัยมาหารือ
ทั้งนี้ เพื่อขอดูตัวเลขของการรับประกันภัยทั้งหมดมาเป็นประเด็นในการพิจารณา การที่บริษัทประกันภัยรับประกันไปแล้ว เมื่อมียอดเคลมเข้ามามาก แล้วมาขอยกเลิก ทำให้ธุรกิจประกันฯ ขาดความเชื่อมั่นได้ แนวทางออกมีหลายวิธี เช่น ผู้เอาประกันยกเลิกด้วยความสมัครใจ บริษัทประกัน ต้องจ่ายเงินคืนให้คุ้มค่า หรือหาแบบประกันใหม่มาเปลี่ยนเพื่อให้ตรงใจผู้บริโภค ทั้งนี้ สามารถเอายอดจ่ายเคลมรถยนต์มาจ่ายให้ประกันโควิดได้
ส่วนตัวเลขที่สมาคมประกันวินาศภัย บอกว่า มียอดจ่ายเคลมโควิดไปแล้ว 32,000 ล้านบาท สิ้นปีจะสูงถึง 40,000 ล้านบาท ไม่ตรงกับตัวเลขของ คปภ.ที่มียอดจ่ายเคลมโควิด 20,000 ล้านบาท จ่ายเบี้ยประกันรถ 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียง 3 บริษัทประกันภัยที่เข้าโครงการผ่อนผันเงินของกองทุนของ คปภ. คือ บริษัท 1. สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ 3. บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากที่ผ่านมาทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว รับประกันโควิดไว้เอง ไม่ได้ส่งประกันภัยต่อ จึงต้องจ่ายภาระค่าเคลมไว้หมด การรับประกันโควิด บริษัทประกันเลิกขายกรมธรรม์ไปตั้งแต่เดือน มิ.ย. 64 ดังนั้น ความคุ้มครองสุดท้ายถึง มิ.ย. 65 สำหรับบริษัทประกันภัยที่ถูกปิดกิจการจากผลกระทบจากรับประกันโควิด
ล่าสุด มีเพียงบริษัทเอเชียประกันภัย 1995 ที่ถูกปิดกิจการ ซึ่งวันที่ 16 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิดยื่นเคลมค่าสินไหมก่อนวันที่ 16 ต.ค. กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้จ่ายเงินค่าสินไหม ส่วนผู้เอาประกันที่มีอายุกรมธรรม์เหลืออยู่ บริษัทจ่ายเบี้ยประกันคืนคิดตามจำนวนวันคุ้มครองที่เหลือ หรือมีบริษัทประกันภัยรายอื่นรับทำประกันจนครบอายุ
ประกันโควิด เจอ จ่าย จบพ่นพิษ สินมั่นคงประกันภัยขาดทุน 3,662.39 ล้าน
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้รายงานผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือนของปี 64 และไตรมาสที่ 3/64 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 บริษัทขาดทุน 3,662.39 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 160.21 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 2,386.02% ส่วนผลการดำเนิน 9 เดือนแรกปี 64 ขาดทุนสุทธิ 3,845.58 ล้านบาท
สำหรับรายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาส 3/64 เท่ากับ 3,148.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 745.89 ล้านบาท จากช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,438.18 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 30.59% ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก
- เบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้ในไตรมาสนี้เท่ากับ 2,520.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171.90 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.32% เป็นผลมาจากสำรองเบี้ยประกันภัยลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนจำนวน 96.30 ล้านบาท
- รายได้และกำไรจากการลงทุนเพิ่มขึ้น 572.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 998.10% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น 437.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,503.61% จากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อทำกำไรในไตรมาส 3/64 และกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้น 147.45 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 1,760.58% เป็นผลจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
2. ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 7,552.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,309.89 ล้านบาท คิดเป็น 236.76% จากงวดเดียวกันของปี ก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2,242.72 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลัก ดังนี้
2.1 ค่าสินไหมทดแทนในไตรมาส 3/64 เท่ากับ 6,815.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,265.36 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 339.63% แยกเป็นค่าสินไหมทดแทนประเภทอื่นๆ 812.78 ล้านบาท และค่าสินไหมทดแทนโควิดเท่ากับ 6,002.91 ล้านบาท เป็นผลมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในไตรมาสเดียวกันปี 63
3. กำไรจากการรับประกันภัยสำหรับไตรมาส 3/64 มีผลขาดทุนจำนวน 4,991.67 ล้านบาท เป็นผลประกอบการจากการรับประกันภัยโควิดขาดทุน จำนวน 5,827.24 ล้านบาท ส่วนการรับประกันภัยประเภทอื่นๆ มีผลกำไรจำนวน 835.57 ล้านบาท
โดยสรุปสาเหตุหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 ประสบผลขาดทุนสูงถึง 3,662.39 ล้านบาท มาจากมูลค่าสินไหมทดแทนโควิดในไตรมาส 3/64 เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 63 ซึ่งมีมูลค่าสินไหมทดแทนโควิด เพียง 0.08 ล้านบาท.