ค้าปลีกเสียหาย 2.7 แสนล้าน สำลักพิษ “โควิด-ล็อกดาวน์” จ่อปิดกิจการอื้อ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ค้าปลีกเสียหาย 2.7 แสนล้าน สำลักพิษ “โควิด-ล็อกดาวน์” จ่อปิดกิจการอื้อ

Date Time: 7 ส.ค. 2564 06:01 น.

Summary

  • ดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกทรุดหนักรอบ 16 เดือน ติดลบ 70% คิดเป็นมูลค่าเสียหาย 270,000 ล้านบาท คาดครึ่งปีหลัง จะดิ่งหนักลงอีก กว่า 100,000 ร้านค้าจ่อปิดกิจการ

Latest

“หมูเด้ง” ซุปตาร์ฮิปโปแคระ เกิดมา 4 เดือน งานพรีเซนเตอร์เข้าฉ่ำ คาดสร้างรายได้กว่าร้อยล้าน

ดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกทรุดหนักรอบ 16 เดือน ติดลบ 70% คิดเป็นมูลค่าเสียหาย 270,000 ล้านบาท คาดครึ่งปีหลัง จะดิ่งหนักลงอีก กว่า 100,000 ร้านค้าจ่อปิดกิจการ สาเหตุมาจากความวิตกการแพร่ระบาดไวรัสโควิด–19 แนวทางกระจายวัคซีนและความล่าช้า รวมทั้งมาตรการเยียวยาไม่เข้มข้น การกระตุ้นกำลังซื้อไม่ตรงเป้า คาดฟื้นตัวได้กลางปี 2566

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกเดือน ก.ค.2564 ที่ผ่านมา มีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงกว่าระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือน ส.ค.2564 ได้ขยายพื้นที่และจังหวัดคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติ โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงกลางปี 2566

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) อยู่ที่ระดับ 16.4 ลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ติดลบ 70% และการลดลงของยอดขายสาขาเดิมเดือน ก.ค.ปีนี้ การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม หรือ Same Store Sale Growth (SSSG) เกิดจากทั้ง ยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending Per Bill) และ ความถี่ในการจับจ่าย ลดลงพร้อมกันทั้งคู่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 270,000 ล้านบาท และมีกิจการกว่า 100,000 ร้านค้า เตรียมปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานกว่าล้านคน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวต้องใช้เวลา

“สมาคมฯ คาดว่าภาคการค้าปลีกและบริการครึ่งปีหลังจะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยืนอยู่ที่ระดับ 27.6 ต่ำกว่าดัชนีเดือน เม.ย.ปี 63 ที่ระดับ 32.1 สะท้อนถึงความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐยังมีความล่าช้า และมาตรการการเยียวยาที่ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศที่จะอัดฉีดเพิ่มเติมไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้”

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและการจ้างงานต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ ในเดือน ก.ค. มีดังนี้ 1.ผู้ประกอบการกว่า 90% เห็นว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือน มิ.ย.ค่อนข้างมากเพราะมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของแผนการฉีดและกระจายวัคซีนของภาครัฐ 2.ผู้ประกอบการกว่า 63% ประเมินว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.และไม่มีพฤติกรรมในการกักตุนสินค้า เพราะกำลังซื้อของประชาชนอ่อนตัวลง 3.ผู้ประกอบการ 61% ยอมรับว่าการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25% เป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาล

ส่วนประเด็นที่ 4 ผู้ประกอบการกว่า 41% ปรับลดการจ้างงาน หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานลง เพราะธุรกิจมียอดขายและค่าธรรมเนียมการขายที่ลดลง 5.ผู้ประกอบการกว่า 53% มีสภาพคล่องทางการเงินไม่ถึง 6 เดือน สะท้อนถึงภาวะธุรกิจที่ฝืดเคืองและการเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข 6.ผู้ประกอบการกว่า 42% คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2564 จะหดตัว 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปี 2563 และ 7.ผู้ประกอบการ 90% ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเข้าสู่ระดับปกติ ในช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น

นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐ 4 ประเด็น คือ

1.ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยานายจ้างช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 50% เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

2.ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน

3. ภาครัฐต้องเร่งให้สถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้สินเชื่อต่ำ หรือซอฟต์โลน (Soft Loan) ให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปกว่า 30,000 ราย หากขั้นตอนการอนุมัติยังล่าช้า ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่า 100,000 รายอย่างแน่นอน 

4.ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน

“ทั้ง 4 ข้อเสนอที่ยื่นเสนอให้ภาครัฐนี้ ทางสมาคมฯ ขอให้ภาครัฐพิจารณาและให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะภาคค้าปลีกและบริการกำลังทรุดหนัก และมีแนวโน้มที่อาจจะต้องปิดกิจการอีกกว่า 100,000 ราย ซึ่งจะกระทบการเลิกจ้างงานกว่า 1 ล้านคน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งเรียกความเชื่อมั่นกลับมาโดยเร็วที่สุด”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ