CMMU เผยธุรกิจความงาม อาหารเสริมควรใช้สมุนไพรขยายตลาดทั่วโลก พร้อมยก 5 ปัจจัยผู้บริโภคทั่วโลกเลือกเทรนด์สุขภาพ
ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 เป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย ต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือธุรกิจความงาม เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ธุรกิจก็ยังขาดความยั่งยืนในระยะยาว เหตุประสบปัญหาการตัดราคา ทำโปรโมชั่น ขาดจุดเด่นชัดเจน
ปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่กับการดูแลร่างกาย ถือเป็นเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมมาแรง ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจนี้เช่นกัน แต่อุตสาหกรรมนี้กลับมีวงจรธุรกิจสั้นเพียง 1-2 ปี และต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ดังนั้นต้องคำนึงถึงมาตรฐานระดับสากลพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค พยายามขยายไปตลาดต่างประเทศให้ได้ จึงจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน
จากเหตุดังกล่าว สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. มีข้อมูลระบุเทรนด์สุขภาพ โดยอ้างอิงจากผลวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคของบริษัท Mintel พบว่า ผู้บริโภคในทวีปยุโรป ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมังสวิรัติ หรือ Vegan มีส่วนผสมของน้ำตาลน้อย ขณะที่ผู้บริโภคในทวีปอเมริกาเหนือ เน้นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สารตกแต่งพันธุกรรม
ส่วนผู้บริโภคในทวีปเอเชียนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและปราศจากสารปรุงแต่ง ถือได้ว่าผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติมากกว่าที่ใส่สารปรุงแต่ง และนิยมรับประทานอาหารเสริมและวิตามินในรูปแบบเม็ดแคปซูลมากที่สุด
แนวโน้มผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญมี 5 ปัจจัย ดังนี้
1. การส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ผู้บริโภค 70% ต้องการอาหารเสริมหรือวิตามิน โดยเฉพาะการรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ ช่วยรักษาผิวพรรณ เน้นสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ ไม่ส่งผลเสียกับร่างกาย
2. ความกังวลกับโรคอุบัติใหม่และปัญหาสุขภาพ คนทั่วโลกส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องดื่มทดแทน และคนไทย 47% ที่ต้องการอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มเติม มักซื้อในรูปแบบของอาหารและเครื่องดื่ม
3. ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผสมกับอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชและโปรตีนทางเลือกจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคในยุโรปร้อยละ 45 เชื่อว่าการรับประทานอาหารจากพืช หรือ Plant-base ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าทานเนื้อสัตว์
4. ผลิตภัณฑ์พ่วงมากับความสวยความงาม ผู้บริโภคชาวไทยกว่าร้อยละ 51 ให้ความสนใจกับอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้ผิวพรรณดีขึ้น ส่วนผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใส่อาหารเสริมและวิตามินในน้ำผลไม้
5. ฉลากต้องชัดเจน ผลิตภัณฑ์มีที่ไปที่มาโปร่งใส ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับฉลากที่ชัดเจน บ่งบอกลักษณะสินค้าที่สำคัญ เช่น วัตถุดิบทำจากพืช ไม่มีสารก่อภูมิแพ้
สำหรับประเทศไทย ธุรกิจอาหารเสริม ควรใช้จุดแข็งจากแหล่งสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลายนำมาผลิตสินค้า นำเทคโนโลยีและใช้การวิจัยที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนเพิ่มเติม สามารถต่อยอด ขยายตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก
นอกจากนี้ จำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากปัจจุบันอาหารเสริมเป็นที่นิยมหลายกลุ่ม ทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค อาทิ กลุ่มวัยทำงานมีพฤติกรรมที่ต้องใช้พลังกายและพลังทางความคิดอย่างหนัก จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองทั้งการเลือกรับประทานอาหารและการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เสียสุขภาพไปกับการทำงานทั้งวันจนเหนื่อยล้า ทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น.