ตลาดเนื้อสัตว์เทียม หรือแพลนต์เบสท์ (Plant Based) ซึ่งเป็นเทรนด์อาหารสุขภาพที่มาแรงในยุคนี้ เป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพหรือคนที่ต้องการลดการรับประทานเนื้อ เนื่องจากวัตถุดิบที่ผลิตมาจากพืช 100% แต่มีรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์
บรรดาผู้ประกอบการกระโดดลุยตลาดกันอย่างคึกคักทั้งรายเล็กรายใหญ่ที่พัฒนาสินค้ามาหลากหลายรูปแบบ หารับประทานได้ง่ายแม้กระทั่งอาหารฟาสต์ฟู้ดไปจน อาหารเรดี้ทูอีทเพียงแค่นำมาอุ่นก็รับประทานได้ทันที
จุดเด่นที่ผู้ประกอบการทั้งหลายที่นำมานำเสนอกันหนีไม่พ้นเทคโนโลยีและรสชาติที่พยายามให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ คงความอร่อยเป็นเมนูที่น่าชวนรับประทาน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมของไทย หลังจากประสบความสำเร็จในการบุกตลาดแพลนท์เบสท์ได้รับการตอบรับอย่างจากผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภค ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ใช้เทคโนโลยี Plant-Tec จากวัตถุดิบพืชในระดับอุตสาหกรรม โดยแก้ไข Pain Point ทุกข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นได้เปิดเผยที่มาของนวัตกรรมนี้
ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซีพีเอฟกล่าวว่า ซีพีเอฟได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิตโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารแทรกอยู่ในกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์เทรนด์อาหารโลก ผ่านศูนย์ วิจัยและพัฒนาอาหารหรือ CPF RD Center เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดยการวิจัยพัฒนานั้นต้องตอบโจทย์ได้จริง
สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ Meat Zero นั้นเกิดจากความร่วมมือระหว่าง CPF RD Center กับบริษัท แพลนต์เบสท์ระดับโลกจากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์รวมถึงสถาบันการศึกษาของไทยอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความสมบูรณ์แบบทั้งลักษณะ รสชาติ กลิ่นและเนื้อสัมผัสแบบที่ผู้บริโภครับประทานแล้วแทบไม่รู้เลยว่ากำลังทานพืชผักอยู่ ขณะเดียวกันซีพีเอฟยังแก้ข้อจำกัดในด้านระดับราคาให้ลงมาอยู่ในระดับเดียวกับเนื้อปกติ และวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย
ล่าสุด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารของซีพีเอฟกำลังต่อยอดศึกษาวิจัยนวัตกรรมอาหารขั้นสูง ซึ่งเป็นอีกเทรนด์ความต้องการของโลกอนาคต ภายใต้แนวคิด Open Innovation ที่เปิดกว้างสำหรับสถาบันวิจัย ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ รวมถึงธุรกิจสตาร์ตอัพที่จะร่วมกันวิจัยพัฒนาสิ่งใหม่อย่างยั่งยืน โดยบริษัทได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Food Valley ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนวัตกรรมอาหารนับหมื่นคน รวมทั้งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรม ในงาน Asia-Pacific Food Agri-Food Innovation Summit ประเทศสิงคโปร์
ขณะเดียวกัน ยังให้การสนับสนุน ProVeg Food Innovation Challenge ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านนวัตกรรมอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น เหล่านี้ทำให้ได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในวงการนวัตกรรมอาหาร
“ซีพีเอฟไม่หยุดพัฒนาเพียงเนื้อจากพืชและอาหารเพื่อสุขภาพมากมายสำหรับผู้บริโภค แต่จะต่อยอดศึกษาวิจัยนวัตกรรมอาหารตามเทรนด์ความต้องการของโลก เพราะการวิจัยไม่มีที่สิ้นสุดมีแต่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเราเปิดกว้างในการร่วมวิจัยกับทุกภาคส่วน ตามแนวคิด Open Innovation ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่นวัต กรรมอาหารใหม่ๆได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน” ดร.ลลานากล่าว
สำหรับอีกความเคลื่อนไหวของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู หนึ่งผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกที่เดินหน้าลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและสตาร์ตอัพอย่างต่อเนื่อง ได้รุกตลาดแพลนต์เบสท์ เปิดตัวแบรนด์ OMG Meat ทั้งเนื้อสัตว์ และอาหารทะเลที่ผลิตจากพืช ล่าสุดได้ใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท ลงทุนด้วยการซื้อหุ้นจำนวน 10% ในบริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรืออาร์บีเอฟ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เช่น วัตถุแต่งรส (Flavor) และวัตถุแต่งกลิ่น (Fragrance) พร้อมกับธุรกิจแพลนต์เบสท์และธุรกิจกัญชงในอนาคต เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่จะมาต่อยอดธุรกิจแพลนต์เบสท์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เมื่อผู้นำในตลาดอาหารขยับตัวรับเทรนด์อาหารสุขภาพทั่วโลก แน่นอนว่าตลาดภายในประเทศเล็กเกินไป จึงต้องลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตอบกระแสโลกได้ดี.
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th