ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
แม้การระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาเร่งด่วนที่หลายประเทศกำลังเร่งแก้ไขแล้ว แต่เมื่อการระบาดของโควิด-19 บรรเทาลง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้นจะเป็นสิ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งทั่วโลกตั้งเป้าที่จะทำให้ได้ภายในปี 2573 ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2564 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีเป็นวาระแห่งชาติที่จะพาไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าว บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอใช้โอกาสนี้พูดถึงประเด็นนี้ค่ะ
โมเดลบีซีจี คืออะไร โมเดลบีซีจี เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ประกอบด้วย เศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (บี : Bio economy) เป็นการนำทรัพยากรทางธรรมชาติหรือผลผลิตทางการเกษตร มาพัฒนาต่อยอดโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่า เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (ซี : Circular economy) ที่คำนึงถึงการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด โดยเน้นแก้ไขวงจรปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรมลพิษและของเสีย รวมถึงการมุ่งไปสู่การลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (zero waste) และ เศรษฐกิจสีเขียว (จี : Green economy)ที่มุ่งเน้น การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อโลกอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ทำไมรัฐบาลจึงต้องผลักดันระบบเศรษฐกิจใหม่นี้ เดิมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก ทำให้ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม สะท้อนจากข้อมูลของสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ชี้ว่า แรงงานในภาคเกษตรมีจำนวนสูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดแต่รายได้ กลับสวนทาง ทำให้แรงงานในภาคเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ลดน้อยลง ขณะเดียวกันแนวโน้มในอนาคตที่จะเปลี่ยนไปทั้งเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่มีแนวโน้มจำนวนลดลงนั้น การเตรียมรับมือถือเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจึงพยายามผลักดันเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นใช้ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว โมเดลบีซีจีนี้จึงจะเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตสอดรับกับแนวทางการพัฒนาในภาพใหญ่ของโลก และทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วย
ทิศทางการขับเคลื่อนโมเดลบีซีจีของไทยเป็นอย่างไร วาระแห่งชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโมเดลบีซีจี (ปี 2564-2569) สอดคล้องกับวาระของโลกด้านความยั่งยืนที่เน้น 1) การจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ 2) การใช้จุดแข็งและศักยภาพของพื้นที่ ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีในการยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ เพื่อการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก 3) การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 4) สร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
ทั้งนี้ ในการนำยุทธศาสตร์ข้างต้นสู่การปฏิบัติ รัฐบาลเน้นที่ 4สาขา อุตสาหกรรม S-Curve สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมวัสดุและเคมีชีวภาพ นอกเหนือจากการพัฒนาตามสาขาดังกล่าวแล้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนโมเดลนี้ได้สำเร็จ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องคนองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยี รวมถึงเงินทุนสำหรับการพัฒนาต่อยอดและสำหรับการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถที่จะสนับสนุนด้านต่างๆ ได้ อนาคตทิศทางประเทศก็จะไม่ไกลไปจากแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีได้อย่างแน่นอนค่ะ.