เหล็กไทยยังไปโลดสวนโควิด รัฐหนุนเมดอินไทยแลนด์ดันอุตสาหกรรมคึกคัก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เหล็กไทยยังไปโลดสวนโควิด รัฐหนุนเมดอินไทยแลนด์ดันอุตสาหกรรมคึกคัก

Date Time: 2 ก.ย. 2564 07:05 น.

Summary

  • กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ชี้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยเติบโตขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางตลาดโลก ราคาเหล็กในภูมิภาคเอเชียผ่านจุดสูงสุดแล้วและปรับอ่อนลง

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ชี้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยเติบโตขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางตลาดโลก ราคาเหล็กในภูมิภาคเอเชียผ่านจุดสูงสุดแล้วและปรับอ่อนลง ผู้ผลิตเหล็กในไทยร่วมโครงการ “Made in Thailand” กว่าพันรายการสินค้าผลิตป้อนการจัดซื้อจัดจ้างและก่อสร้างภาครัฐ นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ครึ่งแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) ความต้องการใช้เหล็กในภูมิภาคต่างๆของโลกและประเทศไทยมีการปรับตัวในทิศทางบวก แม้ส่วนใหญ่ยังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กอันดับหนึ่งของโลก ในครึ่งแรกของปี 2564 ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 12.7% ปริมาณความ ต้องการใช้เหล็ก 537.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเติบโตของการผลิตรถยนต์ (เพิ่ม 26.4%) การต่อเรือ (เพิ่ม 19.1%) การลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (เพิ่ม 15.0%) คาดว่าทั้งปี จีนน่าจะมีการใช้เหล็ก รวมทั้งสิ้น 1,085 ล้านตัน การส่งออกสินค้าเหล็กจากจีน ครึ่งแรกของปีมีปริมาณสูงถึง 37.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 30.2% จนรัฐบาลจีนต้อง ชะลอด้วยการยกเลิกการคืนภาษีส่งออก (Rebate Tax) สินค้าเหล็กส่วนใหญ่ เพื่อให้มั่นใจว่ามีเหล็กพอเพียงรองรับการเติบโตภายในประเทศ ดังนั้นปริมาณสินค้าเหล็กส่งออกจากจีนในครึ่งหลังของปีจะถดถอยลง

ราคาเหล็กโลกปรับตัวลง

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า ราคาสินค้าเหล็กของโลก ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในทุกภูมิภาคทั่วโลกในปี 2564 นี้ โดยในภูมิภาคเอเชีย ราคาเหล็กได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งราคาได้ดีดตัวขึ้นสูงสุดเมื่อเดือน พ.ค.ราว 1,030 ดอลลาร์ เป็น 2.5 เท่าจากราคาเมื่อกลางปี 2563 แต่ปัจจุบันราคาได้ปรับตัวอ่อนตัวลง แต่ในสหรัฐอเมริกา สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนยังคงมีราคาสูงสุดในโลก กว่า 1,900 ดอลลาร์ เป็นต้น

“โดยครึ่งแรกของปี 2564 ประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็กรวม 10.1 ล้านตัน เติบโตขึ้น 23.2% จากครึ่งแรกของปี 2563 อย่างไรก็ตาม การหยุดไซต์งานก่อสร้างและปิดแคมป์คนงานชั่วคราว ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค. ได้ส่งผลกระทบเชิงลบให้ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมเหล็กสะดุดลง แต่การผ่อนคลายให้กลับมาดำเนินงานก่อสร้างภายใต้มาตรการ Bubble and Seal ได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้ จะทำให้ความต้องการใช้เหล็กฟื้นกลับมาอีก โดยคาดว่าทั้งปี 2564 จะมีการใช้เหล็กไม่ต่ำกว่า 19 ล้านตัน หรือเติบโตขึ้นอย่างน้อย 15% จากปีที่แล้ว ซึ่งปริมาณถดถอยต่ำสุดเพียง 16.5 ล้านตันเท่านั้น”

นายนาวา กล่าวว่า จากความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในครึ่งแรกของปี 2564 ประเทศไทยทั้งผลิตเหล็กในประเทศเอง รวม 4.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22.6% และนำเข้าสินค้าเหล็กมากถึง 6.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 24.5% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน โดยประเทศที่ส่งออกสินค้าเหล็กมายังไทย สูงสุด คือ (1) ญี่ปุ่น 2.6 ล้านตัน (2) จีน 2.0 ล้านตัน และ (3) เกาหลีใต้ 0.9 ล้านตัน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณนำเข้ามากที่สุด คือเหล็กแผ่นรีดร้อน ปริมาณ 2.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 55.1%

“เมดอินไทยแลนด์” หนุนเหล็กโต

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า แม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 อาจเติบโตเพียง 0.7-1.2% ตามคาดการณ์ล่าสุดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่การลงทุนภาครัฐ ปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.7% ด้วยงบประมาณปี 2564 ซึ่งมีงบลงทุน 4.2 แสนล้านบาท และไตรมาสหนึ่ง ปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.-ธ.ค.2564) อีก 1.0 แสนล้านบาท เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญให้มีความต้องการใช้เหล็กมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎกระทรวง การคลังตามนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ สำหรับงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดนั้น

“สำหรับผู้ผลิตในประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand -MiT) กับ ส.อ.ท.ไปแล้ว มากถึง 1,756 รายการสินค้า พร้อมมีส่วนร่วมในการก่อสร้างภาครัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ”

ทั้งนี้ โครงการ MiT มีขึ้นเพื่อมุ่งหวังช่วยสร้างความเข้มแข็งรวมทั้งการส่งเสริมให้เพิ่มการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รากฐานการผลิตของไทยมีความเข้มแข็งตลอดทั้งโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยสร้างความเข้มแข็ง และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 1.77 ล้านล้านบาท

“กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กมั่นใจว่า หากรัฐบาลจริงจังในการส่งเสริมการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ ต้องมีการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศในปริมาณมากขึ้น และปริมาณสินค้าเหล็กนำเข้าที่ใช้ในงานก่อสร้างภาครัฐไม่ควรมีปริมาณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนั้นขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายผลให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันอีกนับล้านล้านบาท ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ