เน็ตฟลิกซ์-กูเกิล-เฟซบุ๊กมาหมด 49 แพลตฟอร์มยอมขึ้นทะเบียนเสียภาษี

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เน็ตฟลิกซ์-กูเกิล-เฟซบุ๊กมาหมด 49 แพลตฟอร์มยอมขึ้นทะเบียนเสียภาษี

Date Time: 27 ส.ค. 2564 05:15 น.

Summary

  • เผย 49 แพลตฟอร์มออนไลน์ จาก 15 บริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจโกยรายได้จากประเทศไทย มาขึ้นทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกฎหมายอี–เซอร์วิส กับกรมสรรพากรแล้ว

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

เผย 49 แพลตฟอร์มออนไลน์ จาก 15 บริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจโกยรายได้จากประเทศไทย มาขึ้นทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกฎหมายอี–เซอร์วิส กับกรมสรรพากรแล้ว มีผลให้มีการจัดเก็บได้ตั้งแต่ 1 ก.ย.64 เป็นต้นไป

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยและมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกฎหมายอี-เซอร์วิส กับสรรพากรแล้ว 49 ราย จาก 15 ประเทศ โดยมีทั้งรายเล็กรายใหญ่ โดยภาษีอี-เซอร์วิสจะมีผลการจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.64 เป็นต้นไป

สำหรับรูปแบบที่ถูกเก็บภาษีออนไลน์จะมีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ซื้อขายผ่านออนไลน์ เช่น อเมซอน อีเบย์ 2.ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล 3.ธุรกิจตัวกลางที่เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ เช่น จองโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน 4.ธุรกิจตัวกลาง อาทิ บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดดีลิเวอรี ซึ่งการเรียกเก็บค่าจีพีจากร้านค้า และ 5.ธุรกิจที่มีรายได้จากการบอกรับสมาชิก เช่น บริการดูหนัง ฟังเพลง หรือเกมออนไลน์

สำหรับประเด็นที่มีผู้เป็นห่วงว่า จะมีการผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค หรือไม่นั้น จากการติดตามข้อมูลการเก็บภาษีอีเซอร์วิสจาก 60 ประเทศ พบว่า มีทั้งผลักภาระและไม่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค เช่น หากเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูง บริษัทอาจยอมเสียภาษีเองเพราะกลัวจะเสียลูกค้า แต่ถ้าธุรกิจรายใหญ่ๆที่ไม่มีคู่แข่งก็อาจจะให้ผู้ซื้อ
ผู้ใช้บริการเป็นคนเสียภาษีเอง หรือบางรายอาจแบ่งเสียภาษีกันคนละครึ่ง ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท รวมถึงสภาพการแข่งขันทางการค้า
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไทยรายใดที่เสียภาษีในส่วนนี้ ก็สามารถทำเรื่องหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือหักภาษีซื้อภาษีขายได้ เพราะการเก็บภาษีอี-เซอร์วิสจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับธุรกิจบริการออนไลน์ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย หรือธุรกิจต่างชาติที่จดทะเบียนในไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ผิดกับบริษัทต่างชาติที่ไม่จดทะเบียน ไม่ต้องเสียภาษีเลย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ภาษี อี-เซอร์วิสจะช่วยให้รัฐเก็บรายได้เข้าคลังเพิ่มไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มาจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีอี-เซอร์วิสแล้ว อาทิ เน็ตฟลิกซ์ กูเกิล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟต์ ซูม อเมซอน เป็นต้น
สำหรับ 15 ประเทศที่แพลตฟอร์มออนไลน์ มาขอขึ้นทะเบียนมีรายละเอียดดังนี้ ไอร์แลนด์ 11 ราย สหรัฐอเมริกา 10 ราย สิงคโปร์ 10 ราย เยอรมนี 4 ราย สวีเดน 2 ราย อังกฤษ 2 ราย ฮ่องกง 2 ราย ส่วนประเทศละ 1 ราย ได้แก่ แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน ทั้งนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ก็สามารถยื่นจดทะเบียนได้ตลอด ตามช่องทางออนไลน์ของกรมสรรพากร โดยภาษีงวดแรกที่จะต้องจ่ายตามรอบของภาษี คือ เริ่มวันที่ 23 ก.ย. เป็นต้นไป

“นับจากวันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะมีการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเป็นทางการ มั่นใจว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ต้องเสียภาษี จากเดิมผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศที่มาให้บริการในประเทศไทย และกอบโกยรายได้ออกนอกประเทศไปเป็นจำนวนมากไม่ได้เสียภาษีใดๆเลย”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ