พลิกโฉมโรงงานไพ่สู่ “อกร.” รุกธุรกิจพิมพ์งานภาครัฐฟันรายได้ 1,000 ล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พลิกโฉมโรงงานไพ่สู่ “อกร.” รุกธุรกิจพิมพ์งานภาครัฐฟันรายได้ 1,000 ล้าน

Date Time: 22 ก.ค. 2564 07:10 น.

Summary

  • “ภูมิจิตต์” แม่ทัพใหญ่โรงงานไพ่ เปิดแผนรีแบรนด์องค์กรก้าวสู่ “อกร.” ในปีที่ 83 ปรับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานจัดการระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีภาครัฐ พร้อมรับพิมพ์สิ่งพิมพ์ให้กับกระทรวงการคลัง

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“ภูมิจิตต์” แม่ทัพใหญ่โรงงานไพ่ เปิดแผนรีแบรนด์องค์กรก้าวสู่ “อกร.” ในปีที่ 83 ปรับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานจัดการระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีภาครัฐ พร้อมรับพิมพ์สิ่งพิมพ์ให้กับกระทรวงการคลัง ฝันสร้างรายได้ปีละ 1,000 ล้านบาท แจงสี่เบี้ยเหตุผลที่ต้องมีการผลิตไพ่

นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้อำนวยการโรงงานไพ่ รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ หรือ “Digital Disruption” (ดิจิทัล ดิสรัปชัน) และโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโรงงานไพ่ที่ก่อตั้งมาครบ 82 ปี และขึ้นสู่ปีที่ 83 ในปีนี้ โดยโรงงานไพ่ มีหน้าที่ผลิตไพ่ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก รวมถึงเป็นผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง (Security Printing)

“สถานการณ์ขณะนี้ ผมได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงการทำงาน เพื่อให้โรงงานไพ่ไม่เป็นกิจการที่ตกยุค เพราะโรงงานไพ่ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงการผลิตไพ่ แต่ยังรับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์ที่ปลอมแปลงได้ยากคือ แสตมป์ที่เป็นอากรภาษีสรรพสามิตที่สามารถสร้างรายได้
ปีละ 400 ล้านบาท”

ก้าวสู่การทำงานยุคดิจิทัล

ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ แต่ก็ต้องทำให้โรงงานแห่งนี้ ต้องปรับตัวตลอดเวลา เพื่อความอยู่รอดไม่ให้เกิดการขาดทุน จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง และปรับรูปแบบการทำงานสู่ดิจิทัลภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2569

ล่าสุดได้ทำการปรับปรุงโรงงานใหม่ เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ๆในอนาคต จากที่มีเพียงการผลิตไพ่ ก็จะขยายธุรกิจไปยังผลิตสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง อาทิ เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีสรรพสามิต หรือแสตมป์สรรพสามิตของกรมสรรพสามิต เพื่อทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีในกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ก็จะรับจ้างรับผลิตสิ่งพิมพ์ ที่เป็นของกรมสรรพสามิตและหน่วยงานรัฐในสังกัดกระทรวงการคลังทั้งหมด จากปัจจุบันงานในลักษณะนี้ได้ว่าจ้างให้เอกชนเป็นผู้ผลิต โดยหากทำได้สำเร็จก็จะสร้างรายได้กับโรงงานไพ่ปีละ 600-1,000 ล้านบาท เพราะหากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถส่งเป็นรายได้ให้กับแผ่นดินเพิ่มขึ้น จากขณะนี้ 80% ของผลกำไรในแต่ละปีก็นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

สำหรับโรงงานไพ่ ขณะนี้ตั้งอยู่ที่กรมสรรพาสามิต ถนนราชวัตร กรุงเทพฯ ผลิตไพ่ 4 ชนิด คือ ไพ่ป๊อก ไพ่ตัวเล็ก ไพ่มวยไทย และผลิตภัณฑ์เก่า (ไพ่สำหรับนักสะสม) กำลังผลิตรวมปีละ 500,000 สำรับ โดยไพ่ที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังสถานกาสิโนเป็นหลัก คือไพ่ป๊อกปีละประมาณ 300,000-400,000 สำรับ ที่เหลือจำหน่ายในประเทศ

“ไพ่ที่จำหน่ายในประเทศจะต้องมีเครื่องหมายแสตมป์เสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง ส่วนการผลิตสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงอื่นๆมี อาทิ แสตมป์เครื่องดื่มสำหรับใช้ปิดภาชนะที่จำหน่ายในประเทศ ทั้งสุราและเครื่องดื่มที่มีความหวาน แสตมป์ยาสูบ เป็นต้น”

โควิด–19 ซัดรายได้ปี 63 ลดวูบ

นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-ก.ย.2563) มีจำนวน 248.35 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 115.21 ล้านบาท กำไร 68.73 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 507 ล้านบาท ค่าใช่จ่าย 219.04 ล้านบาท กำไร 200 ล้านบาท สาเหตุที่รายได้ปีที่ผ่านมา ลดลงเป็นผลจากโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้

“ที่สำคัญการผลิตสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงและดิจิทัลปรินติ้งโซลูชันให้กับหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือข้อมูลที่ต้องปลอดการปลอมแปลงที่ไม่ให้ใครลอกเลียนแบบได้ ผมจึงได้เสนอแนวทางไปยังกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลัง เพื่อยกระดับโรงงานไพ่ให้เป็นองค์กรบริหารข้อมูลสำคัญ เพื่อปลอดการปลอมแปลง 100% ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็เห็นด้วย เนื่องจากข้อมูลสำคัญควรถูกจัดเก็บอยู่ในหน่วยงานราชการเท่านั้น”

รีแบรนด์องค์กรก้าวไปสู่ “อกร.”

“ในปีหน้าองค์กรแห่งนี้จะมีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ด้วยการเปลี่ยนชื่อหรือรีแบรนด์ชื่อจากโรงงานไพ่เป็นองค์การจัดการสิ่งพิมพ์และดิจิทัลโซลูชันของรัฐ (อกร.) เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงและดิจิทัลปรินติ้งโซลูชันภาครัฐในอีก 2-3 ปีถัดไป”
ดังนั้น หน่วยงานแห่งนี้จะมีบทบาทในการจัดการระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของโรงงานไพ่ในรอบ 82 ปี

“ในเร็วๆนี้ เมื่อมีการพูดถึงโรงงานไพ่ และรัฐบาลเป็นเจ้าของหลายคนที่ไม่เคยรู้ประวัติความเป็นมาก็เข้าใจผิด เพราะมองว่าไพ่เป็นสินค้าที่นำมาเล่นพนันเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงการตั้งโรงงานไพ่ ไม่ใช่การส่งเสริมให้ประชาชนเล่นการพนัน แต่ เพราะต้องการควบคุมไม่ให้มีการนำเข้าอย่างเสรี ”

นายภูมิจิตต์ทิ้งท้ายอีกว่า ไพ่ยังเป็นอุปกรณ์สำหรับการเล่นกีฬาบริดจ์ของสมาคมบริดจ์แห่งประเทศไทยที่เป็นการกีฬาฝึกทักษะความคิด วิเคราะห์ความน่าจะเป็น และยังสามารถนำไปรักษาบำบัดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย ซึ่งสถานพยาบาลหลายๆ แห่งนำมาใช้ แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะไม่ต้องการให้ถูกมองว่านำไพ่ ไปมอมเมาคนป่วยเพื่อสนับสนุนให้เล่นการพนัน

“ทำให้โรงงานไพ่ ไม่เคยเปิดเผยบทบาทตัวเอง เพราะการถ่วงดุลระหว่างการผลิตไพ่ในประเทศกับการไม่ส่งเสริมสนับสนุนการพนัน มันเป็นเส้นแบ่งที่บางมาก เพราะคนไม่เข้าใจ แต่จากนี้ไปจะพยายามทำให้คนไทยเข้าใจถึงศักยภาพของโรงงานไพ่ให้มากขึ้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ