ททท.สำนักงานตราด ใช้การ์ตูน "ขายหัวเราะ" เป็นช่องทางสื่อสารการตลาด ชวนคนไทยเที่ยวเกาะ หากโควิดคลี่คลาย
เมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 นายอิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศครึ่งปีแรกของปี 64 อยู่ในภาวะหดตัว แม้เดือน ม.ค.-เม.ย.ยังคงมีการท่องเที่ยวในประเทศอยู่บ้าง แต่หลังจากปลายเดือน เม.ย.64 เป็นต้นมาก็เกิดภาวะชะลอตัวเนื่องจากพบการติดเชื้อโควิด-19 เป็นวงกว้าง ส่งผลให้การท่องเที่ยวทุกจังหวัดทรุดตัว และภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าไตรมาส 4 ปี 64 อนาคตของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในระยะการปรับตัวเข้าสู่ยุควิถีปกติใหม่ นักท่องเที่ยวจะนิยมการเดินทางท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและประสบการณ์เน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ที่มีความปลอดภัยด้านสุขอนามัยคือสิ่งสำคัญที่สุด
"วิกฤติโควิดส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ บางรายต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางรายต้องเลิกกิจการไป และอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมฯ ซึ่ง ททท.ต้องเร่งฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิถีปกติใหม่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ฟื้นคืนกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิมบนพื้นฐานของความปลอดภัยและความยั่งยืน"
ดังนั้น ททท.สำนักงานตราด ได้ร่วมมือกับ บริษัท เครือบันลือ กรุ๊ป ผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ โดยเราจะใช้การ์ตูนเป็นสื่อร่วมโปรโมตการท่องเที่ยวจังหวัดตราด ซึ่งเราจะใช้ภาพจำของหนังสือขายหัวเราะที่แฟนการ์ตูนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดตราดจะได้พบกับเกาะแห่งหนึ่ง
โดยเป็นส่วนหนึ่งของเกาะนกนอก เชื่อมมาจากเกาะนกใน และเกาะกระดาด โดยเกาะนี้จะมีจังหวะที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาในช่วงน้ำลด ซึ่งทำให้เห็นพื้นที่เกาะเล็กน้อย และมีต้นตะบันขึ้นอยู่เพียงโดดๆ เพียงต้นเดียว มีลักษณะเหมือนมุกตลกติดเกาะของการ์ตูนขายหัวเราะ นักท่องเที่ยวจะรู้จักในนาม "เกาะขายหัวเราะ" และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดตราด
นางสาวพิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ป เปิดเผยว่า การนำการ์ตูนมาผูกเรื่องราวและภาพลักษณ์ของคาแรกเตอร์กับการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ สามารถทำได้อย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์กับคาแรกเตอร์ทำให้เกิดมิตรภาพและความประทับใจ โดยยกตัวอย่างประเทศอื่น อาทิ ประเทศญี่ปุ่น นำการ์ตูนและคาแรกเตอร์มาโปรโมตการท่องเที่ยว และต่อยอดรูปแบบใหม่ๆ ออกไปอยู่เรื่อยๆ
สำหรับประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้ถือว่าใช้พลังการ์ตูนและ Soft Power มาสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ เป็นการเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่าเหมาะกับเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต ที่นักท่องเที่ยวต้องการมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบและเชิงลึกมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้จุดเด่นสำคัญของขายหัวเราะ คือ การใช้การ์ตูนเล่าเรื่องได้ทุกเรื่อง ซึ่งเราคาดว่าน่าจะนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้หลากหลายแนวทาง โดยเราต้องการใช้ความถนัดของเราไม่ว่าจะเป็นในด้านการวาดการ์ตูน คาแรกเตอร์ อารมณ์ขันของตัวละคร และ Storytelling มาเป็นสื่อ และสร้างลูกเล่นในการพัฒนา Content และออกแบบ Content Marketing ให้ตรงกับแคมเปญที่สนับสนุนต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย.